‘เศรษฐา’ พบ ‘เศรษฐพุฒิ’ เมื่อ ‘พิราบ’ ปะทะ ‘เหยี่ยว’ ประชาชนเลือกฟังใคร?
อุณหภูมิในแวดวงการเงินร้อนระอุขึ้นเรื่อยๆ เมื่อผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ยอมรับตรงๆ ว่า มีกำหนดเข้าพบนายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน”
อุณหภูมิในแวดวงการเงินร้อนระอุขึ้นเรื่อยๆ เมื่อผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ยอมรับตรงๆ ว่า มีกำหนดเข้าพบนายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” ในวันจันทร์ที่ 2 ต.ค.นี้ จริง
ตามที่เป็นกระแสข่าว แต่ยังไม่รู้ว่า นายกฯ เรียกหารือเรื่องอะไรบ้าง …ซึ่ง “เศรษฐพุฒิ” ย้ำกับผู้สื่อข่าวว่า พร้อมตอบทุกคำถาม!
อย่างที่บอก… ไม่มีใครรู้ว่า นายกฯ เรียกหารือเรื่องอะไรบ้าง แต่ถ้าไล่เรียงประเด็นระหว่าง “รัฐบาล” กับ “แบงก์ชาติ” ที่ดูเหมือนไม่ลงรอยกันในช่วงนี้ จะมี 3 เรื่องใหญ่ๆ คือ
1.การแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ซึ่งเดิมรัฐบาลมีแผนออกเป็น Utility Token แต่ติดปัญหาว่า ธปท. ไม่อนุญาตให้เจ้า Utility Token เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ หรือ Means of Payment ทำให้รัฐบาลต้องหาวิธีอื่นในการแจกเงินดังกล่าว รวมทั้งวงเงินซึ่งนำมาใช้สูงถึง 5.6 แสนล้านบาท ทาง ธปท. จึงห่วงฐานะการคลัง และไม่เห็นด้วยกับนโยบายแจกเงินถ้วนหน้าเช่นนี้
2.นโยบาย “พักหนี้เกษตรกร” ที่เป็นลูกหนี้รายย่อยของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) วงเงินไม่เกิน 3 แสนบาท เป็นเวลา 3 ปี ซึ่งเรื่องนี้ ธปท. ก็ไม่เห็นด้วย โดยมองว่าเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด จึงได้ทำหนังสือแสดงความเป็นห่วงส่งไปยังรัฐบาล
3.การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ของ ธปท. เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สู่ระดับ 2.5% เป็นระดับที่สูงสุดรอบ 10 ปี แม้ว่า ธปท. จะปรับลดคาดการณ์ “เศรษฐกิจ” และ “เงินเฟ้อ” ลงมามาก เหลือเติบโตแค่ 2.8% และ 1.6% ตามลำดับ จากเดิม 3.6% และ 2.5% ซึ่งการปรับขึ้นดอกเบี้ยท่ามกลางเศรษฐกิจที่เติบโตต่ำกว่าการคาดการณ์เช่นนี้ ไม่เฉพาะแค่รัฐบาลเท่านั้น แต่คนในแวดวงเศรษฐกิจเองก็ตั้งคำถามประเด็นนี้กับทาง ธปท. เช่นเดียวกัน
แน่นอนว่าเรื่องราวระหว่าง “รัฐบาลเศรษฐา” กับ “แบงก์ชาติในยุคเศรษฐพุฒิ” อาจมีความเห็นที่ “ไม่ลงรอย” มากกว่า 3 เรื่องข้างต้น แต่ปฎิเสธไม่ได้ว่า 3 เรื่องที่หยิบยกขึ้นมานี้ กำลังนำไปสู่ “จุดแตกหัก” ระหว่างรัฐบาลกับแบงก์ชาติในอนาคต หากทั้ง 2 ฝ่ายยังไม่สามารถเปิดใจพูดคุยกันได้
ถ้ามองด้วยใจเป็นกลาง ต้องยอมรับว่า การแอ็กชั่นของทั้ง 2 ฝ่ายนี้ ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะ “ฝั่งรัฐบาล” ส่วนใหญ่มักจะอยู่ในสาย “พิราบ” ที่ต้องการเห็นเศรษฐกิจเติบโตมากๆ เพราะสะท้อนถึงผลงานของตัวเอง
แต่ในทางกลับกัน ฝั่งของ ธปท. ซึ่งมีหน้าที่รักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน ก็มักจะอยู่ในฝั่งของ “เหยี่ยว” ที่ห่วงว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจที่มากจนเกินไปอาจทำให้สมดุลเศรษฐกิจระยะยาวเสียหายได้ การแก้ปัญหาจะยิ่งยากและหลายครั้งก็นำไปสู่วิกฤติที่รุนแรง ซึ่งตัวอย่างก็มีให้เห็นในหลายๆ ประเทศ
การพบกันของทั้ง 2 ฝ่าย ในวันจันทร์นี้จึงเป็นที่จับจ้องของผู้คนในแวดวงเศรษฐกิจการเงินว่า หลังจากนี้จะมีอะไรออกมาบ้าง?
ถ้าฟังเสียงของนักเศรษฐศาสตร์หรือนักธุรกิจที่อยู่ในแวดวง ดูเหมือนจะมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับทั้ง 2 ฝั่ง โดยฝั่ง “รัฐบาล” แน่นอนว่า น้อยคนที่จะเห็นด้วยกับนโยบายแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ซึ่งต้องใช้เม็ดเงินสูงถึง 5.6 แสนล้านบาท แถมยังต้องไปปรับเงื่อนไขภาคการคลังเพื่อผลักดันนโยบายดังกล่าวออกมา ประเด็นนี้มีความเสี่ยงต่อ “ฐานะการคลัง” ในระยะข้างหน้า ที่สำคัญหลายคนกังวลว่านโยบายนี้จะเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ไม่ได้ช่วยยกศักยภาพเศรษฐกิจไทยอย่างที่ควรเป็น
แต่ในฝั่งของ ธปท. เองก็มีแผลอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะคาดการณ์เศรษฐกิจไตรมาส 2 ซึ่งผิดไปจากประมาณการณ์อย่างมาก ชนิดที่คนทำธุรกิจต้องกลับมาทบทวนแผนงานกันใหม่ แถมในช่วงที่ผ่านมา ธปท. พูดแต่สิ่งดีๆ จนนักธุรกิจ นักลงทุนมองข้ามความเสี่ยงที่ควรต้องระวัง จนเกิดอาการช็อกเมื่อเห็นตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2 โตได้เพียง 1.8% จากที่มั่นใจว่าจะโตเกิน 3% ที่สำคัญยังต้องมางงกับการขึ้นดอกเบี้ยของ ธปท. ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ทรุดตัวลงหนักและเงินเฟ้อก็แผ่วลงชัดเจน
อย่างที่บอกไปว่า การหารือในวันจันทร์นี้ ไม่มีใครรู้ว่าจะพูดคุยเรื่องอะไรบ้าง แต่ที่แน่ๆ คือ หลังจากนี้ทั้ง 2 ฝ่ายคงต้องแย่งชิง “เสียงของประชาชน” ว่า จะเห็นด้วยกับใคร ซึ่งในฝั่งของรัฐบาลเองก็ไม่ควรลืมว่า กระแสคัดค้านนโยบายประชานิยมสุดโต่งในอดีตก็เคยโค่นรัฐบาลมาแล้ว!