ธปท.ห่วงปัญหา ‘โครงสร้าง’ ถ่วงเศรษฐกิจเติบโตระยะยาว

ธปท.ห่วงปัญหา ‘โครงสร้าง’ ถ่วงเศรษฐกิจเติบโตระยะยาว

“แบงก์ชาติ” ห่วงเศรษฐกิจไทยระยะยาวจากปัญหาเชิงโครงสร้าง แนะเร่งแก้ปัญหาแรงงาน การศึกษา ปลดล็อกการลงทุน ยอมรับเงินบาทอ่อนค่า - ผันผวนกว่าภูมิภาค ย้ำพร้อมเข้าดูแลหากเคลื่อนไหวไม่สอดคล้องปัจจัยพื้นฐาน

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวในงานสัมมนา “กรุงเทพธุรกิจ” Thailand Economic Outlook 2024 : Change the Future Today ภายใต้หัวข้อ “ประเมินสุขภาพเศรษฐกิจไทย” ว่า การวัดสุขภาพเศรษฐกิจไทยจะดูเฉพาะมุมใดมุมหนึ่งไม่ได้ ซึ่งการดูจะต้องดู 2-3 ด้านประกอบกันคือ ดูจากตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ การเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านในภูมิภาค และดูในภาพรวมบริบทของเศรษฐกิจไทย

สำหรับตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจนั้น ไทยยังอยู่ในมิติของการฟื้นตัว โดยปัจจัยหนุนที่สำคัญคือ การบริโภคที่มีสัดส่วนต่อจีดีพีสูงกว่า 50% ซึ่งตัวเลขไตรมาสสองที่ผ่านมาเติบโตสูงถึง 7.8% และในระยะข้างหน้าก็คาดว่าจะยังเติบโตได้ต่อเนื่อง

นอกจากนี้ยังมีภาคการท่องเที่ยวที่ถือเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญอีกหนึ่งตัว โดยปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้ว 19.5 ล้านคน ซึ่ง ธปท. คาดว่าทั้งปีน่าจะอยู่ที่ประมาณ 28 ล้านคน ซึ่งถือเป็นสัดส่วนราว 60-70% ก่อนในช่วงโควิด โดยตัวเลขดังกล่าวสะท้อนการฟื้นตัวที่ดีกว่าหลายประเทศ เช่น ฮ่องกง ที่ปัจจุบันมีสัดส่วนนักท่องเที่ยวเพียง 37% ก่อนโควิด และไต้หวัน 47% ก่อนโควิด 

ส่วนภาคการผลิตและการส่งออก อาจยังไม่ดีนัก เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจโลก และอิเล็กทรอนิกส์ไซเคิลที่ยังไม่กลับมา โดยอีกตัวที่ยังไม่ดีนักคือ การลงทุนที่ยังโตแผ่วเบา และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต ที่สำคัญยังเติบโตต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านด้วย 

นอกจากนี้ยังมีมิติด้านสุขภาพอื่นๆ ที่สำคัญใน 4 มิติ ทั้งเสถียรภาพด้านระบบการเงิน เงินเฟ้อ เสถียรภาพด้านต่างประเทศ และเสถียรภาพด้านการคลัง ที่เป็นด้านที่สำคัญ เพราะหากเกิดปัญหาขึ้น มักจะเกิดจาก 1 ใน 4 มิติเหล่านี้

“โดยสรุป การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง แม้จะปรับจีดีพีปีนี้ลง แต่ปีหน้าธปท.ปรับจีดีพีเพิ่มขึ้น สะท้อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ออกมา สนับสนุนจากการบริโภค การท่องเที่ยวที่เติบโตได้ดี ดังนั้นมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง"

ไม่ชะล่าใจมองแนวโน้มเงินเฟ้อเร่งขึ้น

สำหรับเสถียรภาพด้านราคา ด้านเงินเฟ้อ ล่าสุดลดลงมาอยู่ที่ 0.9% ลดลงจากระดับพีคที่สุด ราว 7.9-8% เมื่อเทียบเดือนส.ค.ปีก่อน และปัจจุบันเงินเฟ้อไทยต่ำสุดในอาเซียน ต่ำกว่าหลายประเทศในโลก

แต่ไม่ควรชะล่าใจ เพราะระยะข้างหน้า แนวโน้มเงินเฟ้ออาจเพิ่มขึ้นได้จากปัญหาเอลนีโญ ที่จะส่งผ่านมาสู่เงินเฟ้อในอนาคต ที่จะกระทบต่อราคาอาหารในตะกร้าเงินเฟ้อ รวมถึง ราคาน้ำมัน และค่าแรงขั้นต่ำ รวมถึงนโยบายภาครัฐที่จะเพิ่มแรงส่งต่อเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า

ด้านเสถียรภาพระบบการเงินโดยรวม ภาพรวมอยู่ระดับที่ดี แต่จุดที่น่าห่วงที่สุดคือ หนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูงเกิน 90% หากเทียบกับระดับความยั่งยืนที่ควรอยู่ที่ 80% จึงเป็นที่มาที่ ธปท. ต้องออกมาตรการมาดูแลปัญหาเหล่านี้ 

นอกจากนี้ จากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมานาน ทำให้เกิดพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนสูงหรือ Search for Yield ระยะหลังๆ เห็นไฮยีลด์บอนด์สูงขึ้น เหล่านี้อาจนำมาสู่ความเสี่ยง หรือสะดุดได้ หากเกิดปัญหาในระยะข้างหน้า

เงินบาทอ่อนค่า-ผันผวนสูงกว่าภูมิภาค

ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน อ่อนค่ามากขึ้นทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์ และความผันผวนสูงกว่าภูมิภาค มาจาก 3 ปัจจัยหลัก ทั้งการเคลื่อนไหวตามค่าเงินดอลลาร์ เงินหยวน และการซื้อขายทองคำที่ประเทศไทยมีการทำธุรกรรมค่อนข้างสูงกว่าประเทศในภูมิภาค

การที่เงินบาทผันผวนมากขึ้น ธปท.ไม่ได้ชอบ เพราะทราบดีว่าภาคธุรกิจมีข้อจำกัด ในการปรับตัว แต่ในแง่การอ่อนค่าของเงินบาท ที่จะมีผลต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจไทย เชื่อว่าประเทศไทยมีภูมิคุ้มกันอยู่ในระดับที่ดี ระดับที่น่าพอใจ หากเทียบกับประเทศอื่นๆ

อีกทั้งจากทุนสำรองที่อยู่ระดับสูง ทำให้ความเปราะบางจากผลกระทบต่อค่าเงินบาท ที่มีต่อนักลงทุนมีค่อนข้างน้อย เนื่องจากประเทศไทยมีหนี้ต่างประเทศค่อนข้างต่ำ

พวกนี้จะช่วยลดผลกระทบจากการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทได้ แต่หากเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนสูงเกินไป โดยเฉพาะการผันผวนไม่ได้มาจากปัจจัยพื้นฐานก็มีโอกาสที่ ธปท.จะเข้าไปดูแลเรื่องเงินบาท

“ถามว่า ทางเราเอง อยากจะเห็นความผันผวนขนาดนี้หรือไม่ ก็ไม่ ส่วนมาตรการเชิงนโยบายคือเราเอง เรื่องการไปฝืนกลไกตลาด หรือการกำหนดระดับค่าเงิน มีเส้นที่เซตไว้หรือไม่ ไม่มี และไม่ทำ เพราะการไปฝืนกลไกตลาด เราเห็นแล้วว่ามีความเสี่ยงมาก แต่เราจะทำก็ต่อเมื่อ เราเห็นความผันผวนมากสูงเกินไป และโดยเฉพาะความผันผวนไม่มาจากปัจจัยพื้นฐาน ก็มีโอกาสที่ ธปท.จะเข้าไปดูแลเรื่องค่าเงินก็จะมีสูงขึ้น แต่การเคลื่อนไหวผันผวนของค่าเงินบาทในปัจจุบัน มาจากเรื่องของดอลลาร์ จากปัจจัยพื้นฐาน เราก็ต้องปล่อยให้กลไกตลาดทำงานไป”

สำหรับหนี้สาธารณะไทย ปัจจุบันมีสัดส่วนเกือบ 62% ของจีดีพี แม้จะสูงกว่าเพื่อนบ้านหลายประเทศ แต่ยังไม่ได้เป็นระดับที่วิกฤติ เพราะโครงสร้างการกู้ยืมของไทย และการระดมทุน ไม่ได้มีการพึ่งพาต่างชาติมาก ส่วนใหญ่มาจากในประเทศ ขณะที่หนี้ต่างประเทศอยู่ระดับต่ำ และการถือบอนด์ต่างชาติถือว่าไม่มาก อีกทั้งส่วนใหญ่เป็นการถือบอนด์ระยะยาว ไม่ใช่การกู้ระยะสั้นๆ

ธปท.ห่วงปัญหา ‘โครงสร้าง’ ถ่วงเศรษฐกิจเติบโตระยะยาว ปัญหาเชิงโครงสร้างฉุดเศรษฐกิจไทย

สุดท้ายคือ เรื่องเสถียรภาพ ที่น่าห่วงมากกว่าคือ มุมศักยภาพ ปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่เป็นจุดที่ทำให้สุขภาพเศรษฐกิจไทยอ่อนแอ และมีปัญหาหลายมิติ ทั้ง ปัญหาแรงงาน คนไทยแก่ก่อนรวย และปัญหาของศักยภาพแรงงาน และการศึกษาของประเทศไทยที่อยู่ระดับต่ำหากเทียบกับเพื่อนบ้านหลายประเทศ

สำหรับในด้านการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ช่วงที่ผ่านมาส่วนแบ่งตลาดของไทยถือว่าอยู่ระดับต่ำกว่าเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับอินโดนีเซีย เวียดนาม เช่นเดียวกับด้านอินโนเวชั่น R&D ประเด็นเหล่านี้ยังมีความอ่อนแอค่อนข้างมาก

ดังนั้นปัญหาเศรษฐกิจจึงไม่ใช่การฟื้นตัว แต่เป็นปัญหาที่เรื้อรัง และอยู่กับไทยมานานคือ ปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่กระทบต่อศักยภาพระยะยาว และเป็นปัญหาต่อสุขภาพต่อเศรษฐกิจไทย

ดังนั้นวิธีการรักษาต้องแก้ให้ถูกโรค ต้องแก้ให้ตรงจุด  และจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเหยียบคันเร่ง หรือการกระตุ้นเศรษฐกิจอาจไม่จำเป็นมากนัก  เพราะปัญหาที่ต้องแก้จริงๆ คือ เรื่องระยะยาว เรื่องเชิงโครงสร้าง 

ทั้งนี้ หากดูงบประมาณภาครัฐในปัจจุบันเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ที่ 3.2 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้กว่า 70% เป็นงบประจำ และกว่า 40% ของงบประจำเป็นงบที่ใช้เพื่อจ่ายเงินเดือนข้าราชการ ทำให้รูมที่เหลือไปลงทุนมีค่อนข้างน้อย 

นอกจากนี้ การลงทุนที่ผ่านมา เน้นโครงสร้างพื้นฐาน แต่จุดอ่อนแอของไทย อยู่ที่คุณภาพแรงงาน การศึกษา และการขาดทักษะ R&D ดังนั้นวิธีการรักษาเศรษฐกิจไทย ต้องโยกไปดูปัญหาเชิงโครงสร้าง

เช่น อย่างอินโดนีเซีย ที่ออกกฎหมาย Omnibus Law ในปี 2563 เพื่อปลดล็อกกฎเกณฑ์ภาครัฐที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ เหล่านี้จะช่วยแก้ปัญหาเชิงศักยภาพ และช่วยแก้ปัญหาโครงสร้างที่เศรษฐกิจไทยเจอได้

ธปท.ห่วงปัญหา ‘โครงสร้าง’ ถ่วงเศรษฐกิจเติบโตระยะยาว

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวย้ำว่า หากดูบริบทของไทย การใช้ยาให้ถูกโรค และมีผลข้างเคียงน้อย แต่ต้นทุนต่ำคือ การใช้ Regulatory guillotine เพื่อช่วยส่งเสริม Ease of doing business ในไทย เพื่อลดปัญหาของภาคธุรกิจ สนับสนุนการลงทุน

ซึ่งจากการศึกษาพบว่า หากแก้เหล่านี้ได้จะช่วยลดต้นทุนให้กับภาคธุรกิจที่ 0.8% รวมไปถึงการแก้เกี่ยวกับใบอนุญาตของต่างชาติที่เข้ามาทำงานในไทยให้เอื้อมากขึ้น

ในด้านการดำเนินนโยบายการเงิน ก็ต้องปรับการรักษาให้กับคนไข้ จากช่วงแรกที่เจอโควิด มาตรการที่ทำคือการเหยียบคันเร่ง ดอกเบี้ยต่ำ สภาพคล่องออกมาค่อนข้างมาก และมีการพักหนี้เป็นการทั่วไป แต่เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว การพักหนี้เป็นการทั่วไปคงไม่เหมาะกับบริบทนี้ เพราะอาจสร้างผลข้างเคียงได้ ธปท.จึงต้องถอนคันเร่ง โดยการทยอยขึ้นดอกเบี้ยจากระดับต่ำที่ 0.5%

“หากเราเทียบสุขภาพของเศรษฐกิจไทย เราไม่ใช่คนไข้ที่นอนอยู่บนเตียงอีกแล้ว แต่เราเป็นคนไข้ที่กลับบ้านแล้ว แต่หมอห้ามให้วิ่งมาราธอน ดังนั้นในแง่ฟื้นตัวเรามีต่อเนื่อง แง่สุขภาพเศรษฐกิจไทย ระยะสั้นเราไม่น่าห่วง แต่สิ่งที่ขาดคือ ระยะยาว ปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่เราต้องทำเพิ่มเติม เพื่อเปิดโอกาสสำหรับประเทศไทย”

ยันไม่ขัดแย้งนายกฯ

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ภายหลังมีการหารือร่วมกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีเมื่อวันจันทร์ ที่ 2 ต.ค.66 ที่ผ่านมา ธปท.มีการแชร์มุมมองหลายเรื่อง และฝากการบ้านในบางเรื่อง แต่โดยภาพรวม มีความเห็นตรงกัน แต่บางเรื่องมีความเห็นไม่ตรงกันบ้าง ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ และเชื่อว่าการเปิดพูดคุยกันเป็นระยะๆ เป็นเรื่องที่ดี เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม ส่วนที่มีกระแสข่าวว่าขัดแย้งในการดำเนินนโยบายการเงิน หลัง กนง.มีมติขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมา ยืนยันว่า ในส่วนของการดำเนินนโยบายการเงิน ธปท.มีกรอบเป้าหมายชัดเจนในการดำเนินนโยบายการเงินว่าเป็นอย่างไร

 อีกทั้ง ในการดำเนินนโยบายการเงินของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ก็มีกรอบการทำงานชัดเจน ที่มีทั้งคณะกรรมการภายใน และคณะกรรมการภายนอก ดังนั้นความอิสระในการทำงานตรงนี้มีมาโดยตลอด ไม่ได้เป็นปัญหา

อย่างไรก็ตาม ในด้านการแสดงความคิดเห็นประเด็นต่างๆ มีความเห็นไม่ตรงกันบ้าง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะทำงานร่วมกันไม่ได้ เพราะการทำงานของ ธปท. และท่านนายกฯ สวมหมวกคนละใบ

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์