เปิดกลยุทธ์การลงทุน ในโค้งสุดท้ายของปี 2023
ถึงตอนนี้ เราก็ได้เดินทางกันมาถึงไตรมาสสุดท้ายของปี 2023 กันแล้ว แม้ว่าภาพรวมตลาดหุ้นในปีนี้จะดูดีขึ้นจากปีก่อนหน้าพอสมควร โดยตลาดหุ้นโลก (MSCI All Country World Index) ปรับเพิ่มขึ้นได้ราวๆ 9% (ณ วันที่ 4 ตุลาคม 2023)
แต่ระหว่างทางก็มีความขรุขระอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะในช่วงเดือนก.ย.ที่ตลาดหุ้นโลกปรับตัวลงถึง -4% ซึ่งหนึ่งในปัจจัยกดดันคงหนีไม่พ้นเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ยังคงเปิดโอกาสในการขึ้นดอกเบี้ยได้อีกในช่วงที่เหลือของปีนี้ ทำให้บอนด์ยีลด์อายุ 10 ปีของสหรัฐฯ พุ่งขึ้นสู่ระดับ 4.8% ทำจุดสูงสุดตั้งแต่ปี 2007
ต้องยอมรับว่าแนวโน้มดอกเบี้ยสหรัฐฯ เป็นประเด็นหลักที่เหนือความคาดหมาย ในช่วงต้นปี นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างฟันธงว่า FED จะขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายในช่วงเดือนมีนาคม - พฤษภาคม จากทิศทางเงินเฟ้อที่ปรับลดลงและเศรษฐกิจมีความเสี่ยงจะเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่ด้วยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งกว่าคาด ประกอบกับราคาน้ำมันและอาหารที่ปรับสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อไปยังต้นทุนราคาสินค้าอื่นๆ และมีโอกาสผลักดันให้เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น ทำให้ FED เปิดทางที่จะขึ้นดอกเบี้ยและมีแนวโน้มคงดอกเบี้ยในระดับสูงนานกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ โดยจาก FED Dot Plot ประเมินดอกเบี้ยสูงสุดอยู่ที่ 5.50-5.75% ในปี 2023
ส่วนอีกหนึ่งประเด็นที่หักปากกาหลายสำนักก็คือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่ยังออกมาน่าผิดหวังแม้จะเปิดประเทศมาได้สักระยะหนึ่งแล้ว และยังถูกซ้ำเติมด้วยวิกฤตสภาพคล่องในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่สร้างความกังวลว่าจะเป็นความเสี่ยงลามไปทั้งระบบการเงิน นอกจากนี้ ทางการจีนเองก็ยังออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่มากเท่ากับความคาดหวังของตลาด จึงทำให้ตลาดหุ้นจีนเผชิญความผันผวนอย่างหนัก
สำหรับคำแนะนำการลงทุน หัวใจสำคัญยังคงเป็นการกระจายความเสี่ยง โดยเงินลงทุนส่วนใหญ่ควรลงทุนใน Core Portfolio หรือกองทุนผสมที่แบ่งสัดส่วนในสินทรัพย์หลักให้มีความเสี่ยงที่สมดุล (Risk-based allocation) ซึ่งเป็นการจัดการลงทุนอย่างเป็นระบบ มีกฎเกณฑ์ชัดเจน ไม่ขึ้นกับการคาดการณ์ของตลาดหรือผู้จัดการกองทุน และเงินอีกส่วนหนึ่งลงทุนใน Satellite Portfolio ตามสถานการณ์ของเศรษฐกิจและตลาดทุน ณ ขณะนั้นๆ โดยจัดสรรเงินลงทุนในหลายสินทรัพย์ และยังมีเงินสดบางส่วนเพื่อรอเข้าลงทุนในอนาคต
ในช่วงที่เหลือของปี เรามีมุมมองเชิงบวกต่อหุ้นมากขึ้น จากข้อมูลทางสถิติพบว่าในไตรมาส 4 ตลาดหุ้นโลกมักให้ผลตอบแทนเป็นบวก และเมื่อ FED ขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้าย ตลาดหุ้นทุกประเทศ โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วให้ผลตอบแทนเป็นบวกหลังจากนั้นเป็นเวลา 12 เดือน แนะนำลงทุนในหุ้นที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง เช่น หุ้นเทคโนโลยี และหุ้นที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน
โดยเฉพาะบริษัทที่มีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ด้วยระดับ Valuation ของหุ้นสหรัฐฯ ที่อยู่ในเกณฑ์แพงหลังราคาหุ้นปรับเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่นในปีนี้ จึงแนะนำกระจายไปทั่วโลกไม่ได้กระจุกตัวแค่ในสหรัฐฯ และยังคงมีมุมมองบวกต่อการลงทุนในหุ้นเอเชีย โดยเฉพาะหุ้นจีน และหุ้นไทยที่มีความเสี่ยงขาลงค่อนข้างจำกัด เนื่องจากปรับตัวลงมามากนับจากต้นปีจากปัจจัยกดดันในประเทศ
ด้านการลงทุนในตราสารหนี้ เราประเมินว่าบอนด์ยีลด์ทั่วโลกเข้าใกล้จุดสูงสุด ตลาดรับรู้การขึ้นดอกเบี้ยไปเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นการลงทุนในตราสารหนี้ต่อจากนี้มีแนวโน้มให้ผลตอบแทนดี คือได้ทั้งผลตอบแทนจากดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง และมีโอกาสได้ผลตอบแทนจากราคาที่เพิ่มขึ้นหากบอนด์ยีลด์ปรับลงในระยะข้างหน้า โดยแนะนำลงทุนในกองทุนที่กระจายลงทุนในตราสารหนี้หลายประเภททั้งพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้บริษัทเอกชน รวมทั้งมีกลยุทธ์ที่ปรับอายุของตราสารเชิงรุก (Active duration management) ให้เหมาะสมกับสถานการณ์
ส่วนสินทรัพย์ทางเลือกนั้นเรามองว่าปีนี้ถือเป็นโอกาสดีของการเข้าลงทุนในหุ้นนอกตลาด เพราะจากข้อมูลในอดีตพบว่า การเริ่มลงทุนในหุ้นนอกตลาดในปีที่มีวิกฤติมักให้ผลตอบแทนที่โดดเด่นเมื่อเทียบกับการลงทุนหุ้นในตลาดหลักทรัพย์หลังจากที่ลงทุนไปแล้ว 7 ปี และยังแนะนำเติมเต็มพอร์ตการลงทุนด้วย Hedge funds ในหลากหลายกลยุทธ์เช่น Long/Short ในหุ้นหรือสกุลเงิน เพื่อกระจายความเสี่ยงของพอร์ตโดยรวม