สศค.แนะเร่งเพิ่มทักษะการเงินกลุ่มคนภาคอีสาน เหนือ และชายแดนใต้

สศค.แนะเร่งเพิ่มทักษะการเงินกลุ่มคนภาคอีสาน เหนือ และชายแดนใต้

สศค.เผยผลงานวิชาการชี้ระดับการบริหารจัดการทางการเงิน ออม ลงทุน และการเข้าถึงบริการทางการเงินในมิติต่างๆพบประชากรในภาคอีสาน เหนือ และชายแดนใต้ มีระดับทักษะทางการเงินและความพร้อมของปัจจัยพื้นฐานทางการเงินที่ค่อนข้างต่ำ แนะระดับนโยบายเร่งเพิ่มทักษะทางการเงิน

นายพรชัย  ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยผลการสัมมนาวิชาการ Fis and Fin Forum 2023 ของ สศค.ว่า การจัดสัมมนานี้มีขึ้นเพื่อเป็นเวทีในการนำเสนอแนวคิดเชิงนโยบายของข้าราชการ สศค. พร้อมทั้งรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาปรับใช้กับการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการเงินการคลังของไทย

 

สำหรับในช่วงเช้าของการสัมมนา เป็นการนำเสนอผลงานวิชาการของข้าราชการ สศค. ในหัวข้อ “แผนที่การเงินครัวเรือนไทย: เข็มทิศการพัฒนาทักษะทางการเงิน” นำเสนอโดย นางสาวเบญญาภา  สุขีนุ เศรษฐกรชำนาญการ รักษาการในตำแหน่งเศรษฐกรชำนาญการพิเศษ นายกวิน  เอี่ยมตระกูล เศรษฐกรชำนาญการ นายสัณหณัฐ  เศรษฐศักดาศิริ เศรษฐกรชำนาญการ และนายอิทธิพัฒน์  ประภาประเสริฐ เศรษฐกรปฏิบัติการ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

สศค. ได้นำเสนอเครื่องมือการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงพื้นที่เพื่อสนับสนุนนโยบาย และการดำเนินการของภาคการเงิน ตามแผนปฏิบัติการฯ โดยสามารถแบ่งได้ 2 ส่วน คือ 1) การสร้างฐานข้อมูลที่จำเป็นต่อการดำเนินการพัฒนาทักษะทางการเงิน อาทิ การศึกษาระดับทักษะทางการเงินเชิงพื้นที่ และการจัดทำดัชนีปัจจัยพื้นฐานทางการเงินเชิงพื้นที่ (Spatial Financial Fundamental Index: SFFI) เพื่อสะท้อนระดับการบริหารจัดการทางการเงิน การออม และการลงทุน และการเข้าถึงบริการทางการเงินในมิติต่างๆ ซึ่งสามารถนำไปวิเคราะห์ร่วมกับการระบุตำแหน่งกลุ่มเป้าหมายที่ควรได้รับการพัฒนาทักษะทางการเงินอย่างเร่งด่วน (กลุ่มเป้าหมายฯ) เปรียบเสมือนการสร้างแผนที่ทางการเงินของครัวเรือนไทย ซึ่งพบว่า กลุ่มเป้าหมายฯ ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(อีสาน) ภาคเหนือ และชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีระดับทักษะทางการเงินและความพร้อมของปัจจัยพื้นฐานทางการเงินที่ค่อนข้างต่ำ

2) การนำเสนอแบบจำลองสมการถดถอยเชิงพื้นที่ (Spatial Regression Analysis) เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อระดับสุขภาวะทางการเงินผ่าน “ดัชนีรวมสุขภาวะทางการเงิน” ทั้งนี้ เมื่อเชื่อมโยงผลการศึกษาทั้งสองส่วนเข้าด้วยกัน ทำให้สามารถจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนของพื้นที่ต่างๆ ได้ กล่าวคือ พื้นที่เป้าหมายเร่งด่วน (First Priority) เป็นพื้นที่ที่มีกลุ่มเป้าหมายในสัดส่วนที่สูง และมีระดับสุขภาวะทางการเงินที่ต่ำ ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และชายแดนภาคใต้ เช่น ศรีสะเกษ (18 อำเภอ) อุบลราชธานี (15 อำเภอ) สุรินทร์ (14 อำเภอ) ชัยภูมิ (11 อำเภอ) นราธิวาส (10 อำเภอ) และแม่ฮ่องสอน (4 อำเภอ) เป็นต้น ทำให้สามารถระบุได้ทั้งพื้นที่ ที่ควรให้ความช่วยเหลือ และปัจจัยทางเศรษฐกิจ และสังคมที่ควรได้รับการพัฒนา เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถใช้เป็นเข็มทิศเพื่อการพัฒนาทักษะทางการเงินให้แก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สศค. มุ่งหวังว่า การนำเสนอผลงานวิชาการนี้จะช่วยพัฒนาแนวทางในการกำหนดนโยบาย กลยุทธ์ และแผนงานของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการดำเนินงานด้านการพัฒนาทักษะทางการเงินได้อย่างเหมาะสม และตรงตามวัตถุประสงค์ และอาจรวมถึงนโยบายด้านการเงินอื่นๆ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ประชาชนไทยมีระดับทักษะทางการเงินที่เพิ่มขึ้น นำไปสู่ Financial Well-being หรือผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจ และสังคมที่จะช่วยสร้างความมั่นคง และความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง และยั่งยืนต่อไป

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์