ก.ล.ต. รุกเชื่อมโยงคนไทย เข้าใช้ประโยชน์ ‘ตลาดทุน’ เร่งสร้างเงินออมระยะยาว
ก.ล.ต. ชี้โจทย์ใหญ่ คนไทย เข้าถึงตลาดทุนยังน้อย แถมปัญหา ออมช้า ออมต่ำ ออมไม่เป็น เร่งเดินหน้าสร้างการเรียนรู้เรื่องการเงิน -เข้าถึง
การออมมีความเสี่ยงต่ำก่อน แนะรัฐใช้ดัชนี SFFI ลดความเหลื่อมล้ำด้านการออมการลงทุน - บังคับการออม ด้วย กบช. -ฟื้นความเชื่อมั่นนักลงทุน
บนเวที งานสัมมนา FIS AND FIN FORUM 2023 โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง ในหัวข้อเสนา "ถอดรหัสแผนที่การเงินครัวเรือนไทย สร้าง FINACIAL WELL-BEING"
ที่ได้มีการพูดถึงบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ และการนำการศึกษาระดับทักษะทางการเงินเชิงพื้นที่ และการจัดทำดัชนีปัจจัยพื้นฐานทางการเงินเชิงพื้นที่ (Spatial Financial Fundamental Index: SFFI) ของสศค. ไปใช้ประโยชน์
เพื่อช่วยพัฒนาแนวทางในการกำหนดนโยบาย กลยุทธ์ และแผนงานของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการดำเนินงานด้านการพัฒนาทักษะทางการเงินได้อย่างเหมาะสมและตรงตามวัตถุประสงค์ และอาจรวมถึงนโยบายด้านการเงินอื่น ๆ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ประชาชนไทยมีระดับทักษะทางการเงินที่เพิ่มขึ้น นำไปสู่ Financial Well-being หรือผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่จะช่วยสร้างความมั่นคงและความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชนอย่างทั่วถึงและยั่งยืนต่อไป
“พรอนงค์ บุษราตระกูล” เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต. ) กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยจำนวน 66ล้านคน เป็นกลุ่มคนที่มีรายได้จำนวน 39 ล้านคน และเป็นคนที่เสียภาษี 4 ล้านคน พบว่า มีการลงทุนในหุ้น 2.4 ล้านคน มีเพียง 900,000 บัญชีที่Active เท่านั้น และมีการลงทุนในกองทุนรวม 1.8 ล้านคน และตราสารหนี้เพียง 200,000คน ถือว่า มีจำนวนคนไทยที่ลงทุนน้อยมาก และพบว่าปัจจุบันคนไทยยังมีปัญหา เรื่องการออม คือ "ออมช้า ออมต่ำ ออมไม่เป็น"
นี่คือโจทย์ใหญ่ของก.ล.ต. และทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนคนไทยมาใช้ประโยชน์ตลาดทุน โดยเฉพาะการออมระยะยาว มากขึ้น และผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนโดยใช้ตลาดทุนเป็นที่ระดมทุนได้ มากขึ้น
โดย ก.ล.ต. มุ่งเน้นการส่งเสริมและสร้างการเรียนรู้ในเรื่องการเงิน ( Financial Literacy) รวมถึงการเข้าถึงบริการทางการเงิน การออมและการลงทุน พร้อมกับจะพยายามสนับสนุนให้คนไทยเข้าถึงการออมที่มีความเสี่ยงต่ำก่อนเช่น เงินฝาก สลากออมทรัพย์ กองทุนรวม พันธบัตร เพื่อทำให้คนไทย เกิดการหาความรู้และเพิ่มทักษะทางการเงินเริ่มติดตามการออมการลงทุนส่วนบุคคล
"คนที่ตอบคำถามความรู้ทางการเงินได้ดีนั้น เราพบว่าจะเป็นคนที่เคยลงทุนมาก่อน ส่วนใหญ่เคยลงทุนในหุ้นและกองทุนรวม"
พร้อมกันนี้ "พรองนงค์" ยังแนะนำว่า เป้าหมายของกลไกของรัฐอยากให้ประชาชน "อยู่ดีกินดี ตั้งแต่เกิดจนตาย" ด้วยนโยบายเชิงมหภาคและจุลภาค รวมถึงนโยบายด้านการเงินและการลงทุน โดยเฉพาะการดูแลกลุ่มเปราะบาง ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มคนฐานราก กลุ่มเด็ก กลุ่มคนทำงานและกลุ่มผู้สูงวัย
ทั้ง ดัชนี SFFI ของสศค. สามารถสะท้อนได้ชัดเจนใน 3มิติ คือ 1. มิติที่เหลื่อมล้ำมากที่สุดคือการออมและการลงทุนขณะที่การเข้าถึงบริการการเงิน มีความเหลื่อมล้ำ รองลงมาแต่ช่องว่างในเรื่องนี้ลดลง โดยการนำระบบดิจิทัลเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาได้
2.มิติในเรื่องการออมเงินและการลงทุน ปัจจุบันยังวัดแค่การออมในตราสารและการลงทุน รวมถึงคนทำงานในระบบราชการและรัฐวิสาหกิจ มักจะมีชีวิตหลังเกษียณที่ดีกว่าคนทำงานในกลุ่มอื่นๆ
แต่ยังมีการออมเงินในเชิงของกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) อีกทัังยังต้องเร่งเก็บเงินออมตั้งแต่วัยทำงานควบคู่กัน โดยไม่จำเป็นต้องรอมีเงินแล้วค่อยออม แต่วิธีการนี้จะช่วยสร้างการเงินออมให้กับคนทำงานในระบบ เท่านั้น จึงต้องผลักดันการออมเงินภาคบังคับ อย่างกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ(กบข.) เพื่อเข้ามาดูแลคนทำงานที่อยู่นอกระบบอีกทางหนึ่ง น่าจะช่วยตอบโจทย์นี้ได้ดี
สุดท้าย ในมิติที่ 3 มองว่า ดัชนี SFFI ของสศค. ยังสามารถพัฒนาดัชนีที่จะวัดบริบทของคนไทยในภาพรวมของประเทศที่ชัดเจนได้มากขึ้น หากนำการวัดค่าการมีสุขภาพทางการเงินที่ดีของคนไทย มาประกอบกับการมีสุขภาพทางจิตใจและร่างกายที่ดีของคนไทย คงต้องติดตามต่อไป
นอกจากนี้ ในแนวทางการสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน หลังจากเกิดปัญหาของสตาร์ก และสินทรัพย์ดิจิทัล แน่นอนว่าก.ล.ต. เดินหน้ายกระดับทางความรู้ทางการเงิน เพื่อให้นักลงทุนมีทักษะและความสามารถการอ่านงบการเงิน และมีเครื่องมือที่สามารถเข้าถึงและนำไปตรวจสอบได้ อีกทั้งจากปัญหาการหลอกลวงการลงทุน ก.ล.ต. ยัง ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร เพื่อให้ความรู้เตือนภัยกลโกง และสามารถตรวจสอบบนแอปฯ SEC Check First ของก.ล.ต.