‘เงินบาท’แข็งค่าเร็วทะลุ 1% เหตุตลาดปรับลดมุมมองเฟดขึ้นดบ.- ลุ้น SET บวกต่อ
เงินบาทวันนี้ (4 พ.ย.) ยังแข็งค่าเร็วถึง1.3% ในรอบวัน อยู่ที่35.40 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย”คาดสิ้นปีนี้ เห็นบาทแข็งต่ำกว่า 35 บาทต่อดอลลาร์ แต่ระวังปัจจัยเสี่ยงกดดันตลาดผันผวน “กรุงศรี” แนะจับตาฟันด์โฟลว์ ลุ้นดัชนี SET ขึ้นต่อ คาดบาทแข็งค่าต่อถึงต้นปีหน้า
Key points:
- เงินบาทแข็งค่าเร็วทะลุ1% ในรอบวัน แตะระดับ แข็งค่าสุดที่ 35.40 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงคืนที่ผ่านมานี้
- เงินบาทแข็งค่าขึ้น สอดคล้องกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาค หลังเงินดอลลาร์โดนเทขาย เหตุตลาดปรับลดมุมมองเฟดขึ้นดอกเบี้ยในรอบต่อๆไป
- "กรุงไทย" มองบาทแข็งค่าต่อเนื่องสิ้นปีนี้ มีโอกาสเห็น ต่ำกว่า 35 บาทต่อดอลลาร์ แต่ต้องระวังปัจจัยเสี่ยงค่าบาทผันผวน-อ่อนค่าได้
- "กรุงศรี" ชี้มีลุ้น "หุ้นไทย" ขึ้นต่อ จับตา ฟันด์โฟลว์ หลังจากเข้าบอนด์ไทยแล้วกว่า 3 พันล้าน
“ค่าเงินบาทวันนี้” ( 4 พ.ย.66) ยังคงแข็งค่าต่อเนื่อง ในช่วงเช้าวันนี้ (10.30น.) อยู่ที่ 35.48 บาทต่อดอลลาร์ หรือแข็งค่าขึ้นถึง 1.3% ในช่วงคืนที่ผ่านมานี้ แตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 1 เดือนครึ่งที่ระดับ 35.40 บาทต่อดอลลาร์จากปิดตลาดวานนี้( 3 พ.ย.66 ) ที่ 35.93 บาทต่อดอลลาร์
กูรูตลาดการเงิน ประสานเสียงหลัง "เงินบาทแข็งค่า" ยังคงเป็นการปรับตัวแข็งค่า สอดคล้องตามภาพรวมของสกุลเงินเอเชีย ขณะที่เงินดอลลาร์ ยังเผชิญแรงเทขายต่อเนื่อง จากการที่ตลาดทยอยปรับลดโอกาสของการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องในการประชุมรอบถัดๆ ไปของเฟดลงมา
สำหรับทิศทางกระแสเงินลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) วานนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้น 574.82 แต่ซื้อสุทธิพันธบัตรไทย 478 ล้านบาท ยังคงต้องติดตามใกล้ชิด
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า แนวโน้มเงินดอลลาร์ ก็ยังเป็นไปตามสมมติฐานเดิมที่ทางเราคาดการณ์ไว้ว่า แนวโน้มเงินดอลลาร์น่าจะทยอยอ่อนค่าลงได้ ตามการปรับมุมมองเรื่อง Higher for Longer ของดอกเบี้ยเฟด ซึ่งต้องเห็นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แย่ลงมากขึ้น
ดังนั้น การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ที่อาจมาพร้อมการย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และอาจเห็นราคาทองคำที่ปรับตัวสูงขึ้นได้บ้าง จะเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนให้เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นได้
เราก็ยังคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทในช่วงสิ้นปีนี้ อาจเห็นระดับที่ต่ำกว่า 35 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก (มองกรอบไว้ที่ 34.25-34.75 บาทต่อดอลลาร์)
แต่ทั้งนี้ยังคงต้องติดตามทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติว่าจะกลับเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทยต่อเนื่องได้หรือไม่ หลังดัชนี SET ได้รีบาวด์ขึ้นชัดเจน ส่วนความกังวลเสถียรภาพการคลังของไทยก็ลดลงไปพอสมควร หลังรัฐบาลเตรียมปรับมาตรการ Digital Wallet
นอกจากนี้ เงินบาทก็อาจได้แรงหนุนจากช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยวในช่วงปลายปี ซึ่งอาจมาพร้อมกับการฟื้นตัวดีขึ้นของการส่งออกด้วยเช่นกัน
แต่อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงสำคัญสามารถเป็นตัวฉุดรั้ง คือ 1. แนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีน เพราะหากเศรษฐกิจจีนซบเซามากขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดเอเชีย กดดันให้สกุลเงินฝั่งเอเชียอ่อนค่าลง พร้อมกับแรงขายสินทรัพย์ฝั่งเอเชียได้
2. ความเสี่ยงเศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) แม้ว่า เราคงมุมมองเดิมว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ เสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงปลายไตรมาสแรก ถึง ต้นไตรมาสสองปีหน้า แต่หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้เร็วกว่าคาด อาจทำให้ตลาดการเงินผันผวนและเข้าสู่ภาวะปิดรับความเสี่ยงได้ ซึ่งจากการวิเคราะห์ข้อมูลในอดีต พบว่าเงินบาทมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าได้บ้างในช่วงดังกล่าว ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ จากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย
นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในสัปดาห์หน้า (6-10 พ.ย 66 ) คาดไว้ที่ 35.40-36.00 บาทต่อดอลลาร์
ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของไทยเดือนต.ค. สัญญาณเงินทุนต่างชาติ ทิศทางสกุลเงินเอเชีย สถานการณ์ในอิสราเอล รวมถึงถ้อยแถลงของประธานเฟด ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ย. (เบื้องต้น) และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามผลการประชุมธนาคารกลางออสเตรเลีย ดัชนี PMI ภาคบริการเดือนต.ค. ของญี่ปุ่นและยูโรโซน และตัวเลขเศรษฐกิจเดือนต.ค. ของจีน อาทิ ตัวเลขการส่งออก ดัชนีราคาผู้บริโภค และดัชนีราคาผู้ผลิต ด้วยเช่นกัน
ขณะที่ นายวิน พรหมแพทย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานลูกค้าไฮเน็ตเวิร์ธ ธนาคารกรุงศรีอยุธยาจำกัด มีมุมมองผ่านเฟชบุ๊กส่วนตัวต่อทิศทางเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นรอบนี้ว่า
หากย้อนไปช่วงไตรมาส2และไตรมาส3 ที่ผ่านมานี้ เงินบาทอ่อนค่ายวบยาบจนทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนหนึ่งเกิดจากเงินดอลลาร์แข็งค่า (ช่วงเฟดขึ้นดอกเบี้ย) อีกส่วนหนึ่งเกิดจากเม็ดเงินที่ไหลออก ทั้งจากตลาดตราสารหนี้ และตลาดหุ้น รวมกันมากกว่า 3 แสนล้านบาท
แต่เมื่อเข้าสู่ไตรมาส 4 นี้ “เริ่มมีสัญญาณบวกในตลาดตราสารหนี้” โดยในเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อตราสารหนี้ไทยสุทธิกว่า 12,500 ล้านบาท เป็นที่ สังเกตว่า ในช่วงเดียวกัน เฟดเริ่มส่งสัญญาณไม่ขึ้นดอกเบี้ยต่อ ดอลลาร์เริ่มนิ่ง เงินบาทก็เริ่มกลับมาแข็ง และแข็งเร็วมาก จาก 37.1 มาเป็น 35.7 บาทต่อดอลลาร์ภายในเวลา 1 เดือนเท่านั้น
นายวิน ให้ความเห็นว่า หลายครั้งเวลา “เงินบาทแข็ง” มักจะเป็นผลบวกกับตลาดหุ้นไทย( SET ) โดยนักลงทุนต่างชาติ จะมีแรงจูงใจให้ซื้อหุ้นไทย เพราะเก็งกำไรได้ 2 ต่อ 1. กำไรจากหุ้น 2. กำไรจากค่าเงิน (ถ้าบาทแข็งค่าต่อ)
ดังนั้นแนวโน้มหลังจากนี้ คงต้องมาลุ้นกันว่า เงินบาทที่แข็งรอบนี้ จะมีฟันด์โฟลว์ไหลเข้ามาดันดัชนี SET ขึ้นต่อหรือไม่ ถึงแม้วานนี้ (3 พ.ย.) ดัชนี SET จะขึ้นด้วยแรงซื้อของสถาบันในประเทศ แต่ที่ตลาดตราสารหนี้ ต่างชาติซื้อสุทธิ( Net Buy )กว่า 3,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ทางกรุงศรี มองว่าเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องไปถึงต้นปีหน้า