ส่องปัจจัยสำคัญของการลงทุนในอาเซียน ตอนที่ 1
ในช่วงหลายปีหลังกระแสของเทคโนโลยีและอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมทำให้น้ำหนักการลงทุนและการสร้างผลตอบแทนที่ดีส่วนใหญ่จะมีความเกี่ยวข้องกับการลงทุนในกลุ่มนี้เป็นหลัก แม้จะถูกคั่นเวลาด้วยการแพร่ระบาดของ COVID-19 และปัญหาแรงกดดันเงินเฟ้อ
แต่กระแสของเทคโนโลยีนั้นก็ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้กว่าอุตสาหกรรมเทคโนโลยีนั้นจะเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญสำหรับการลงทุนทั้งในระยะสั้นและระยะยาวอย่างแน่นอน แต่ในเรื่องของการลงทุน การมีหลายๆ ธีมที่เหมาะสมในพอร์ตฟอลิโอนั้นก็เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ของการบริหารหลักทรัพย์ที่สำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งการลงทุนในฝั่งเอเชียโดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียน (ASEAN) นั้นก็มีความน่าสนใจเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อพิจาณาระดับมูลค่าที่ค่อนข้างสูงและทิศทางเศรษฐกิจที่น่าจะชอลอตัวลงในปีหน้าของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วประกอบด้วย
จุดเด่นของกลุ่ม ASEAN เมื่อพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานสำคัญๆ ได้แก่ (1) เรื่องของจำนวนประชากรที่เมื่อนับรวมกันจะเป็นลำดับ 3 ของโลกรองจากจีนและอินเดีย โดยมีจำนวนประชากรทั้งหมดราว 670 ล้านคน และนับเป็นประชากรเกือบ 9% ของประชากรโลก นอกจากนี้ประชากรเกือบครึ่งหนึ่งยังอยู่ในช่วงอายุต่ำกว่า 30 ปี (ข้อมูล ณ สิ้นปี 2022 จาก ASEAN Statistical Highlight 2023) ซึ่งเป็นวัยทำงานที่จะทำให้ศักยภาพในการเติบโตของเศรษฐกิจอยู่ในระดับสูงยาวนานต่อเนื่องหลายปี และทิศทางของการขยายตัวของความเป็นเมือง (Urbanization) ยังเด่นชัดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งเมื่อพิจารณารวมกันจะพบได้ว่าจุดเด่นทางด้านแรงงาน รวมถึงการยกระดับรายได้ให้เพิ่มขึ้น จะเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งยวดต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการบริโภคภายในประเทศ
(2) ขนาดเศรษฐกิจที่มีขนาดเป็นลำดับที่ 5 รองจาก สหรัฐฯ จีน ญีปุ่น และเยอรมนี ในขณะที่แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจก็ยังมีทิศทางดี จากประมาณการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ล่าสุด พบว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจวัดจากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริง (Real GDP) ระหว่างปี 2024 ถึง 2028 จะอยู่ในช่วง 4.5% ต่อปีโดยเฉลี่ย ใกล้เคียงกับในช่วงทศวรรษก่อนหน้านี้ที่เติบโตเฉลี่ย 4.4%
ซึ่งนับว่าน่าสนใจเมื่อพิจารณาว่าทิศทางของเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศหลักมีทิศทางชะลอตัวลงและขยายตัวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า ในขณะที่เมื่อพิจารณารายได้ประชากรต่อหัว (Real GDP per Capita) นั่นก็เติบโตในเกณฑ์สูงจาก 3,922 ในปี 2015 เป็น 5,395 ดอลลาร์ สรอ. ต่อคนในปี 2022 ซึ่งนับเป็นอัตราการเติบโตมากถึง 37.6% ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่นมา ซึ่งกำลังซื้อที่สูงขึ้นจะช่วยยกระดับการบริโภครวมถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการเพิ่มขึ้น
(3) การเติบโตและความสมดุลของการค้าขายระหว่างประเทศ โดยในปี 2022 มูลค่าการส่งออกสินค้าโดยรวมของกลุ่มอาเซียนขยายตัว 14.9% ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและปัญหาทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Risk) ต่างๆ ทั้งจากสหรัฐฯ กับจีน หรือสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน นอกจากนี้คู่ค้าสำคัญ (Trading Partners) ยังมีการกระจายตัวในหลายๆ ภูมิภาคหลักด้วย
โดยมีการค้าขายกันเองในกลุ่มประเทศสมาชิก 22.3% จีน 18.8% สหรัฐฯ 10.9% และยุโรป 7.7% หรือหากพิจารณาในระยะยาวกว่านั้นอัตราการเติบโตของการส่งออกสินค้าก็ขยายตัวเฉลี่ยปีละ 9.3% นับตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา และเป็นการขยายตัวของการค้าขายภายในประเทศสมาชิก 8.6% และกับประเทศนอกสมาชิกในระดับที่ใกล้เคียงกันที่ 9.6% ซึ่งอัตราการเติบโตดังกล่าว และความสมดุลของการค้าขายจะช่วยให้มีความเสี่ยงและผลกระทบในด้านของข้อขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์น้อยลง โดยการพึ่งพาการส่งออกนั้นอาจจะผันผวนตามวัฏจักรของเศรษฐกิจโลก แต่ในระยะยาวก็ยังสะท้อนให้เห็นถึงอัตราการเติบโตที่น่าพอใจ
(4) การส่งออกภาคบริการที่เติบโตได้ดี โดยในปี 2022 ภาคส่งออกภาคบริการขยายตัว 16.4% และเมื่อพิจารณาอัตราการเติบโตจากปี 2010 เป็นต้นมาก็อยู่ที่ 10.2% ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญและการเติบโตของภาคบริการที่นับเป็นอีกแหล่งรายได้ที่สำคัญอีกแหล่งหนึ่งด้วย โดยการส่งออกบริการนั้นคิดเป็นราว 25.7% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่แท้จริง
(5) แรงดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) โดยอาเซียนยังนับเป็นแหล่งสำคัญของการลงทุนโดยตรงแห่งหนึ่งของเศรษฐกิจโลก โดยในปีที่ผ่านมาการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศขยายตัว 5.5% โดยมีนักลงทุนสำคัญๆ 5 ลำดับแรก ได้แก่ สหรัฐฯ 16.3% อาเซียน 12.3% ญี่ปุ่น 11.9% ยุโรป 10.7% และจีน 6.9% ซึ่งสะท้อนให้เห็นความเป็นกลางและไม่ได้มีจุดยืนเข้าข้างฝั่งใดฝั่งหนึ่ง โดยหากพิจารณาว่าการกีดกันทางการค้าและการพัฒนาเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดประเด็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Relocation) นั้น กลุ่มประเทศในอาเซียนก็ยังน่าจะเป็นกลุ่มต้นๆ ที่จะได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
นอกจากนี้ยังมีข้อดีอีกหลายอย่างรวมถึงทิศทางเศรษฐกิจและผลตอบแทนของตลาดการเงินที่ยังคงน่าสนใจ แต่อาจจะต้องมาต่อกันในสัปดาห์หน้าครับ
หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด