กองทุนหุ้นเฮลท์แคร์ทั่วโลก ยังไหว! จ่อรีเทิร์นปีหน้าท่ามกลางเศรษฐกิจชะลอ
แม้ว่าปัจจุบันราคาหุ้นและผลตอบแทน “กองทุนเฮลท์แคร์ทั่วโลก "ยังติดลบแต่ก็ติดลบน้อยกว่า" มองเป็นโอกาสในการเข้าสะสม สร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว
Key Points:
- กองทุนมองบวก ราคา "หุ้นเฮลท์แคร์ทั่วโลก" ยังไม่ปรับขึ้นแรง ทยอยเข้าสะสม เพิ่มผลตอบแทนระยะยาว -หลบภัยเศรษฐกิจโลกชะลอมนปีหน้า
- ธุรกิจเฮลท์แคร์ กลุ่ม "ผลิตยา -นวัตกรรมรักษาโรคเฉพาะทางมีโอกาสรายได้เติบโต มากกว่า กลุ่มเทคโนโลยี อย่างเดียว
- บลจ.บัวหลวง คาดปีหน้านักลงทุนโยกเม็ดเงิน ลดเสี่ยง เศรษฐกิจชะลอตัว หนุนผลตอบแทน กองทุนเฮลท์แคร์ทั่วโลก "ปรับขึ้นมากกว่าตลาด"
- มอร์นิ่งสตาร์ เผยกองทุนKWI HCARE-A ผลตอบแทนดีสุด ติดลบเพียง 0.49 %
ทางฝั่ง "ผู้จัดการกองทุน” ต่างมองช่วงนี้ที่ราคา "หุ้นเฮลท์แคร์ทั่วโลก" ยังไม่ปรับขึ้นแรง นักลงทุนสามารถทยอยเข้าสะสม เพิ่มผลตอบแทนระยะยาว และยังมีโอกาสขยายตัวในปีหน้า สามารถรับมือ "เศรษฐกิจโลกถดถอย-ตลาดหุ้นปรับฐาน"
ในงานกิจกรรมงาน Health & Wealth Expo 2023 "Investment Outlook การลงทุน 2024" “กุลยา วรรธนรียชาติ” ผู้อำนวยการทีมกลยุทธ์ลงทุน บลจ. เอ็มเอฟซี มองว่า หุ้นเฮลท์แคร์ทั่วโลก แม้ปัจจุบันราคาหุ้นปรับตัวลงมาตามภาวะตลาดปรับตัวลง แต่ยังมีโอกาสเติบโตสม่ำเสมอในระยะยาวตามเมกะเทรนด์โลก จึงเสมือนเป็น “หุ้นDefensive” เป็นทางเลือกลงทุนในหุ้นที่เติบโตช้า แต่สม่ำเสมอกว่าหุ้นเจริญเติบโตดี ที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นไปมากแล้ว และเป็นหลุมหลบภัยให้กับนักลงทุนในภาวะตลาดผันผวน
“มองว่า ในปีหน้าหุ้นเฮลท์แคร์ทั่วโลก น่าจะมีโอกาสทำผลตอบแทนกลับมาปรับตัวดีขึ้นกว่าตลาด ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว กลยุทธ์ลงทุนหุ้นกลุ่มนี้ เน้นคัดหุ้นที่ยังมีรายได้เติบโตต่อเนื่อง ได้แก่ กลุ่มเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์การแพทย์ ส่วนในไทย แนะที่เป็นการลงทุนระยะยาวในรูปแบบกองทุน SSF และRMF ให้ผลตอบแทนที่ดี”
"ดนัย อรุณกิตติชัย" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายจัดการกองทุน บลจ.บัวหลวง กล่าวว่า ในปีนี้ แม้ว่ากองทุนหุ้นเฮลท์แคร์ทั่วโลกยังให้ผลตอบแทนไม่ดีนัก แต่ในปีหน้าเศรษฐกิจทั่วโลกมีความเสี่ยงชะลอลง ทำให้จะเกิดการโยกเม็ดเงินลงทุนเพื่อลดความเสี่ยง จากหุ้นที่เติบโตตามวัฏจักรเศรษฐกิจหรือหุ้นเติบโต กระจายความเสี่ยงการลงทุนมาที่ “หุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์” กลุ่มที่ให้ผลตอบแทนดีในระยะยาว เช่น การผลิตยา หรือ นวัตกรรมทางการแพทย์รักษาโรคเฉพาะจุด ยังมีแนวโน้มรายได้เติบโตสม่ำเสมอ เมื่อเทียบกับเฮลท์แคร์กลุ่มเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว
สำหรับ กองทุน BCARE จากบลจ.บัวหลวง ตั้งแต่ IPO สร้างผลตอบแทนมาแล้วกว่า 300% เป็นกองทุนที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุดในรอบ 10 ปี ลงทุนในบริษัทในอุตสาหกรรม เฮลท์แคร์ทั่วโลก ผ่านหน่วยลงทุนของกองทุนWellington Global Health Care Equity Fund
โดยจุดเด่นของกองทุนนี้ คือลงทุนในบริษัทขนาดใหญ่ที่เติบโตมาในระดับหนึ่งและมีรายได้มั่นคง กลุ่มธุรกิจส่วนมากเป็นธุรกิจดั้งเดิม (Traditional) เช่น กลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพหรือไบโอเทคโนโลยี, บริษัทผลิตยารักษาโรคซับซ้อนและผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ฯ กระจายลงทุนหลากหลายกลุ่มธุรกิจ
ทั้งนี้ ข้อมูลจาก ‘มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย)’ ณ 10 พ.ย. 2566 พบว่า “กองทุนหุ้นเฮลท์แคร์ทั่วโลก” แม้ทุกกองทุนที่ยังคงให้ผลตอบแทนติดลบ แต่สำหรับ 10 อันดับแรก ที่มีผลตอบแทนสูงสุด ดังนี้
1. กองทุนเปิด เคดับบลิวไอ เฮลธ์แคร์ เอฟไอเอฟ (KWI HCARE-A) ผลตอบแทน -0.49 %
2. กองทุนเปิดพรินซิเพิล โกลบอล เฮลธ์ อินโนเวชั่น (PRINCIPAL GHEALTH-A) ผลตอบแทน -2.75%
3.กองทุนเปิดแอลเอช เฮลธ์อินโนเวชั่น (LHHEALTH-D) ผลตอบแทน -4.07%
4.กองทุนเปิดกรุงศรีโกลบอล เฮลธ์แคร์อิควิตี้ (KFHEALTH-A) ผลตอบแทน -4.45%
5. กองทุนเปิดเค โกลบอล เฮลท์แคร์ หุ้นทุน (K-GHEALTH) ผลตอบแทน -4.70%
6. กองทุนเปิดบัวหลวง โกลบอลเฮลธ์แคร์ (BCARE) ผลตอบแทน -5.65%
7. กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี เฮลธ์ อินโนเวชั่น (MHEALTH) ผลตอบแทน -7.28%
8. กองทุนเปิดทิสโก้ โกลบอล เฮลธ์แคร์ สตาร์ พลัส (TGHSTARP) ผลตอบแทน -7.69%
9. กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ โกลบอลเฮลธ์แคร์ เพื่อการเลี้ยงชีพ (SCBRMGHC) ผลตอบแทน -8.49%
10.กองทุนเปิดยูไนเต็ด โกลบอลเฮลท์แคร์ เพื่อการเลี้ยงชีพ (UHCRM) ผลตอบแทน -9.25%
4ปัจจัยบวกหนุนกลุ่มการแพทย์
ใระยะข้างหน้ายังจะมีโอกาสในการลงทุนหุ้นกลุ่มเฮลท์แคร์ ผ่านตลาดหุ้นสหรัฐฯอีกหรือไม่นั้น
“รัฐศรัณย์ ธนไพศาลกิจ” ผู้อำนวยการ ฝ่ายหลักทรัพย์ต่างประเทศและฟิวเจอร์ส บล.บัวหลวง ชี้ให้เห็นว่าข้อมูลจาก Deloitte คาดการใช้จ่ายด้านการแพทย์ทั่วโลกจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ 3.9% ต่อปี นับตั้งแต่ปี2563-2567
โดยเราได้แบ่งปัจจัยบวกต่อกลุ่มการแพทย์ออกเป็น 4 ปัจจัย ดังนี้
Aging Population ประชากรผู้สูงอายุในโลกอาจเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยอายุเฉลี่ยของคนอาจเพิ่มขึ้นสู่ราว 74.9 ปีภายในปี 2567
Rebound of Medical Activities กิจกรรมทางการแพทย์ที่ลดลง และหยุดชะงักไปจากสถานการณ์โควิด-19 ที่จะกลับมาฟื้นตัวและดำเนินการต่อได้ อีกทั้งผู้บริโภคเริ่มกล้ากลับมาเข้ารักษาเพิ่มมากขึ้น
Demand Increasing หลังจากเกิดการระบาดของโควิด-19 ทำให้คนเริ่มหันมาใส่ใจในการดูแลสุขภาพมากขึ้น ตระหนักในเรื่องของการรักษาสุขภาพมากขึ้น หนุนปริมาณการเข้ารับบริการด้านการแพทย์ให้โตต่อ
Technological Advances ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา และช่วยลดต้นทุนในการรับบริการ หนุนการเข้าถึงทางการแพทย์ทั่วโลก