ทำไมปีนี้หุ้นขึ้นดี เทคฯ ขึ้นดี กองทุนเทคโนโลยีให้ผลตอบแทนดี แต่กลับแพ้ดัชนีอ้างอิง
ท่ามกลางปัจจัยแวดล้อมที่ดูเหมือนจะสร้างแรงกดดันให้กับการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง ทั้งระดับของดอกเบี้ยที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูงนานกว่าที่คาด เศรษฐกิจที่มีทิศทางชะลอตัวลง ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง การสู้รบในตะวันออกกลาง
รวมถึงความเสี่ยงของภาวะชัตดาวน์ของรัฐบาลสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมา แต่กลับเป็นปีที่ผลตอบแทนตลาดหุ้นโดยเฉพาะหุ้นเติบโตและกลุ่มเทคโนโลยีในสหรัฐฯ ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยมาก โดยนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 20 พ.ย. 66) ดัชนี NASDAQ Composite ของสหรัฐฯ ให้ผลตอบแทนสูงถึง 34.9%
ดัชนีหลักที่เป็นตัวแทนของหุ้นทั่วๆ ไป เช่น S&P500 ให้ผลตอบแทน 17.6% หรือแม้แต่ดัชนีหุ้นโลกโดยรวม เช่น ดัชนี MSCI All Country World Index และ MSCI World Index ก็ให้ผลตอบแทนสูงถึง 13.3% และ 14.7% เช่นกัน จากตัวเลขดังกล่าวนับได้ว่าเป็นปีที่การลงทุนในหุ้นต่างประเทศดูเหมือนจะประสบความสำเร็จด้วยดี แต่เมื่อเราเปิดราคากองทุนดูกลับมาว่ากองทุนเทคโนโลยีหลายๆ กองกลับปรับตัวไม่สูงขึ้นเท่าที่คาดไว้ ทำให้อาจจะมีผิดหวังบ้างเล็กน้อยเมื่อพิจารณาจากทิศทางของตลาดหุ้นโดยรวม .. วันนี้เราลองมาทำความเข้าใจสาเหตุกันครับ
น่าจะเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปแล้วว่าปี 2023 นี้นั้นเป็นปีที่หุ้นที่มีขนาดใหญ่ที่เรียกกันว่า “Mega Cap” นั้นให้ผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นทั่วๆ ไปโดยเฉลี่ย และเนื่องจากดัชนีตลาดหลักทรัพย์ส่วนใหญ่จะใช้วิธีคำนวณแบบถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าตลาดของหุ้น (Market Capitalization Weight) ทำให้ราคาของหุ้นเหล่านั้นมีผลต่อดัชนีตลาดหลักทรัพย์มาก โดยหุ้นยอดนิยม เช่น Apple (AAPL) Microsoft (MSFT) Alphabet (GOOGL) Amazon (AMZN) Meta (META) Nvidia (NVDA) Tesla (TSLA)
รวมกันแล้วมีน้ำหนักสูงถึง 29% ของดัชนี หรือเกือบ 1 ใน 3 ของดัชนี S&P500 โดยหุ้นทั้ง 7 ตัวดังกล่าวนั้นนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันให้ผลตอบแทนคิดมูลค่าตามขนาดบริษัทโดยรวมสูงถึง 71% เทียบกับหุ้นที่เหลืออีก 493 ตัวที่ให้ผลตอบแทนเพียง 6% โดยหลักๆ มาจากสองสาเหตุสำคัญ ได้แก่ (1) การที่หุ้นขนาดใหญ่เหล่านี้ถูกเทขายออกมามากในปีที่แล้วจากความกังวลเกี่ยวกับดอกเบี้ย เงินเฟ้อ และภาวะเศรษฐกิจถดถอยทำให้ทั้งกลุ่มปรับตัวลดลง 39% เทียบกับหุ้นอื่นๆ ที่ปีที่แล้วลดลงเพียง 10%
ดังนั้น เมื่อความกังวลต่างๆ เริ่มลดลงในปีนี้ โดยเฉพาะความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทำให้หุ้นเหล่านี้ฟื้นตัวได้แรงกว่าหุ้นโดยรวม นอกจากนี้อีกปัจจัยสำคัญก็คือ (2) เรื่องของทิศทางผลประกอบการที่ดีกว่า โดยการประมาณการล่าสุดจากนักวิเคราะห์ในตลาดการเงินพบกว่าหุ้นทั้ง 7 ตัวนี้ ในช่วงปี 2023 ถึง 2025 คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยของรายได้ ที่ 11% เทียบกับที่เหลือที่คาดว่ารายได้จะเพิ่มขึ้นเพียง 3% (ข้อมูลจาก Goldman Sachs Global Investment Research) หรือแม้อัตราส่วนกำไรขั้นต้น (Net Profit Margin) ในปีนีที่สูงกว่าที่ 22% เทียบกับ 10%) ดังนั้นจะเห็นได้ว่านอกจากการฟื้นตัวหลังจากถูกแรงเทขายอย่างหนักในปีที่แล้ว ทิศทางของผลประกอบการก็ยังคงดีต่อเนื่อง ทำให้เป็นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนดีและฉุดดัชนีในภาพรวมให้ปรับสูงขึ้นมาด้วย
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาการลงทุนผ่านกองทุนรวม จะพบว่าในปีนี้กองทุน Master Fund ที่กองทุนรวม Feeder Fund บ้านเรากระจายกันไปลงทุนอย่างหลากหลายนั้นให้ผลตอบแทนต่ำกว่าดัชนีอ้างอิงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นตัวเลขในระดับที่อาจไม่ได้เห็นกันบ่อยๆ แม้แต่จะเป็นช่วงวิกฤติเศรษฐกิจก็ตาม โดยการที่กองทุน Underperform อย่างมีนัยสำคัญในปีนี้ก็จะทำให้ผลตอบแทนเฉลี่ยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาดูน่าสนใจลดลงไปด้วย
โดยสาเหตุหลักๆ เกิดจากการที่กองทุนนั้นทั้งไม่สามารถลงทุนหรือไม่เต็มใจจะลงทุนในหุ้น Mega Cap เหล่านั้นในส่วนส่วนที่ใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิง ที่ราวๆ 30% จะเป็นหุ้น Mega Cap 7 ตัวดังกล่าว ดังนั้นเมื่อราคาหุ้นกลุ่มเหล่านี้ยังคงปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ ก็จะทำให้กองทุนให้ผลตอบแทนต่ำกว่าดัชนีอ้างอิงอันเป็นผลมาจากการลงทุนในสัดส่วนที่น้อยกว่านั้นเอง แม้จะมีบางกองทุนที่ลงทุนแบบกระจุกตัวในหุ้นกลุ่มนี้โดยเฉพาะซึ่งอาจจะให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิงหรือมากกว่า แต่ก็ต้องแลกมาด้วยความเสี่ยงที่มากกว่า
โดยในภาพรวมส่วนใหญ่กองทุนจะมีการกระจายการลงทุนมากกว่าดัชนีอ้างอิงที่ปัจจุบันกระจุกตัวอย่างมาก อย่างไรก็ตามข้อดีก็คือหากหุ้นเหล่านี้มีการปรับฐาน กองทุนรวมเหล่านั้นก็จะปรับลดลงในขนาดที่น้อยกว่าจากน้ำหนักการลงทุนที่น้อยกว่านั่นเอง ดังนั้นเมื่อเป็นสาเหตุนี้ การ Underperform หากเกิดจากปัจจัยดังกล่าวในปีนี้ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องแย่ไปเสียทีเดียว
นอกจากนั้นอีกปัจจัยสำคัญก็คือเมื่อเราแปลงการลงทุนเหล่านั้นกลับมาเป็นในสกุลเงินบาท หลายๆ กองทุน Feeder Fund จะมีนโยบายป้องกันความเสี่ยง (Foreign Currency Hedging) อยู่บางส่วนมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของแต่ละกองทุน
แต่ในปัจจุบันที่อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ สูงกว่าไทย ทำให้เกิดส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่เป็นต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่อาจจะลดทอนผลตอบแทนของการลงทุนต่างประเทศในรูปเงินบาทลงบ้างบางส่วน และเมื่อเราเปิดพอร์ตการลงทุนดูก็อาจจะพบว่าผลตอบแทนของกองทุนเทคโนโลยีดูจะไม่สูงเท่าดัชนีต่างๆ ที่ได้ยินมาตามแหล่งข่าวต่างๆ เหล่านั้น หรือ อาจจะเรียกได้ว่าให้ผลตอบแทนดี แต่ก็อาจจะผิดหวังเล็กน้อยที่ไม่สูงเท่าที่คิดนั่นเอง
แต่ก็นับได้ว่าเป็นเรื่องเข้าใจได้ และเมื่อพิจารณาทิศทางของกลุ่มเทคโนโลนีที่ยังน่าจะเติบได้ดีทั้งในระยะสั้นและระยะยาว การลงทุนในกลุ่มนี้ก็ยังคงจำเป็นที่จะสมควรมีติดพอร์ตฟอลิโอไว้บ้างอยู่ดี แต่ความเข้าใจก็จะช่วยให้เราพิจารณาการลงทุนต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้นครับ
หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด