‘เครดิตบูโร‘ ผวาหนี้กำลังจะเสีย ทะลัก 4.9แสนล้าน ’รถ-บ้าน’ เบี้ยวหนี้พุ่ง
“เครดิตบูโร” เปิดหนี้เสียครัวเรือน พบไตรมาส3 เพิ่มต่อเนื่อง แตะ 1.05 แสนล้านบาท เสี่ยงตกชั้นเป็นเอ็นพีแอลอีก4.9 แสนล้าน จาก ลูกหนี้บ้าน-รถ เฉียด 3.5 แสนล้านบาท ห่วงหมดมาตรการช่วยเหลือธปท.ฉุดยอดปรับโครงสร้างหนี้วูบ หนุนเอ็นพีแอลทะลักต่อ
นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) กล่าวถึงภาพรวมหนี้สินครัวเรือนไทย ภายใต้ข้อมูลของเครดิตบูโรในไตรมาส 3 ปี 2566 ว่า ภายใต้ภาพรวมสินเชื่อที่อยู่ในข้อมูลของเครดิตบูโรที่ 13.5 ล้านล้านบาทในนี้ เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล อยู่ที่ 1.05 ล้านล้านบาท หรือ 7.7% ซึ่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหากเทียบกับช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ที่หนี้เอ็นพีแอลรวมอยู่ที่ 1.03 ล้านล้านบาท
ขณะที่หนี้ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างปัจจุบันเพิ่มมาอยู่ที่ 9.9 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากช่วงไตรมาสที่ผ่านมาที่อยู่ระดับ 9.8 แสนล้านบาท ส่วนสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษหรือหนี้ที่ค้างชำระแต่ไม่เกิน 90 วัน (SM)เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 4.9 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น 3.7% จากไตรมาสก่อนหน้า
ทั้งนี้หากดูไส้ในของหนี้เอ็นพีแอล พบว่าหลักๆใน 1.05 ล้านล้านบาท มาจากสินเชื่อรถยนต์ ที่หนี้เสียเพิ่มขึ้น 2.07 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 21% หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีหนี้เสียเพียง 1.7 แสนล้านบาท และเติบโตขึ้นราว 5.8 %จากไตรมาสก่อนหน้า หรือหากดูเป็นจำนวนรายบัญชี พบว่ามีหนี้เสีย จากสินเชื่อรถยนต์เพิ่มขึ้นมาเป็น 6.94 แสนบัญชี เพิ่มขึ้น 8.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
เช่นเดียวกับสินเชื่อบุคคล ที่มีจำนวนบัญชีที่เป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้นมาเป็น 5.5 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้น 4.9 % หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีจำนวนบัญชีที่เป็นหนี้เสียเพียง 5.2 ล้านบัญชี
โดยกลุ่มที่เป็นหนี้เสียมากที่สุดพบว่า ยังมาจากกลุ่มเจนวายที่เป็นหนี้เสียอยู่ที่ 3.9 แสนล้านบาท หรือ 6.5% หากเทียบกับสินเชื่อเจนวายทั้งหมด ถัดมาคือ เจนเอ็กซ์ มีหนี้เสีย 2.8 แสนล้านบาท หรือ 6.9% เบบี้บูมเมอร์ที่ 8.6 หมื่นล้านบาท เจนแซด 1.8 หมื่นล้านบาท
สินเชื่อบ้านส่อเป็นเอ็นพีแอล1.36แสนล้าน
นายสุรพล กล่าวว่า หากดูสินเชื่อที่กำลังจะเสีย หรือค้างชำระแต่ไม่เกิน 90วัน หรือ SM ปัจจุบันอยู่ที่ 4.9 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.4% หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่อยู่เพียง 4 แสนล้านบาท ที่เพิ่มขึ้นหลักๆมาจาก พอร์ตสินเชื่อบ้าน ที่มีหนี้กำลังจะเสียเพิ่มขึ้นมาเป็น 1.36 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.2% จาก 9.9 หมื่นล้านบาท หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
และมีจำนวนบัญชีที่กำลังจะเสียเพิ่มขึ้นอีก 22.2% หรือ 105,461 บัญชี จาก 86,291 บัญชี ซึ่งกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้สินเชื่อบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท และเป็นกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลาง ที่เป็นลูกหนี้แบงก์รัฐ ที่เริ่มเห็นสัญญาณการผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น
ถัดมาคือ สินเชื่อรถยนต์ ที่มีหนี้ที่กำลังจะเสียเพิ่มขึ้น 17.5% หรือ 2.13แสนล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่อยู่เพียง 1.81 แสนล้านบาท ขณะที่จำนวนบัญชีที่กำลังจะเป็นหนี้เสียเพิ่มอยู่ที่ 560,427 ล้านบัญชี หรือเพิ่มขึ้น 15% จาก 487,477 บัญชี เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งหากรวมหนี้ที่กำลังจะเสียจากทั้งสองกลุ่ม ทั้งสินเชื่อบ้าน และสินเชื่อรถ พบว่าโดยรวมอยู่ที่เกือบ 3.5แสนล้านบาท
“การแก้หนี้เสียของรถยนต์ ต้องดูว่าการปรับโครงสร้างหนี้ทำได้เร็วแค่ไหน เพราะสินเชื่อรถยนต์ทำได้ยาก หากเทียบกับสินเชื่อประเภทอื่นๆ เพราะรถยนต์ มีอายุ 4 ปี ทำให้ยากต่อการปรับโครงสร้างหนี้ เพราะหากยืดหนี้ออกไป มูลค่ารถจะลดลงต่อเนื่อง ดังนั้นปัญหาอยู่ที่การตีราคาต่างๆด้วย ทำให้สถาบันการเงินใช้วิธียึดรถหากค้างเกิน 3 เดือน”
ทั้งนี้หากดูกลุ่ม SM ที่มีโอกาสไหลไปเป็นหนี้เสีย (Migration rate housing loan) จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)พบว่า โอกาสไหลไปเป็นหนี้เสียของสินเชื่อบ้านอยู่ที่ 22% สินเชื่อรถ 12% สินเชื่อพีโลน 54% และสินเชื่อเครดิตการ์ด 57% นอกจากนี้ หากดูไส้ในของกลุ่ม SM เป็นหนี้ของกลุ่มแบงก์รัฐอยู่ที่ 68% หรือ 9.3 แสนล้านบาท
หนี้ปรับโครงสร้างจ่อทะลุ1ล้านล้าน
อย่างไรก็ตาม พบว่า หากรวมทั้งสองกลุ่ม ทั้งหนี้ที่เสียแล้ว 1.05 แสนล้านบาท และหนี้ที่กำลังจะเสีย หรือกลุ่ม SM อีก 4.9 แสนล้านบาท พบว่าโดยรวมมีหนี้ที่น่าเป็นห่วงทั้งสิ้น 11.4% หรือ 1.55 ล้านล้านบาท เช่นเดียวกับหนี้ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้าง ที่คาดว่า จะเห็นเพิ่มขึ้นทะลุระดับ 1 ล้านล้านบาทได้ในระยะข้างหน้า จากการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงิน ก่อนที่มาตรการช่วยเหลือทางการเงินหรือมาตรการฟ้า ส้ม จะหมดอายุในสิ้นปีนี้
นายสุรพล กล่าวว่า แนวโน้มหนี้เสียในระยะข้างหน้า เชื่อว่ายังมีทิศทางเพิ่มขั้นต่อเนื่อง และคงไม่เห็นต่ำกว่าระดับ 1 ล้านล้านบาท ในระยะอันใกล้นี้ แต่จะไม่เพิ่มขึ้นก้าวกระโดด หรือระเบิด ส่วนหนึ่งมาจาก การที่สถาบันการเงิน เร่งปรับโครงสร้างหนี้ตามมาตรการช่วยเหลือทางการเงินหรือมาตรการฟ้าส้มของธปท. ที่จะหมดอายุในสิ้นปีนี้ ที่จะช่วยพยุงไม่ให้เห็นพีแอลปรับตัวเพิ่มขึ้นมากนัก ทำให้คาดว่า ในระยะข้างหน้า จะเห็นยอดปรับโครงสร้างหนี้ จะเพิ่มขึ้นทะลุ 1ล้านล้านบาทได้
“ประเด็นสำคัญต้องติดตามตัว Megration rate หรือหนี้ที่จะตกชั้นจากกลุ่ม SM ไปเป็นหนี้เสียมากน้อยแค่ไหน เพราะเราไม่รู้ว่าข้างหน้าจะเจอปัญหาอะไรเข้ามาอีก ดังนั้นโอกาสที่จะเห็นหนี้เสียปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องได้ ตั้งแต่ไตราส 4 เป็นต้นไป และตัวที่ต้องติดตามการการปรับการผ่อนชำระขั้นต่ำเป็น 8% จาก 5% จะมีส่วนทำให้หนี้เสียเพิ่มขึ้นได้ และอีกส่วนจะมาจากเกณฑ์การปรับโครงสร้างหนี้ที่เข้มงวดมากขึ้น จากมาตรการสีฟ้า สีส้มที่จะหมดอายุ เพราะต้องดูกระแสเงินสดต่างๆมากขึ้น ดังนั้นกลุ่มนี้หากไม่สามารถพิสูนจ์ตรงนี้ได้ ก็อาจถูกแช่แข็ง หรือตกไปเป็นหนี้เสียได้”
ห่วงลูกหนี้กลุ่มรหัส21ตกชั้นสูงถึง5.1ล้านบัญชี
สำหรับกลุ่มลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียจากโควิด-19 หรือรหัสสถานะบัญชี 21 ณ เดือนก.ย. พบว่าเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.1 ล้านบัญชี จาก 4.9 ล้านบัญชี เมื่อมิ.ย. ที่ผ่านมา และหากคิดเป็นหนี้รวมที่ 3.9 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 3.7 แสนล้านบาท และหากคิดเป็นจำนวนคนพบว่า มีลูกหนี้ที่อยู่ในรหัส 21 ทั้งสิ้น 3.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 3.4 ล้านคน
ทั้งนี้หากดูไส้ในของลูกหนี้กลุ่มรหัส 21 ที่มีจำนวนหนี้เสียอยู่ที่ 3.9 แสนล้านบาท หลักๆมาจากกลุ่มสินเชื่อรถยนต์และสินเชื่อบ้าน โดยสินเชื่อรถ มีหนี้เสียเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.9 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 39.4% จาก 2.81 หมื่นล้านบาท
ขณะที่สินเชื่อบ้านเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.9 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.3% จาก 5.3 หมื่นล้านบาท ของไตรมาสเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ หากดูลูกหนี้ในกลุ่ม 21 ส่วนใหญ่อยู่กับแบงก์รัฐเป็นหลัก ที่ 2.9 ล้านบัญชี แบงก์พาณิชย์ 5.23 แสนบัญชี และนอนแบงก์ 8.62 แสนบัญชี
นายสุรพล กล่าวว่า กลุ่มที่เครดิตบูโร ห่วงมากที่สุดคือ กลุ่มรหัส 21 ที่มีจำนวนคนที่ตกเป็นหนี้เสียค่อนข้างมาก ถึง3.5 ล้านคน ที่ไม่ได้ตั้งใจเป็นหนี้เสีย แต่เป็นสถานการณ์โควิด-19 ที่ต้องเร่งช่วยเหลือให้กลุ่มนี้สามารถออกจากกับปัญหาได้
อีกกลุ่มที่น่าห่วง คือ ลูกหนี้เอสเอ็มอีรายจิ๋ว ที่มีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ปัจจุบันมีหนี้เสียระดับสูงที่ 9.7% หรือคิดเป็นหนี้เสียรวมที่ 6.6 หมื่นล้านบาท และกลุ่มนี้มีแนวโน้มปรับโครงสร้างได้น้อยลง เนื่องจากกฏเกณฑ์กติกาที่อาจเข้มงวดขึ้นในอนาคต