คลังชงครม.12 ธ.ค.นี้ พักหนี้ลูกหนี้เอสเอ็มอี 6 หมื่นล้าน รัฐชดเชยดอกเบี้ย 1%
คลังชงครม.12 ธ.ค.นี้ พักหนี้เอสเอ็มอีรหัส 21 มูลหนี้รวม 6 หมื่นล้าน รัฐชดเชยดอกเบี้ย1% พร้อมเสนอปลดหนี้เสียให้ลูกหนี้รายย่อยสินเชื่อโควิดอีกราว 1 หมื่นล้าน เพื่อช่วยให้ลูกหนี้ดังกล่าวกลับมามีสถานะปกติ รับการช่วยเหลือลูกหนี้เสี่ยงต่อพฤติกรรมการเบี้ยวหนี้ในอนาคต
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 12 ธ.ค.นี้ กระทรวงการคลังจะเสนอมาตรการพักหนี้เพิ่มเติมในกลุ่มลูกหนี้เอสเอ็มอีรหัส 21 ซึ่งปัจจุบันเป็นหนี้เสียอยู่ในแบงก์รัฐที่มีมูลหนี้อยู่ประมาณ 5-6 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 99.5% ของลูกหนี้ทั้งหมดในรหัส 21 โดยจะมีการพักชำระหนี้วงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อราย เป็นเวลา 1 ปี และลดอัตราดอกเบี้ยให้เป็นกรณีพิเศษ โดยรัฐจะชดเชยให้ 1% ในส่วนเอสเอ็มอีที่เป็นหนี้เสียฝั่งแบงก์พาณิชย์นั้น จะเป็นชุดมาตรการแก้หนี้ในระบบ ที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะแถลงในวันที่ 12 ธ.ค.นี้
สำหรับ ลูกหนี้รายย่อยที่เป็นหนี้เสียนั้น กระทรวงการคลังจะเข้าไปดูแลในกลุ่มลูกหนี้ที่จัดอยู่ในโครงการสินเชื่อสู้ภัยโควิด ซึ่งดำเนินการปล่อยกู้ผ่านธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)รายละ 1 หมื่นบาท จำนวน 2 ล้านราย ซึ่งปัจจุบันพบว่า มีลูกหนี้อยู่จำนวน 1 ล้านรายที่เป็นหนี้เสีย โดยกระทรวงการคลังจะเข้าไปตัดหนี้เสียดังกล่าวให้
“สินเชื่อสู้ภัยโควิดนั้น ปัจจุบันพบว่ามีลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียอยู่กว่า 1 ล้านคน ซึ่งกลไกที่รัฐบาลช่วยนั้น ไม่ได้สร้างความเสียหายต่อรัฐเพิ่มเติม เนื่องจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบ ในการกันวงเงินเพื่อชดเชยความเสียหาไว้แล้ว ที่ 50% ของวงเงินทั้งหมดที่ 2 หมื่นล้านบาท ดังนั้น ก็จะนำเงินส่วนนี้มาชดเชยแทนลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียไปแล้ว”
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเผยว่า กระทรวงการคลังกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่เป็นหนี้เสียจากโครงการสินเชื่อฉุกเฉินช่วงโควิดจากธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. โดยในส่วนของธนาคารออมสินมีอยู่ประมาณ 5.7 พันล้านบาท ส่วน ธ.ก.ส. มีอยู่ประมาณ 3 พันล้านบาทซึ่งทางธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. ขอให้กระทรวงการคลังชำระหนี้ดังกล่าวให้ เพื่อให้ลูกหนี้ดังกล่าวกลับมามีสถานะปกติ
ทั้งนี้ ทางธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. ได้ดำเนินการสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อหนี้เสียดังกล่าวเรียบร้อยแล้วส่วนแนวทางการช่วยเหลือลูกหนี้เอสเอ็มอีนั้น เดิมกระทรวงการคลังมีแนวทางที่จะช่วยเหลือผ่านการพักหนี้ให้ แต่เนื่องจาก มูลหนี้รวมของเอสเอ็มอีนั้นมีจำนวนมาก จึงไม่สามารถดำเนินการผ่านแนวทางดังกล่าวได้ จึงเลือกที่จะใช้ช่องทางการปรับโครงสร้างหนี้แทน
รมช.คลังกล่าวด้วยว่า มีลูกหนี้หลายคนเข้าใจผิดว่า สินเชื่อฉุกเฉินนั้นเป็นมาตรการแจกเงินช่วยเหลือของรัฐ ทำให้ตนเองกลายเป็นลูกหนี้เอ็นพีแอลโดยไม่คาดหมาย ดังนั้น รัฐจึงพยายามเข้าไปช่วยเพื่อให้กลับมาเป็นลูกหนี้สถานะปกติ และลูกหนี้กลุ่มนี้ก็ไม่ได้ต้องผ่อนคืนรัฐอีก
นายจุลพันธ์กล่าวด้วยว่า กรณีการช่วยเหลือดังกล่าวจะเสี่ยงพฤติกรรมการไม่ใช้คืนหนี้ หรือ moral hazard หรือไม่ ต้องยอมรับว่า การแก้หนี้ พักหนี้ทุกรูปแบบนั้น มีโอกาสเสี่ยงเกิด moral hazard ทั้งหมด แต่ประเด็นในวันนี้ คือ รัฐบาลต้องการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจ และดึงคนกลุ่มดังกล่าวกลับมาสามารถเดินหน้าประกอบอาชีพได้
อย่างไรก็ดี ในฝั่งคนที่ลูกหนี้ดีที่ผ่อนครบถ้วน ก็จะได้รางวัล ทางแบงก์รัฐที่เป็นเจ้าหนี้ ก็จะให้สิทธิพิเศษอาทิ ลดดอกเบี้ยพิเศษ หรือเพิ่มวงเงินกู้ ในขณะเดียวกัน คนที่รัฐบาลช่วยมาจากหนี้เสีย ถึงแม้จะถูกช่วยจากรัฐบาลให้กลับมาปกติ แม้จะกลับมาขอสินเชื่อได้ แต่ก็ต้องถูกพิจารณาในเกณฑ์ของธนาคารตามปกติ ซึ่งอาจจะยากกว่าคนที่เคยผ่อนหมด
รมช.คลังกล่าวด้วยว่า สำหรับมาตรการพักหนี้นั้น รัฐบาลได้ดำเนินการพักหนี้เกษตรกรไปแล้ว ถือว่า ได้ดำเนินการในเฟสหนึ่งเรียบร้อยแล้ว โดยพักหนี้ให้ในส่วนที่มีมูลหนี้ไม่เกิน 3 แสนบาท ขณะเดียวกัน เราเตรียมดำเนินการในเฟสที่สอง ซึ่งจะพิจารณาพักหนี้ให้สำหรับผู้ที่มีมูลหนี้เกินกว่า 3 แสนบาท แต่แนวทางการพักเราจะพักให้เฉพาะวงมูลหนี้ 3 แสนบาทเท่านั้น
“กรณีที่ลูกหนี้มีมูลหนี้เกินกว่า 3 แสนบาท เราจะพักให้เฉพาะใน 3 แสนบาทแรกเท่านั้น เช่น มีมูลหนี้ 5 แสนบาท เราจะพักให้แค่ 3 แสนบาทแรก ส่วน 2 แสนบาทที่เหลือ จะต้องชำระหนี้ตามปกติ”