ตลท.สำรวจ บจ.ไทยปี 67 หวั่นลูกค้าจ่อเบี้ยวหนี้เพิ่ม

ตลท.สำรวจ บจ.ไทยปี 67   หวั่นลูกค้าจ่อเบี้ยวหนี้เพิ่ม

บจ.ไทย มีมุมมองบวกต่อเศรษฐกิจไทยปี 67 จะฟื้นตัวได้ดีจากปีก่อน ปัจจัยหนุนมากสุด คือ “ภาคการท่องเที่ยว” ปัจจัยเสี่ยง “หนี้ภาคครัวเรือน ” พร้อมกังวลปัญหาธุรกิจ “สภาพคล่อง” กระทบหนัก โดยเฉพาะการจ่ายคืนหนี้ของลูกหนี้การค้าที่เริ่มมีโอกาสหนี้สูญเพิ่มขึ้น

การสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนปี 2566-2567 (CEO Survey : Economic Outlook 2023-2024) จำนวน 68 บริษัท จาก 21 หมวดธุรกิจ รวมมูลค่ามาร์เก็ตแคป 26.2 % (31 ต.ค.2566) ของตลาดหลักทรัพย์และพันธมิตร  เกี่ยวกับเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การประกอบธุรกิจ และอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ระหว่าง 16 ส.ค.-30 ก.ย.2566    ผู้บริหาร บจ. ให้น้ำหนัก 76% คาดการณ์เศรษฐกิจไทย ปี 2567 จะเติบโตได้ดีกว่าปี 2566 มากกว่า 3% ซึ่งมีเพียง 10% มองว่าขยายตัวได้มากกว่า 4% 

ปัจจัยสนับสนุนอันดับ 1 ภาคการท่องเที่ยวให้น้ำหนัก 36.6%  อันดับ 2 นโยบายการคลังและการใช้จ่ายภาครัฐให้น้ำหนัก 22.2% อันดับ 3 เสถียรภาพการเมืองในประเทศ น้ำหนัก 9.3% ตามมาด้วย อันดับ 4 การส่งออก 7.6%  และอันดับ 5 กำลังซื้อภายในประเทศ 6.1% 

สวนทางกับปัจจัยเสี่ยง อันดับ 1 คือ หนี้ภาคครัวเรือน 18.2%  เป็นปัจจัยเสี่ยงตั้งแต่ปี 2566 และจะกลายเป็นความเสี่ยงหลักต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2567 ถัดมาอันดับ 2 และ 3 เท่ากัน 11.7% คือ เสถียรภาพการเมืองในประเทศ และเสถียรภาพการเมืองโลก ที่มีมุมมองว่าอาจเป็นตัวถ่วงการเติบโตของเศรษฐกิจไทย อันดับ 4 กำลังซื้อภายในประเทศ 8.8% และ อันดับ 5 ต้นทุนค่าจ้างแรง 7.3%      ส่วนเงินเฟ้อแม้จะไม่กังวลมาเพราะคาดว่าปี 2566 จะอยู่ที่ 2-3% ต่อเนื่อง 

กำไร บจ.มีโอกาสฟื้นแต่ห่วงต้นทุนธุรกิจ

ด้านผู้บริหาร บจ. ยังคาดการณ์ด้วยว่า ทิศทางรายได้ของธุรกิจปี 2567 ส่วนใหญ่ 97% มองว่ากลับมาเติบโตได้ในอัตราใกล้เคียงกับปี 2566 ที่ 10% ขึ้นไป  มีเพียงแค่ 3 % ให้น้ำหนักว่ารายได้จะหดตัว   ส่วนกำไรสุทธิปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อนเช่นกัน มีน้ำหนักมากถึง 41%  มีเพียง 17% คาดกำไรจะดีขึ้นมาก    แต่ยังมีบ้างส่วนถึง 23 % กำไรอยู่ในเกณฑ์แย่ลงบ้าง ส่วนที่แย่ลงมากอยู่ที่ 8% 

ปัจจัยที่มีผลต่อธุรกิจโดยเฉพาะการผลิตส่วนใหญ่คาดว่าทั้งต้นทุนค้าจ้างแรงงาน ราคาพลังงาน ต้นทุนวัตถุดิบจะปรับตัวเพิ่มชึ้นอย่างชัดเจน ขณะที่ราคาสินค้าและบริการมีแนวโน้มทรงตัวเช่นเดียวกับการจ้างงานและสภาพคล่องของกิจการ 

กังวลลูกหนี้-คู่ค้าเบี้ยวหนี้เกิดหนี้สูญ

ทั้งนี้การสำรวจยังสอบถามไปยังสภาพคล่องของบจ. ที่มีผลต่อธุรกิจปี 2566 ภาพรวมมีความกังวลเรื่องความยืดหยุ่นและผล กระทบจากภายนอกจะส่งผลจนเกิดปัญหามากที่สุดถึง 84 %     ทำให้ยอดขายลดลงจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า  รวมไปถึงการจ่ายคืนหนี้และการรับชำระหนี้ ที่ให้น้ำหนักเกิดปัญหามากที่สุด 50 %    จากการชำระเงินคืนของลูกหนี้การค้า  ถัดมา 36 % สินเชื่อทางการค้าที่ให้กับลูกค้าในประเทศ  ส่วนที่กังวลน้อยที่สุดคือการชำระคืนเงินกู้แก่ธนาคารที่ 7 % สอดคล้องกับการจัดหาแหล่งเงินทุนที่บจ.ไทยส่วนใหญ่ยังไม่มีปัญหากับการขอวงเงินสินเชื่อจะถูกจำกัด  หรือการขอสินเชื่อระยะยาวและระยะสั้นจากธนาคาร 

อย่างไรก็ตามจากพบว่า “ประเด็นสภาพคล่อง” ของบจ. มีปัญหาเพิ่มขึ้นพร้อมกันทั้ง 3 ด้าน  โดยเฉพาะ "ความสามารถในการจ่ายชำระหนี้ของลูกค้า"     "ยอดขายที่ลดลงของคู่ค้าต่างประเทศที่เศรษฐกิจชะลอตัว "  และเริ่มมี "ปัญหาการชำระสินเชื่อทางการค้าของลูกค้าเพิ่มขึ้น "  ทั้งจากปัญหาการค้าชะลอตัว  ความผันผวนของค่าเงินบาท รวมถึงปัญหาการเมืองในพม่าที่กระทบต่อการทำธุรกิจ  ส่งผลทำให้ลูกค้าทำการโอนเงินจากพม่าเข้ามาไทยได้ยากขึ้น และบางบริษัทเริ่มมีปัญหาหนี้สูญจากลูกค้าประเทศสหรัฐ 

ดังนั้นการดำเนินธุรกิจของบจ . ช่วงปี 2567 ผู้บริหารจึงให้น้ำหนักด้านการลงทุนเพิ่มขึ้นบ้างมากที่สุด 47 % ส่วนเพิ่มขึ้นมากเพียง 26% สวนทางกับผู้บริหาร บจ. อีก  27% ให้น้ำหนักลงทุนน้อยลงและไม่ลงทุนเลย  ซึ่งบจ. ที่คาดว่าลงทุนเพิ่มอยู่ในหมวดบริการรับเหมาก่อสร้าง  หมวดขนส่งโลจิสติกส์ หมวดสื่อสิ่งพิมพ์ หมวดการเงินและหลักทรัพย์