CEO ลดเป้าจีดีพีไทย ปีนี้เหลือ 2-3% แนะรัฐเร่งสร้างเครื่องยนต์ใหม่
ตลท.เผยผลสำรวจ ซีอีโอบจ. คาดจีดีพีไทยปีนี้โต 2-3% ลดลงจากเดิมคาดไว้ที่โต 3.1-4% ปี67 โต 3-4 % รับแรงหนุน"ท่องเที่ยว-นโยบายการคลัง-เบิกจ่ายภาครัฐ-การเมืองไทยนิ่ง" ปีหน้าห่วง"หนี้ครัวเรือน" แนะรัฐเร่งสร้างเครื่องยนต์ใหม่ ส่วนรายได้-กำไรบริษัท ยังโตเด่น10%ขึ้นไป
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) เปิดผลผลสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน(บจ.) :ทิศทางเศรษฐกิจ และข้อเสนอแนะต่อนโยบายรัฐบาล(SET CEO SURVEY: ECONOMIC OUTLOOK 2023 - 2024)เกี่ยวกับเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การประกอบธุรกิจ และประเด็นที่น่าสนใจ โดยรวบรวม ข้อมูลในช่วงวันที่ 16 ส.ค.- 30 ก.ย. 2566 มีบริษัทจดทะเบียนร่วมตอบแบบสอบถาม 68 บริษัท จาก 21 หมวดธุรกิจ 1 รวม 26.2% ของมูลค่าหลกัทรัพย์ตามราคาตลาด ณ 31 ต.ค.2566
ทั้งนี้พบว่า ซีอีโอส่วนใหญ่ คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี2566เติบโตอยู่ที่ 2-3% แต่ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่คาดเติบโตระดับ 3.1-4% ส่วนปี2567 คาดว่าจีดีพีโตได้ 3-4% สอดคล้องกับการคาดการณ์ ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ( IMF) คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี2567 จะเติบโตที่ระดับ 3.2%
โดยการท่องเที่ยว นโยบายการคลังและการใช้จ่ายภาครัฐ และเสถียรภาพการเมืองในประเทศ จะเป็นปัจจัยในการขับคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยในปี 2566 และต่อเนื่องในปี2567 โดยในส่วนของหนี้สินภาคครัวเรือน เป็นความเสี่ยงสำคัญมากสุดในปี 2567 รองมาเป็นเรื่องเสถียรภาพการเมืองในประเทศ เสถียรภาพการเมืองโลก กำลังซื้อภายในประเทศ ต้นทุนค่าจ้างแรงงาน
สำหรับรายได้ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) จะเติบโตในอัตราค่อนข้างสูง โดยซีอีโอบจ.คาดว่าในปี2566 ดีขึ้น โดยสัดส่วน 53% คาดว่ารายได้จะเติบโต 10% ขึ้นไป และเติบโตต่อเนื่องในปี2567 และคาดการณ์ว่ากำไรสุทธิบจ.ในปี2566 และปี 2567 ดีขึ้นในทิศทางเดียวกันกับรายได้
ขณะที่การลงทุนในปี 2566 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี2567 โดย สัดส่วน 56% ของ ซีอีโอที่ตอบแบบสอบถามคาดว่าจะมีการลงทุนเพิ่มในปี2566 และสัดส่วน 73% ของซีอีโอ คาดว่าจะมีการลงทุนเพิ่มในปี2567
แต่อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 ซีอีไอ มีความวิตกกังวลสูงเกี่ยวกับปัจจัยการผลิตทั้ง “ต้นทุนราคาเชื้อเพลิง” และ “ต้นทุนวัตถุดิบ" และ“ กำลังซื้อภายในประเทศ” ขณะที่การเปิดประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ” และการให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนจะเป็นปัจจัยที่คาดว่าจะส่งผลบวกต่อบริษัท
ฝ่ายวิจัยฯ ระบุว่า ซีอีโอ ชี้แนะรัฐบาลใหม่ออกนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ไม่สร้างภาระการคลัง ไม่บิดเบือนกลไกตลาด ให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมออกนโยบาย เร่งสร้างเ ครื่องยนต์ตัวใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ เช่น ออกมาตรการส่งเสริมโครงสร้างขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศที่ชัดเจน อาทิ มาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (news S curve) และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก , ออกนโยบายส่งเสริมการลงทุนตามโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG model
รวมถึงออกนโยบายสนับสนุนผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน พร้อมกระตุ้นทุกเครื่องยนต์ของเศรษฐกิจปัจจุบัน ตลอดจนการเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขัน ภาคเอกชน และส่งเสริมการแข่งขัน ที่เป็นธรรม ส่งเสริมรายอุตสาหกรรมและการส่งเสริมแรงงาน