ธนาคารโลก มองเศรษฐกิจไทยปี67 ฟื้น จีดีพีโต3.2% ‘ส่งออก-ท่องเที่ยว‘ หนุน
ธนาคารโลก มองเศรษฐกิจไทยปี67 โต3.2% ฟื้นจากปีนี้ โต2.5% รับแรงส่ง ท่องเที่ยว- ส่งออก การบริโภค-ภาคเอกชนมั่นคง - เศรษฐกิจสีเขียวหนุนเติบโตยั่งยืน มองดิจิทัลวอลเลต ช่วยดันจีดีพีเพิ่มอีก 0.5-1% ในช่วงปี67-68 หนี้สาธารณะ ขยับขึ้นแตะ65-66%
นายฟาบริชิโอ ซาร์โคเน ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย ธนาคารโลก กล่าวว่า ธนาคารโลก คาดการณ์ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยจะเพิ่มขึ้นจาก 2.5% ในปี 2566 เป็น 3.2 % ในปี 2567 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้า และการบริโภค ภาคเอกชนที่มั่นคง คาดว่าจะเป็นแรงผลักดันสำคัญในการเติบโต
จากการเปิดตัวรายงานตามติดเศรษฐกิจไทยล่าสุด (14 ธ.ค.2566) ระบุว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2566 ได้รับผลกระทบจากการหดตัวของการส่งออกสินค้าและการลดการใช้จ่ายภาครัฐ แต่คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้มากขึ้นในระดับปานกลางที่3.1%ในปี 2568
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะชะลอตัวลงสู่1.1% ในปี 2567 เนื่องจากราคาพลังงานที่ลดลง อย่างไรก็ตาม คาดว่าราคา อาหารจะเพิ่มขึ้น ผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่มีการวางแผนไว้ซึ่งมูลค่าโครงการ 500,000 ล้านบาท คิดเป็นประมาณ 2.7%ของจีดีพี
โดยหากมีการดำเนินโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัลในเดือน พ.ค.2567 คาดว่าจะสามารถกระตุ้นการเติบโตในระยะสั้นได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 -1% ของ จีดีพี ในช่วงระยะเวลา 2 ปี (ระหว่างปี 2567 -2568 ) แต่จะส่งผลให้การขาดดุลทางการคลังอาจเพิ่มขึ้นเป็น4-5% ของ จีดีพี ใกล้ระดับเฉลี่ยในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดโควิด-19 ในปี2563-2565 ในขณะที่หนี้สาธารณะอาจเพิ่มสูงขึ้นถึง 65-66% ของ จีดีพี
ทางด้านการส่งออกสินค้าในปี 2567 คาดว่าจะฟื้นตัว โดยได้รับแรงหนุนจากการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่คาดการณ์ไว้ และภาวะการเงินโลกที่คาดว่าจะผ่อนคลายลง แม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวก็ตาม
ในส่วนการกลับมาของนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะจากประเทศจีน ส่งผลต่อแนวโน้มการท่องเที่ยว แม้ว่าการพื้นตัวจะช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ในตอนแรกก็ตาม ในปี 2567 คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นเป็น 35.8 ล้านคน หรือคิดเป็น90% ของระดับก่อนการแพร่ระบาดโควิดในปี 2562 เพิ่มขึ้นจากประมาณ 28.3 ล้านคนในปี 2566
ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่รุนแรงขึ้นและราคาน้ำมันที่สูงอาจทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งเนื่องจากประเทศไทยมีการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานสูงกลายเป็นความเสี่ยงด้านลบต่อแนวโน้มทางเศรษฐกิจ
ดังนั้น การก้าวไปสู่เส้นทางการเติบโตแบบคาร์บอนต่ำจะสามารถช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ลดการเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม และทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำระดับภูมิภาคในด้านการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน
บทความพิเศษของรายงานพบว่าการกำหนดราคาคาร์บอน ไม่ว่าจะผ่านภาษีคาร์บอนหรือระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีความสำคัญอย่างยิ่งในการบรรลุเป้าหมายอันทะเยอทะยานในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประเทศไทยอาจใช้การกำหนดราคาคาร์บอนมากขึ้นเพื่อรักษาระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
แต่จะต้องมีมาตรการเพิ่มเติมหรือราคาคาร์บอนที่สูงมากเพื่อลดการปล่อยก๊าซ ตัวอย่างมาตรการเพิ่มเติม เช่น การสร้างโครงสร้างพื้นฐานของรถยนต์ไฟฟ้าหรือการฝึกอบรมการติดตั้งแผง
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ดำเนินนโยบายหลายประการเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและได้ดำเนินการขั้นแรกเพื่อใช้การกำหนดราคาคาร์บอนอย่างครอบคลุม การซื้อ-ขายการปล่อยก๊าซภาคสมัครใจได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558 นโยบายเหล่านี้แม้จะช่วยจำกัดการเติบโตของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอนาคตแต่ประเทศไทยจำเป็นต้องมีความทะเยอทะยานเชิงนโยบายเพิ่มขึ้น เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายในปัจจุบัน