ตลท.ปักหมุด เข็น บจ.เปิดเผยข้อมูล Carbon Footprint ปูทางสู่ความยั่งยืน

ตลท.ปักหมุด เข็น บจ.เปิดเผยข้อมูล Carbon Footprint ปูทางสู่ความยั่งยืน

ตลท. ตั้งเป้าเข็นบริษัทจดทะเบียน เปิดเผยข้อมูล Carbon Footprint และตั้งเป้าการลดก๊าซคาร์บอนมากขึ้น ปูทางสู่ความยั่งยืนในการทำธุรกิจมากขึ้น เอื้อธุรกิจลดต้นทุน สร้างความเชื่อมั่น ความโปร่งใสต่อนักลงทุนเพิ่ม ง่ายต่อการระดมทุนเพิ่มในอนาคต

นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร และหัวหน้าสายงาน พัฒนาความยั่งยืน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวในหัวข้อ New Challenge to be Chance ว่า โจทย์ที่ท้าทายของตลาดหลักทรัพย์คือ การโน้มน้าวให้ ทั้งบริษัทจดทะเบียน และนักลงทุน ตระหนักว่า การทำให้สังคมเกิดความยั่งยืน หรือการมี Low carbon จะทำให้ทั้งองคาพยพมีความยั่งยืนมากขึ้น ไม่ใช่ทำเพราะถูกบังคับด้วยกฎระเบียบ หรือ Regulation

ดังนั้นเป้าหมายของ ตลท.คือ การทำให้คนทั้งสองกลุ่ม ทั้งบริษัทจดทะเบียน และนักลงทุนมองข้ามความยาก และมองว่าเหล่านี้คือ โอกาสในการทำธุรกิจในอนาคตมากขึ้น ที่จะนำไปสู่การมีผลตอบแทน และความยั่งยืน ที่ทั้งบริษัท และนักลงทุนจะได้ประโยชน์มากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม หากดูบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จาก 800 กว่าบริษัท มีเพียง 55 บริษัทเท่านั้น ที่มีการเปิดเผยข้อมูล Carbon Footprint  และมีการตั้งเป้าในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน

ดังนั้นโจทย์ของ ตลท.คือ ทำอย่างไร ให้มีจำนวนบริษัทที่ทำเรื่องนี้มากขึ้น ที่ผ่านมากระทรวงการคลัง มีการออก กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน หรือ TESG โดยสามารถลงทุนใน 22กองทุน หรือหุ้นไทยที่ยั่งยืนตามเกณฑ์ ESG ratings เหล่านี้ประโยชน์ไม่เฉพาะการเอื้อในการช่วยลดภาษี แต่สิ่งที่ ตลท.อยากเห็นคือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของบริษัทต่างๆ เพื่อมุ่งไปสู่ความยั่งยืน หรือ ESG มากขึ้น

ดังนั้นหวังว่า การผลักดันเรื่อง TESG จะหนุนให้บริษัทจดทะเบียนหันมาเรื่องเหล่านี้มากขึ้น และในปีหน้าจะเห็นบริษัทมากว่า 55 บริษัท ที่มีการเปิดเผยข้อมูล Carbon Footprint 

การดำเนินธุรกิจภายใต้ความยั่งยืน มองว่า นำไปสู่โอกาสหลายด้าน ทั้งการสร้างความโปร่งใสในการรายงาน และความเชื่อมั่นต่อการแก้ไขด้าน Climate crisis หากบริษัทมีการเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้มากขึ้น จะทำให้นักลงทุนเห็นทิศทางที่ชัดเจน อนาคตจะนำไปสู่การตัดสินใจเข้ามาลงทุนของนักลงทุนมากขึ้น 

ถัดมา สามารถเปลี่ยนกระแสตรงนี้ให้เป็นสินค้าหรือบริการใหม่ สอดคล้องกับกระแสความยั่งยืนมากขึ้น นอกจากนี้ยังสร้างโอกาสในการปรับกลยุทธ์เพื่อรองรับ Low Carbon Economy และสุดท้าย สร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสีเขียว หรือ Green finance มากขึ้น ปัจจุบันมีเม็ดเงินจำนวนมาก ที่เข้ามาสู่ระบบเพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนด้านความยั่งยืน

โดยปัจจุบันมีกองทุนที่เกี่ยวกับ ESG มากขึ้นกว่า 60 กองทุน จาก 5 ปีก่อนที่มีเพียง 10 กองทุน และหากรวมกองทุน TESG จะมีหลัก 100 กองทุน ที่อยู่ภายใต้ ESG ที่มีเงินจำนวนมาก ดังนั้นหากภาคธุรกิจสามารถปรับตัวไปสู่ธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จะยิ่งเป็นการเปิดโอกาสในการเข้าสู่กระแสเงินทุนได้มากขึ้นในอนาคต 

“โจทย์และความท้าทายของ ตลท.คือ ทำอย่างไรให้บริษัทส่วนใหญ่ทำตระหนัก และทำเรื่องนี้มากขึ้น และสิ่งที่เราอยากเห็นคือ ต้องการเห็นการปรับพฤติกรรมของบริษัทไปสู่ความยั่งยืนมากขึ้น เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และมองเรื่องว่าการทำเรื่องนี้ ไม่เฉพาะเป็นการลดต้นทุนทางธุรกิจ แต่จะนำไปสู่โอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจมากขึ้น” 

สำหรับบทบาทของตลาดหลักทรัพย์ในการสนับสนุนในด้านความยั่งยืน เช่น การสร้างความตระหนักรู้ ด้านความยั่งยืน และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หรือการมี Data platform เพื่อช่วยให้บริษัทจดทะเบียนสามารถคำนวณการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ได้มากขึ้น และทำให้บริษัทต่างๆ มีข้อมูลที่สามารถนำไปใช้ปรับตัวได้มากขึ้น และการตั้งเป้าของตลาดหลักทรัพย์ที่ไปสู่ Net Zero เพื่อวางเป้าหมายในการสนับสนุนไปสู่ความยั่งยืนมากขึ้น 

“ความท้าทายที่สุด ในการทำเรื่องความยั่งยืนคือ การเปลี่ยน Mindset หากเริ่มต้นว่าไม่เกี่ยวกับเรา ยากเกินไป ทำหรือไม่ทำเป็นเรื่องของภาครัฐ ไม่ใช่ภาคเอกชน ก็จบ แต่มุมกลับกัน ไม่ใช่แค่การลดต้นทุน แต่เหล่านี้คือโอกาสในการต่อยอดให้เกิดธุรกิจใหม่ และสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น ก็จะทำให้มีกำลังใจในการทำสิ่งเหล่านี้มากขึ้น” 
 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์