‘สินมั่นคง ’เร่งแผนเพิ่มทุน คปภ.ขีดเส้นตาย 60 วัน แก้ไขฐานะการเงิน
คปภ. คุมกิจการ “สินมั่นคง” ป้องกันโยกย้ายเงินออก-ดูแลผู้เอาประกัน หลังศาลยกเลิกฟื้นฟู พร้อมดำเนินคดีหากผู้บริหารกระทำผิด “ส.ประกันวินาศภัยฯ” ลุ้น 60 วัน “สินมั่นคง” ส่งแผนเพิ่มทุน หากไม่สำเร็จ “กองทุนฯ” อ่วมแบกภาระหนี้ 3 หมื่นล้าน เสนอรัฐช่วยเร่งบริหารลดหนี้ดังกล่าว
รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) เปิดเผยว่า ได้ออกเอกสารชี้แจงผลการประชุม คปภ. มีมติให้ บมจ.สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. เป็นต้นไป หลังศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ
กรณีที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ อำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ คือ บริษัท จึงกลับไปเป็นของผู้บริหาร และให้ผู้ถือหุ้นของบริษัทกลับมีสิทธิตามกฎหมายต่อไป ทำให้บริษัทสามารถเคลื่อนย้าย หรือจำหน่ายทรัพย์สินของบริษัทได้ ประกอบกับบริษัทมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน และมีเงินกองทุนต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมาย บริษัทจึงมีฐานะและการดำเนินการอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน
คณะกรรมการ คปภ. พิจารณาจากพฤติการณ์และหลักฐานต่าง ๆ ดังกล่าวโดยละเอียดแล้ว เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายต่อผู้เอาประกันภัยและประชาชน จึงเห็นชอบให้นายทะเบียนใช้อำนาจ สั่งให้บริษัท สินมั่นคงประกันภัย หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว
โดยการออกคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าวจะช่วยให้ คปภ. คุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนได้อย่างเต็มที่ และตามประกาศนายทะเบียน เรื่อง กำหนดการจ่ายเงินของบริษัทที่นายทะเบียนมีคำสั่งให้หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ที่สำคัญยังทำให้ คปภ. สามารถเข้าไปควบคุมการจ่ายเงินต่าง ๆ ของบริษัทได้ทั้งหมด
อีกทั้งได้สั่งการไปยังสายตรวจสอบ สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สายงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสำนักงาน คปภ. จังหวัดทั่วประเทศ ตรวจสอบสาขา/สำนักงานตัวแทนของบริษัท ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบและให้ดำเนินการแจ้งการสั่งหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัท/ตัวแทน/นายหน้าประกันภัยขายกรมธรรม์รายใหม่ในระหว่างการหยุดรับประกันภัย
นอกจากนี้ ยังได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะเจ้าหน้าที่เข้าไปประจำที่บริษัทอย่างเต็มพิกัด เพื่อควบคุมให้บริษัทดำเนินการให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการและผู้บริหารของบริษัท สำนักงาน คปภ. จะตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ หากพบว่ามีการกระทำความผิดจะดำเนินการตามมาตรการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด
นายสมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ทิพยประกันภัย และในฐานะนายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า ได้รับทราบปัญหากรณี บมจ.สินมั่นคงประกันภัย ถูกศาลล้มละลายกลางยกเลิกการทำฟื้นฟูกิจการแล้ว ซึ่งหลังจากนี้ทางบริษัทมีเวลาอีก 60 วันในการทำแผนเพิ่มทุนตามที่ คปภ.กำหนด
ขณะนี้ บมจ.สินมั่นคงประกันภัยพยายามหาทางแก้ไขปัญหา เช่น ผ่องถ่ายพนักงานไปยังบริษัทประกันบางแห่งต่อไปอาจจะเห็นการนำพอร์ตประกันภัยบางส่วนไปให้บริษัทประกันอื่นบริหารต่อ
อย่างไรก็ตาม หากสินมั่นคงฯ ไม่สามารถเพิ่มทุนได้ต้องถูกเพิกถอนใบอนุญาต จะส่งผลให้หนี้ค้างของสินมั่นคงฯ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 30,000 ล้านบาท ต้องถูกย้ายไปที่กองทุนประกันวินาศภัยแทน และจะส่งผลให้กองทุนฯ มีภาระหนี้เพิ่มขึ้นจาก 50,000 ล้านบาท เป็น 80,000 ล้านบาท อาจจะกลายเป็นปัญหาในการชำระแก่เจ้าหนี้หรือผู้เคลมประกันในอนาคต เนื่องจากปัจจุบันกองทุนฯ เหลือสภาพคล่องเพียงแค่ 1,500 ล้านบาทเท่านั้น
"ที่ผ่านมาบริษัทสมาชิกฯ ได้มีการเข้าไปช่วยเหลือบ้างแล้ว อาทิ การเพิ่มเงินนำส่งเข้ากองทุนฯ จาก 0.25% เป็น 0.5% ซึ่งทำให้กองทุนมีรายได้เพิ่มจากปีละ 700 ล้านบาทเป็น 1,400 ล้านบาท แต่ก็มองว่าไม่น่าพอเมื่อเทียบกับภาระหนี้ที่อยู่ทั้งหมด"
ส่วนแนวคิดที่อาจจะมีการแก้กฎหมายเพื่อขอให้สมาชิกบริษัทประกันวินาศภัยต้องส่ง เงินเข้ากองทุนเพิ่มเป็น 2% นั้น มองว่าเป็นอัตราที่สูงเกินไปอาจจะทำให้เกิดวิกฤติในอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยได้ เพราะปัจจุบันบริษัทต่างๆ ก็มีกำไรอยู่ในระดับไม่ถึง 5%
"เชื่อว่าภาครัฐคงตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวดี ซึ่งส่วนตัวอยากให้หน่วยงานที่กำกับดูแลพยายามสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนให้รับทราบถึงข้อมูลที่แท้จริงเพื่อนำไปบริหารจัดการกองหนี้ ให้มีขนาดลงจากจาก 30,000 ล้านบาทก็เป็นได้ ขณะเดียวกันบริษัทสมาชิกประกันวินาศภัย ก็พร้อมเข้าไปช่วยดูแลรับผิดชอบผู้ทำประกันบางส่วนจากสินมั่นคง ให้สามารถได้รับความคุ้มครองต่อไปได้ เพื่อช่วยรักษาความน่าเชื่อถือให้แก่อุตสาหกรรมประกันภัยต่อไป"