ฮ่องกงในวันที่ ‘แสงนีออนทางเศรษฐกิจ’ ดับลง จากความไร้เสถียรภาพของเศรษฐกิจจีน
"ภาคธุรกิจ" ในฮ่องกงได้รับอานิสงส์จากการเติบโตของเศรษฐกิจจีนอย่างมากตั้งแต่อังกฤษส่งคืนเกาะให้จีนในวันที่ 1 ก.ค.2540 โดยร้านค้าเคยทำเงินจากนักธุรกิจชาวจีนได้มากที่สุดจากสินค้าฟุ่มเฟือยถึง 4.8 แสนบาทต่อเดือน ทว่าหลังโควิด-19 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีนชะลอตัว และกระทบเศรษฐกิจฮ่องกงอย่างมากเช่นกัน
จริงๆ แล้วโรซาน หว่อง (Rosanne Wong) ควรที่จะมีความสุขกับ “ปีแห่งการฟื้นตัว” ที่ร้านซิการ์สี่แห่งในฮ่องกงของเธอหลังจากในที่สุดข้อห้ามต่างๆ จากโควิดก็ถูกยกเลิกเมื่อต้นปี และนักท่องเที่ยวชาวจีนแผ่นดินใหญ่กระเป๋าหนักเริ่มมุ่งหน้ากลับมาที่ฮ่องกง
ที่ผ่านมา "ซิการ์คิวบาม้วนด้วยมือ" ได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม โดยราคาซิการ์บางประเภทที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด ราคานั้นมีสิทธิเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าในช่วงสามปีที่ผ่านมา
แต่น่าเศร้าที่ในช่วงฤดูท่องเที่ยวช่วงเดือนต.ค.ซึ่งตรงกับวันหยุด “โกลเด้นวีค” ของจีนที่ผ่านมา กลับพบว่ายอดขายลดลงประมาณ 30% เมื่อเทียบกับต้นปี
หว่อง กล่าวว่า นักท่องเที่ยวกระเป๋าหนักส่วนใหญ่เป็นชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่ทํางานในอุตสาหกรรมการเงินของฮ่องกง และพวกเขา "เต็มใจ และสามารถซื้อซิการ์คุณภาพสูงได้" โดยพวกเขาเคยใช้จ่ายสูงถึง 100,000 ดอลลาร์ฮ่องกง หรือ 12,800 ดอลลาร์ (ประมาณ 4.8 แสนบาท) ในแต่ละเดือน
แต่ "วันนี้พวกเขาไม่เต็มใจที่จะเทกระจาดเงินเหล่านั้นอีกแล้ว"
ประสบการณ์ของเธอแสดงให้เห็นว่า การพึ่งพาจีนที่เพิ่มขึ้นกลายเป็นพรที่ผสมผสาน (Mixed Blessing) ที่มีทั้งเรื่องดี และเรื่องร้ายปนกันไปกันอย่างชัดเจน โดยตอนนี้ชาวฮ่องกงจำนวนมากพบว่าตัวเองผูกติดอยู่กับเศรษฐกิจแผ่นดินใหญ่ที่ชะลอตัวมากเกินไป
นอกจากนี้ การแข่งขันจากตลาดทุนจีน และการปราบปรามทางการเมืองโดยรัฐบาลจีนทําให้ฮ่องกงต้องเผชิญกับ "วิกฤติการมีอยู่ในฐานะศูนย์กลางทางการเงินระหว่างประเทศที่สําคัญ" หรือ An Existential Crisis as a Major International Financial Centre ตามรายงานของเอสวาร์ ปราสาด (Eswar Prasad) นักเศรษฐศาสตร์ และศาสตราจารย์ด้านนโยบายการค้าที่มหาวิทยาลัยคอร์เนล และศิษย์เก่าอาวุโสที่สถาบันบรูคกิงส์
ในทางกลับกันก็เป็นเวลาหลายทศวรรษที่เขตบริหารพิเศษแห่งนี้ได้รับประโยชน์จากการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของจีน เพราะเศรษฐกิจของฮ่องกงก็เติบโตเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าระหว่างการกลับสู่จีนในปี 2540 และช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19
แต่ในช่วงสามปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจฮ่องกงถูกโจมตีโดยนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero-Covid) ที่เข้มงวด โดยรัฐบาลของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ผ่านการออกกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติที่บังคับใช้หลังจากการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย และจากนั้นการชะลอตัวของเศรษฐกิจหลังโควิดของจีนก็ได้จากการภาคบริโภค และการลงทุนในฮ่องกงให้ลดต่ำลงไปด้วย
ความคาดหวังของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังโควิดเปลี่ยนไปมา โดยการฟื้นตัวดังกล่าวปรับไปในทิศทางที่น่าเศร้าจนกระทั่งพอล ชาน (Paul Chan) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของฮ่องกงต้องปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจประจําปีของเมืองเหลือเพียง 3% จากที่คาดการณ์ไว้ที่ 5.5% ในช่วงต้นปี
รวมทั้ง ก่อนหน้านี้ในเดือนธ.ค. มูดี้ส์ (Moody’s) เพิ่งจะปรับลดมุมมองเกี่ยวกับอันดับเครดิตของฮ่องกง (Sovereign Credit Rating) เป็นติดลบ เพียงหนึ่งวันหลังจากการปรับลดเครดิตของประเทศจีนลง
จากเหตุการณ์ดังกล่าว มูดี้ส์ระบุในแถลงการณ์ว่า
ท่าทีครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึง "การประเมินความเชื่อมโยงทางการเมือง สถาบันเศรษฐกิจ และการเงินที่แน่นแฟ้นระหว่างฮ่องกง และจีนแผ่นดินใหญ่" โดยเสริมว่า มุมมองเชิงลบต่อการจัดอันดับของจีนจึงแสดงถึงมุมมองเชิงลบต่อการจัดอันดับของฮ่องกงด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ ขอบเขตที่เพิ่มขึ้นของการแทรกแซงทางการเมืองของรัฐบาลจีนในเมืองอย่างฮ่องกงที่ควรจะมีระดับความเป็นอิสระทางการเมืองสูงยังส่งผลให้เกิดความกังวลในหมู่บริษัทข้ามชาติที่มองว่าฮ่องกงนั้นเคยเป็นประตูสู่จีน
โดยเหล่านักธุรกิจต่างตั้งคําถามว่าจุดเด่นของระบบฮ่องกง ที่มีภาษีต่ำ ระบบกฎหมายที่โปร่งใส ตุลาการอิสระและสกุลเงินที่ตรึงดอลลาร์ จะสามารถทนกับสภาวะเช่นนี้ได้นานแค่ไหน เพราะปัจจุบันบริษัทบางแห่งที่ระวังการควบคุมที่เพิ่มขึ้นของรัฐบาลจีน และให้ความสําคัญกับความมั่นคงมากกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ย้ายไปที่ศูนย์กลางทางการเงินอื่น ๆ เช่น สิงคโปร์เรียบร้อยแล้ว และผู้คนมากกว่า 140,000 คนจากประชากร 7.5 ล้านคน ออกจากดินแดนแห่งนี้ในช่วงสองปีที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน
ขณะนี้ฮ่องกง "อยู่ภายใต้นิ้วหัวแม่มือของรัฐบาลจีนอย่างแน่นหนา" ปราสาด กล่าว พร้อมเตือนว่า ความไม่โปร่งใสของการบริหารประเทศรวมทั้งการเก็บภาษีมีส่วนทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนแย่ลง
อ้างอิง
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์