‘จีน’เปลี่ยนผู้นำประเทศ กระทบสมดุลอํานาจ การคลังและเศรษฐกิจ ‘สั่นคลอน’

‘จีน’เปลี่ยนผู้นำประเทศ กระทบสมดุลอํานาจ การคลังและเศรษฐกิจ ‘สั่นคลอน’

การเปลี่ยนผู้นำประเทศของ “จีน”ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อาจเป็นต้นกำเนิดของสมดุลอํานาจทางการคลังระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลท้องถิ่นที่ตอนนี้อยู่ในภาวะ “สั่นคลอน” มาเป็นเวลากว่าทศวรรษ ซึ่งกระทบต่อความเจริญรุ่งเรืองของ”เศรษฐกิจ”ในระยะยาว

Keypoint : 

  • Lying Flat วลีที่สะท้อนปัญหาผลกระทบเชิงลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว
  • จีนประกาศจะออกพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มเติมอีก 1 ล้านล้านหยวน หรือราว 1.37 แสนล้านดอลลาร์เพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ 
  • เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานท้องถิ่น รอให้รัฐบาลกลางออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยไม่ต้องทำอะไรเลย
  • รัฐบาลท้องถิ่นพึ่งพารัฐบาลกลางมากเกินไป ทำให้ส่งผลกระทบต่อความเจริญรุ่งเรืองของ”เศรษฐกิจ”

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานถึงเศรษฐกิจจีน หลังจากที่รัฐบาลกลางของจีนเพิ่มการกู้ยืมเงินมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่นนอกงบดุลหรือ Local Government Financing Vehicle (LGFV) จีนที่นำเงินไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ สูงค้ำคอ ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 9.3 แสนล้านหยวน 

ทำให้เมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา จีนประกาศจะออกพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มเติมอีก 1 ล้านล้านหยวน หรือราว 1.37 แสนล้านดอลลาร์ในไตรมาส 4 ปี 2566 ที่ผ่านมา เพื่อบูรณะซ่อมแซมพื้นที่ซึ่งได้รับหายนะจากภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งใหญ่ และปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ 

การออกพันธบัตรดังกล่าวจะทำให้การขาดดุลงบประมาณปี 2566 ขยับขึ้นจาก 3% เป็น 3.8% ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยได้เห็นนักที่จีนจะยอมให้มีการเพิ่มการขาดดุล ทำให้นักวิเคราะห์บางคนมองว่ากลยุทธ์นี้ เป็นจุดเริ่มต้นของการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ระหว่างรัฐบาลและอาจทําให้แรงผลักดันในการออกนโยบายใหม่อ่อนแอลง

รัฐบาลท้องถิ่น พึ่งพารายได้รัฐบาลกลางมากเกินไป 

‘จีน’เปลี่ยนผู้นำประเทศ กระทบสมดุลอํานาจ การคลังและเศรษฐกิจ ‘สั่นคลอน’

เล่อ เซียะ ( Le Xia) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์เอเชียของ Banco Bilbao Vizcaya Argentaria SA กล่าวว่า การที่รัฐบาลท้องถิ่นพึ่งพารัฐบาลกลางในระยะยาว จะทำให้ความทะเยอทะยานของรัฐบาลท้องถิ่น ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในท้องถิ่นในรูปแบบนวัตกรรมใหม่ๆ ไม่เกิดขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความเจริญรุ่งเรืองของ”เศรษฐกิจ

อีกสิ่งหนึ่งที่อาจทำให้เศรษฐกิจเติบโตเพื่อไปถึงเป้าหมายของ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในการเป็น "ประเทศพัฒนาขนาดกลาง" ภายในปี 2573 เกิดขึ้นได้”ยาก” กว่าเดิม คือการเฉยเมยของผู้นำท้องถิ่น ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่าเศรษฐกิจจีนจะต้องขยายตัวถึงปีละประมาณ 4.7% โดยเฉลี่ยในแต่ละปี นั่นอาจเป็นเป้าหมายที่ทะเยอทะยานเกินไปหรือไม่

ข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดที่แสดงให้เห็นถึงภาวะอ่อนตัวในจีน ทำให้นักเศรษฐศาสตร์บางรายเริ่มออกมาพูดถึงความเสี่ยงที่จีนจะต้องรับมือและข้ามผ่านเพื่อให้อัตราการขยายตัวไปถึงเป้าหมาย 5% ในปีนี้ โดยรัฐบาลไม่ต้องควักเงินออกมาช่วยกระตุ้นเลย

ทั้งนี้ เป้าหมายจีดีพีที่ 5% นั้นยังสูงกว่าที่ประเทศเศรษฐกิจชั้นนำหลายประเทศตั้งให้ตนเอง แต่เนื่องจากจีนนั้นใช้งบราว 40% ของจีดีพีในแต่ละปีเพื่อนำไปลงทุนในประเทศ ซึ่งสูงกว่างบของสหรัฐฯ ถึง 2 เท่า นักเศรษฐศาสตร์มองว่า เป้าหมายที่ว่านี้เป็นตัวเลขที่น่าผิดหวังอยู่ดี

นอกจากนั้น ยังมีประเด็นความไม่แน่นอนเกี่ยวกับจุดยืนของรัฐบาลเกี่ยวกับการดำเนินมาตรการกระตุ้นทางการคลังครั้งใหญ่ เพราะปัจจุบัน กรุงปักกิ่งยังมีปัญหาภาระหนี้ในระดับเทศบาลที่สูงค้ำคออยู่

 สมดุลอํานาจทางการคลัง”สั่นคลอน”

ช่วงเวลากว่าทศวรรษที่ผ่านมา ความสมดุลของอํานาจทางการคลังระหว่างรัฐบาลกลางและท้องถิ่น”สั่นคลอน” มาเป็นระยะเวลานาน ตั้งแต่ในช่วงพ.ศ.2558

โดย จู หรงจือ (Zhu Rongji) อดีตนายกรัฐมนตรีจีน ได้แก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ถดถอยทั่วโลก เมื่อครั้งที่เกิดวิกฤตการเงินโลกในปี พ.ศ.2551-2552 และเหตุการณ์ไหลออกของเงินทุนในปี พ.ศ.2558 รัฐบาลจีนสามารถเร่งฟื้นฟูความมั่นใจของประชาชนด้วยมาตรการกระตุ้นแบบฉับพลันผ่านการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและการส่งเสริมให้มีการเก็งกำไรตลาดอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

แต่การยกเครื่องโครงสร้างพื้นฐานนั้นกลับนำมาซึ่งภาระหนี้ที่สูงเกินไป และท้ายสุดก็เกิดภาวะฟองสบู่แตกในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อันนำมาซึ่งความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางการเงินในทุกวันนี้ และเพราะการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานของจีนใช้การกู้ยืมเงินมาสนับสนุน 

ขณะที่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวจนถึงจุดสูงสุดแล้ว และภาคการส่งออกก็ชะลอตัวตามทิศทางเศรษฐกิจโลก รัฐบาลกรุงปักกิ่งมีทางเดียวที่จะพึ่งเพื่อมาหนุนนำเศรษฐกิจของประเทศ และนั่นก็คือ การบริโภคภาคครัวเรือน

แต่ในกรณีของสถานการณ์ปัจจุบัน ภาวะชะลอตัวที่เกิดขึ้นต่างไปจากเดิม เพราะการที่จีนจะกลับมาฟื้นตัวได้สำเร็จหรือไม่ในครั้งนี้ ปัจจัยสำคัญอยู่ที่ว่า รัฐบาลปักกิ่งจะสามารถโน้มน้าวให้ภาคครัวเรือนยอมใช้จ่ายมากกว่าที่เป็นอยู่และออมให้น้อยลงได้หรือไม่ และจะยอมเดินหน้าทำการดังกล่าวจนทำให้ความต้องการผู้บริโภคสูงจนชดเชยภาวะอ่อนตัวต่าง ๆ ของเศรษฐกิจของประเทศเลยหรือไม่

กลายเป็นรูปแบบการเติบโตของเศรษฐกิจที่ไม่ยั่งยืน เมื่อเกิดวิกฤติในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของประเทศทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบให้ยอดหนี้  LGFVs ในบางภูมิภาคเริ่มสั่นคลอนจากการผิดนัดชําระหนี้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ปีที่แล้ว หลี่ เค่อเฉียง อดีตนายกรัฐมนตรีจีน เตือนว่าการเติบโตประจําปีมีความเสี่ยงที่จะไม่เป็นไปตามคาดการณ์หากเจ้าหน้าที่ไม่ดําเนินการอย่างเด็ดขาดเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดจากนโยบาย โควิดเป็นศูนย์ (zero-COVID)  เช่น การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานในเศรษฐกิจ

Lying Flat Award

ณ มณฑล หลี่ซุ่ย ที่อยู่ทางตะวันออกของจีนให้รางวัล "Lying Flat Award" แก่หน่วยงานของรัฐสามแห่งเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งสร้างความอับอายเพราะการบริหารที่ไม่ได้เรื่อง ทั้งการทำเกษตรกรรมและปศุสัตว์ในมองโกเลียที่เจ้าหน้าที่ทํางานล้มเหลว

“Lying flat” หรือในภาษาจีนเรียกว่า tǎng píng หมายถึงภาวะที่คนรุ่นใหม่ใช้ชีวิตไร้ความทะเยอทะยาน มีความต้องการต่ำเพียงแค่ให้พออยู่รอด เลิกล้มแนวคิดเรียนจบการศึกษาระดับสูง ทำงานหนักเก็บออมซื้อบ้านหรือแม้กระทั่งสร้างครอบครัว

โดยในสถานการณ์นี้ “Lying Flat” สะท้อนปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับสังคมจีน อันเป็นสังคมที่เคยขึ้นชื่อเรื่องความขยันและความทะเยอทะยาน รวมไปถึงผลกระทบเชิงลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว

จีนเร่งปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษี

จากโครงสร้างรายได้ของรัฐบาลท้องถิ่นไม่เข้มแข็งพอ ที่ผ่านมารายได้จากการจัดเก็บภาษีมีน้อยมากแต่รายได้ส่วนใหญ่มาจากการปล่อยเช่าที่ดินให้บริษัทเอาไปพัฒนาต่อมีสัดส่วนที่เยอะเกินไป เมื่อภาคอสังหาฯ เกิดปัญหา การปล่อยเช่าที่ดินของรัฐบาลท้องถิ่นก็ชะลอตัว 

ทำให้มีการขยายโครงการนำร่องจัดเก็บภาษีการถือครองทรัพย์สินที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรม โดยแผนการดังกล่าวจะเป็นการจัดเก็บภาษีการถือครองทรัพย์สินเฉพาะในเขตเมือง ไม่ครอบคลุมภาคครัวเรือนในชนบทซึ่งอัตราภาษีและวิธีการจัดเก็บภาษีจะขึ้นอยู่กับรัฐบาลท้องถิ่น เบื้องต้นจะดำเนินการลักษณะโครงการนำร่องในบางพื้นที่เป็นระยะเวลา 5 ปี

การจัดเก็บภาษีดังกล่าวนับเป็นการปฏิรูประบบภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งจะส่งผลให้รัฐบาลจีนมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีมากขึ้น จากเดิมที่ทางการจีนโดยเฉพาะรัฐบาลท้องถิ่นต้องพึ่งพิงรายได้จากการขายหรือให้เช่าที่ดินแก่นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งนำไปสู่ปัญหาการเก็งกำไรและการปั่นราคาสูงกว่าความเป็นจริง

ประเมินว่า หากจีนสามารถจัดเก็บภาษีในอัตรา 0.7% ของมูลค่าทรัพย์สินที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรมทั้งประเทศ จะส่งผลให้รัฐบาลจีนมีรายได้ถึง 1.8 ล้านล้านหยวนในปี 2563 ซึ่งมากกว่ารายได้ 1.6 ล้านล้านหยวนที่ทางการจีนได้จากการขายและให้เช่าที่ดิน

รวมทั้งการจัดเก็บภาษี จะเป็นแรงกดดันด้านราคาที่ไม่คุ้มค่าต่อการเก็งกำไร ยังจะลดความน่าสนใจของการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์จีน และถ่ายเทเงินทุนไปยังภาคส่วนอื่น ๆ มากขึ้น เช่น ภาคการส่งออกหรือภาคการบริการที่สามารถกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ

‘จีน’เปลี่ยนผู้นำประเทศ กระทบสมดุลอํานาจ การคลังและเศรษฐกิจ ‘สั่นคลอน’

ขณะที่ ยอดขายบ้านในจีนยังคง”ชะลดตัว” อย่างต่อเนื่อง แม้จะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจ จากราคาที่อยู่อาศัยที่ตกต่ำ ถือเป็นสัญญาณเชิงลบสําหรับรายได้ของรัฐบาลท้องถิ่นจากการขายที่ดิน

ในการประชุมเศรษฐกิจประจําปีครั้งสําคัญเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เหล่าผู้นำระดับสูงเรียกร้องให้มี "การปฏิรูประบบการคลังและภาษี" แต่ยังไม่มีรายละเอียดเพิ่มเติม ซึ่งคําแถลงดังกล่าวกระตุ้นให้ปังกิ่งคิดถึงแผนการที่จะปรับโครงสร้างความสัมพันธ์ทางการเงินของส่วนกลางและท้องถิ่น

หวั่นเกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลปักกิ่ง-รัฐบาลท้องถิ่น

แจ็กเกอลีน หรง (Jacqueline Rong ) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จีนของ BNP Paribas SA กล่าวว่า ส่วนสําคัญในการปฏิรูประบบการคลังรอบใหม่นี้ อาจทำให้รัฐบาลกลางแบกรับการขาดดุลงบประมาณที่มากขึ้น เช่นเดียวกับความรับผิดชอบในการใช้จ่ายที่มากขึ้น

ขณะที่ ติง ซวง(Ding Shuang) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Greater China and North Asia ที่ Standard Chartered Plc กล่าวว่า รัฐบาลกลางสามารถโอนเงินจากส่วนกลางไปยังรัฐบาลในท้องถิ่นเพื่อจัดการกับการพัฒนาที่ไม่สมากเสมอและอํานาจทางการคลังระหว่างภูมิภาคต่างๆที่สั่นคลอน

รวมทั้งรัฐบาลปักกิ่งยังสามารถผลักดันให้ผู้นําระดับภูมิภาคแก้ปัญหาต่างๆ เช่น การใช้จ่ายของผู้บริโภคที่อ่อนแอด้วยการใช้เงินจากรัฐบาล

ไมเคิล เพตติส  (Michael Pettis) ศาสตราจารย์ด้านการเงินจากมหาวิทยาลัยปักกิ่งกล่าวว่า ในขณะที่รัฐบาลท้องถิ่นต้องเผชิญกับแรงกดดันจากภาระหนี้ แต่ยังคงถือสินทรัพย์ที่มีมูลค่า ซึ่งคิดเป็น 20% -  30% ของ GDP ของประเทศ

รวมทั้งศาสตราจารย์ยังมองว่า การโอนเงินบางส่วนไปยังรัฐบาลท้องถิ่น เช่น การจัดสรรที่ดินเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยราคาประหยัด แทนที่จะขายให้กับผู้เสนอราคาสูงสุด จะเป็นวิธี "เจ็บปวดน้อยที่สุด" ในการเพิ่มการบริโภคและปรับสมดุลเศรษฐกิจ

แต่อย่างไรก็ตาม การโยกย้ายงบประมาณเหล่านี้ ยังเป็นที่ถกเถียงกันทางการเมืองว่า ในอนาคตอีกไม่กี่ปีข้างหน้า อาจเห็นความขัดแย้งระหว่างปักกิ่งและรัฐบาลท้องถิ่นในการรับภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น

อ้างอิง Bloomberg