'พี่เลี้ยงการเงิน' พลังขับเคลื่อน สร้างสังคม Happy Money
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สร้างเกราะความมั่นคงการเงินให้คนไทย ผ่านโครงการ "Happy Money พี่เลี้ยงการเงิน" มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งระดับบุคคล ส่งต่อไปยังครอบครัว สังคม และประเทศอย่างยั่งยืน
วิกฤติโควิด-19 ส่งผลต่ออัตรา หนี้ครัวเรือน ของประเทศไทยสูงสุดในรอบ 15 ปี หนี้ครัวเรือนต่อ GDP ในไตรมาส 1/2566 อยู่ที่ 90.6% การเป็นหนี้คือ "พันธนาการทางการเงิน" ที่เป็นปมล็อกชีวิตใครหลายคน กับการต้องติดอยู่ในวังวน การชดเชยเงินที่ยืมจากอนาคตมาใช้ โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยสาเหตุของหนี้ในสังคมไทย เกิดจาก 4 ปัจจัยหลักคือ 1. ขาดวินัยทางการเงิน 2. รายรับไม่พอกับรายจ่าย 3. วางแผนการลงทุนผิดพลาด 4. มีความรู้ทางการเงินไม่เพียงพอ สะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาหลักเกิดจากบริหารจัดการไม่เป็น ไม่มีเงินออม มีการใช้จ่ายเกินตัว ซึ่งมีโอกาสฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจ และอาจลุกลามไปสู่ปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่น ปัญหาสุขภาพจิต ของ ลูกหนี้ ปัญหาสังคมที่คนถูกกดดันจากภาระหนี้ จนทำให้ชีวิตไม่มีความสุข ประสิทธิภาพการทำงานลดลง
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ริเริ่มโครงการ "Happy Money พี่เลี้ยงการเงิน"
เพื่อปั้น พี่เลี้ยงการเงิน เพื่อให้สามารถช่วยวางแผนการเงินเบื้องต้นแก่ตนเองได้ และพร้อมเป็นจิตอาสาถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ผู้อื่น เกิดทัศนคติทางการเงินที่ดี ได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เงิน การหลุดจาก กับดักหนี้ และสร้างเงินออม ทำให้ชีวิตมีสุขภาวะดี สร้างสังคมดี ส่งต่อความสุขทำให้ฐานรากของชาติเข้มแข็ง
พรรณวดี ลดาวัลย์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาความรู้ตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การริเริ่มโครงการ "Happy Money พี่เลี้ยงการเงิน" มีเจตนารมณ์ถ่ายทอดองค์ความรู้ทางการเงิน ซึ่งเป็นพันธกิจของ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการพัฒนาตลาดทุนไทยให้เป็นประโยชน์แก่ทุกภาคส่วนของสังคม เพื่อให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างมีสุขภาวะที่ดี (Well-being) ที่จะต้องเริ่มต้นจากความมั่นคงทางการเงิน จึงจัดทำโครงการส่งเสริมการพัฒนาทักษะการวางแผนทางการเงินและการลงทุนให้แก่ประชาชนทั่วไป เพื่อช่วย ลดความเหลื่อมล้ำ ทางเศรษฐกิจและสังคม นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งระดับบุคคล ส่งต่อไปยังครอบครัว สังคม ซึ่งเป็นรากฐานในการขับเคลื่อนความเข้มแข็งของประเทศได้อย่างยั่งยืน
"ตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่งเสริมความรู้ทางการเงินให้แก่ประชาชนมายาวนานกว่า 20 ปี ภายใต้โครงการ Happy Money จนล่าสุดในปี 2564 ได้มีการพัฒนาเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนมากขึ้น ด้วยการสร้าง พี่เลี้ยงการเงิน มีการเสริมความรู้ทางการเงิน เพื่อแก้ไข ปัญหาการเงิน แบบครบวงจร โดยได้ปรับรูปแบบให้มีทั้งออนไลน์ หรือ e-Learning ในช่วงโควิด-19 ควบคู่กับการเวิร์กช็อปในรูปแบบรวมกลุ่ม แลกเปลี่ยนข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญ และตัวแทนจากหลากหลายองค์กร ส่งพนักงานเข้ามาร่วมอบรม หลักสูตรใช้เวลาอบรม 3-4 เดือน จนนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ชัดเจนขึ้น สามารถถอดบทเรียนและค้นพบวิธีการแก้ไขหนี้ได้ตรงจุด"
พรรณวดี กล่าวต่อไปว่า ปัญหาทางการเงินเป็นเรื่องส่วนบุคคลที่มีความละเอียดอ่อน ที่ต้องใช้ทักษะหลากหลายในการเข้าไปช่วยแก้ไข ซึ่งพี่เลี้ยงการเงินจะเข้าไปช่วยเติมเต็มทักษะทั้งความรู้การเงิน และเพิ่มประสบการณ์ ทักษะทางจิตวิทยา หรือ Soft skills เพื่อให้ผู้ที่มีปัญหาค่อยๆ เปิดใจ ทำให้สามารถวิเคราะห์ปัญหาการเงินที่แท้จริงรายบุคคลได้อย่างถ่องแท้ พี่เลี้ยงการเงินจะช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นระบบ
พี่เลี้ยงการเงิน รู้จริงการเงินและซอฟต์สกิล เข้าใจ เข้าถึง "ปัญหาเรื่องเงิน"
พี่เลี้ยงการเงิน เป็นผู้ที่ปลดล็อกปัญหาจากการเปิดใจด้วยความเข้าใจความทุกข์ของคนมีปัญหาการเงิน กลุ่มคนเหล่านี้มีจิตสาธารณะ นำความรู้จากการเข้าใจปัญหาการเงินที่แท้จริง ถ่ายทอดความรู้จากตัวเอง หลังจากดำเนินการมา 3 ปี (ตั้งแต่ปี 2564) สามารถสร้างพี่เลี้ยงการเงิน 5,219 คน ซึ่งคาดหวังว่า พี่เลี้ยงเหล่านี้จะขยายผลการวางแผนและการปลดล็อกปัญหาทางการเงินให้กับผู้อื่น ไม่ต่ำกว่า 3 คนต่อพี่เลี้ยง 1 คน
"พี่เลี้ยงการเงินจิตอาสา ต้องการถ่ายทอดบทเรียนทำประโยชน์ให้กับคนอื่น อยากให้คนอื่นหลุดพ้น คนเป็นหนี้ คนมี ปัญหาการเงิน เหมือนคนจมน้ำ แต่บางคนไม่ยอมรับและเปิดใจว่ามีปัญหา จึงต้องใช้ทักษะในการพูดคุย เปิดใจ ลักษณะโค้ช พี่เลี้ยงการเงินจึงเหมือนเพื่อนคู่คิดที่พร้อมรับฟังและร่วมแก้ไขปัญหาไปด้วยกัน"
มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม สร้างความเข้มแข็งให้คนเปราะบาง
อภิชาติ การุณกรสกุล ประธานมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม กล่าวถึงความร่วมมือในการเชื่อมต่อพัฒนาพี่เลี้ยงการเงิน โดยมูลนิธิส่งคนเข้าร่วมอบรมกับโครงการพี่เลี้ยงการเงิน เพื่อพัฒนาทักษะทางการเงินให้กับพี่เลี้ยงในมูลนิธิ สามารถถ่ายทอดความรู้จากโครงการไปสู่ประชาชน สังคมในเครือข่าย อาทิ ผู้สูงวัย และผู้เปราะบางในสังคมเข้าร่วมอบรม เช่น คนพิการ กลุ่มคนเหล่านี้จะสามารถพึ่งพาตัวเองได้ หากมีความรู้ มีการวางแผนทางการเงินที่ชัดเจน จะทำให้มีความมั่นคงทางการเงิน และมีสุขภาวะที่ดี ช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย และสร้างความเท่าเทียมทางโอกาสทางความรู้
"การให้ความรู้ทางการเงิน ถือเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไข ปัญหาหนี้ โดยเฉพาะกลุ่มพนักงานบริษัท พนักงานโรงงาน รวมถึงคนเปราะบางในสังคมไทย ทั้งยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งเติบโตอย่างยั่งยืน ดังนั้นการเริ่มต้นจากการให้ความรู้และสร้างผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งก่อนเข้าร่วมกับโครงการพี่เลี้ยงการเงิน เรามีการพัฒนาพี่เลี้ยงช่วยแก้ไขปัญหาให้กับกลุ่มคนเปราะบาง ทั้งคนพิการ และผู้ด้อยโอกาส รวมถึง สังคมผู้สูงวัย เพื่อให้เตรียมพร้อมในการเกษียณ จึงส่งคนเข้าไปอบรมพี่เลี้ยงการเงินกับ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งเป็นการเพิ่มความเชี่ยวชาญ และขยายการให้คำปรึกษาให้คนได้เพิ่มขึ้นด้วย"
"แฮนอัพ" ส่งพี่เลี้ยงการเงิน ประกบชุมชน Sandbox
ศรวุฒิ ปิงคลาศัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท แฮนอัพ เน็ทเวิร์ค จำกัด เป็นที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการ กล่าวถึงโครงการ "Happy Money พี่เลี้ยงการเงิน" หลังจากได้เข้ามาร่วมมือพัฒนาตั้งแต่ต้นปี 2566 พบว่า เป็นโครงการที่เหมาะสมและดีมากๆ ในการช่วยให้คนทั่วไปที่มีปัญหาทางการเงินได้มีวิธีการวางแผนทางการเงินที่ถูกต้อง ที่มีการขยายวงกว้างจากเพียงแค่คนรู้จักไปสู่ คนที่มีปัญหาตัวจริงในสังคมไทย แต่ไม่มีผู้ที่จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาตัวต่อตัวที่รับฟังปัญหาและปรับทุกข์ได้
ที่ผ่านมา โครงการ "พี่เลี้ยงการเงิน" จะมุ่งเน้นที่การแก้ไขปัญหาให้กับคนที่รู้จักภายในองค์กร คนในครอบครัว เป็นหลัก แต่การเข้ามาของแฮนอัพ จะทำให้ขยายการแก้ไขปัญหาไปสู่คนทั่วไป พี่เลี้ยงการเงินที่มีจิตอาสา จะมีโอกาสไปประกบคนที่ไม่รู้จักมาก่อน ซึ่งมีความยากและท้าทาย แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะหากประสบความสำเร็จ จะทำให้เข้าใจพฤติกรรม ทัศนคติ และถอดบทเรียนการแก้ไขปัญหาให้ขยายวงในระดับที่กว้างมากขึ้น ดังนั้น จึงพัฒนาโครงการนำร่อง (Sandbox) ในโครงการที่เข้ามาร่วมมือทำงานการเข้าไปช่วยเหลือชุมชน และมีการถอดบทเรียน วิธีการเข้าถึงคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จัก ให้ได้รับความไว้วางใจ (Trust) กล้าเปิดใจปัญหาส่วนตัวให้พี่เลี้ยงการเงินรับฟังได้
"พี่เลี้ยงการเงินจิตอาสา มีความรู้ และปรารถนาดีต่อผู้อื่น ต้องการให้พ้นจากภาระการเงิน แต่ต้องเข้าไปช่วยคนไม่รู้จัก จึงต้องพัฒนาเป็น Sandbox นำร่องให้เข้าใจปัญหาและความท้าทาย เพราะการเงินส่วนบุคคล ต้องมีการพัฒนากลไกความสำเร็จ (Key to Success) การทำให้เกิดความไว้ใจ ให้ข้อมูล และวิธีการโน้มน้าวใจร่วมแก้ไขปัญหาของแต่ละคน เป็นสิ่งที่ยาก"
พี่เลี้ยงการเงิน สร้างเกราะความมั่นคงการเงินให้คนไทย
รุ้งลาวัลย์ สกุลมาลัยทอง อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เล่าว่า จุดสนใจที่เข้าร่วมโครงการพี่เลี้ยงการเงิน เกิดจากการต้องการมีความรู้ การวางแผนทางการเงิน เพื่อพัฒนาทักษะการวางแผนชีวิต มีความมั่นคงก่อนเกษียณให้กับตัวเอง ใช้เวลาอบรมยาวนานจนเกิดความเข้าใจ จนทำให้มีความพร้อมวางแผนตัวเองในวัยเกษียณ จึงคิดถึงการเดินตามความฝันกับเป้าหมายต้องการใช้ความรู้เป็นอาจารย์ ทำหน้าที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ผุู้อื่นในวัยหลังเกษียณได้ เมื่อมาเติมเต็มความรู้การเงิน ที่มีทั้งด้านฮาร์ดไซด์และซอฟต์ไซด์ ช่วยให้เข้าใจปัญหาของคน มองเห็นโอกาสเข้าไปแก้ ช่วยเหลือคนได้จำนวนมาก
"ส่วนตัวมีเป้าหมายชีวิตหลังเกษียณ อยากเป็นครูอาสา แต่โครงการพี่เลี้ยงการเงินมาช่วยเติมเต็มความรู้ให้มีโอกาสช่วยเหลือผู้อื่นส่งต่อความรู้ทางการเงิน ช่วยการวางแผนการบริหารจัดการค่าใช้จ่าย ภาษี จัดการหนี้ ให้มี ความมั่นคงทางการเงิน อย่างน้อยให้เขาตั้งเป้าหมายชีวิตให้มีความมั่นคง มีการวางแผนเกษียณอย่างมีความสุข หรือได้ ปลดหนี้ มีรอยยิ้ม มีความมั่นคงทางการเงินก็ถือว่าเราได้บุญแล้ว"
รุ้งลาวัลย์ กล่าวต่อไปว่า หลังจากเริ่มต้นเป็นพี่เลี้ยงการเงินตั้งแต่ปลายปี 2566 รับผู้มีปัญหาทางการเงินมา 5 เคส ยอมรับว่าการเข้าไปช่วยเหลือผู้อื่น ยากและท้าทายกว่าการวางแผนให้ตัวเอง เพราะจะต้องมีกระบวนการเริ่มต้นจากทำให้เปิดใจ จึงจะทำให้ผู้เข้าโครงการกล้าบอกเล่าปัญหาที่แท้จริง ให้กับผู้ที่ไม่เคยรู้จักและสนิทมาก่อน นี่คือกลไกที่นำไปสู่การค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของ การเป็นหนี้ และมีภาระทางการเงิน โดยหลังจากเข้าไปช่วยวางแผนผู้มีปัญหาหนี้สินที่ค้าง ส่วนใหญ่เกิดจากรายได้ไม่พอค่าใช้จ่ายซึ่งมาจากไลฟ์สไตล์ ทัศนคติ และพฤติกรรมเดิม จึงต้องใช้เวลาปรับพฤติกรรมร่วมกัน และติดตามผลตลอด 1 ปี หรือมากกว่านั้น
พี่เลี้ยงการเงิน ส่งต่อบทเรียนปลดหนี้หลักล้าน สู่สังคมไทย
ปถวี แสงเวียน ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) เล่าถึงชีวิตที่สามารถหลุดจาก กับดักหนี้ หลักล้านได้ ด้วยองค์ความรู้การวางแผนทางการเงิน จากโครงการพี่เลี้ยงการเงิน ก่อนที่จะพบโครงการ เคยคิดว่าปัญหาทุกอย่างจัดการได้ด้วยตัวคนเดียว ไม่ต้องการปริปากบอกรายรับรายจ่าย ต้นทุนการเงินของชีวิตให้กับใคร จึงทำให้เงินที่หามาได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย จนต้องติดบ่วงของการต้องคิดถึงการจ่ายค่างวด หนี้นอกระบบและในระบบ พัวพัน จนทำให้เกิดทุกข์
"ชีวิตถึงจุดเปลี่ยนเมื่อเข้ามารู้จักกับ การวางแผนการเงิน อย่างเป็นระบบทำให้เข้าใจวิธีการจัดลำดับการชำระหนี้เร่งด่วน การรวมหนี้ พร้อมกับหารายได้เสริมให้ชดเชยภาระหนี้ จนเห็นความเปลี่ยนแปลงยอดหนี้ค่อยๆ ลดจำนวนลง จนหลุดพ้นภายในเวลา 3 ปี"
ปถวี เชื่อว่า วิธีการที่ทำให้เขาหลุดกับดักหนี้และการจัดระเบียบวินัยทางการเงินที่ผ่านพ้นวิกฤติมาได้นั้น องค์ความรู้คือสิ่งสำคัญ จึงควรจะขยายเป็นวิทยาทาน บอกเล่าเรื่องราว และบทเรียนไปสู่คนที่กำลังติดบ่วงหนี้เหมือนเขาให้หลุดพ้นได้ จึงสมัครเป็นพี่เลี้ยงการเงินจิตอาสา เข้าไปช่วยปลดทุกข์ทางการเงินให้ผู้อื่น
"ในช่วงเป็นหนี้รู้สึกไม่สบายใจ กังวล ต้องหาเงินมาจ่ายหนี้ ต้องไปหยิบยืมคนจนเป็น หนี้นอกระบบ แต่พอปลดภาระหนี้ได้รู้สึกโล่งและสบายใจ สามารถควบคุมวางแผนค่าใช้จ่ายได้ จึงอยากจะถ่ายทอดวิธีเหล่านี้ให้คนอื่น เพราะเชื่อว่าคนอย่างผมมีเยอะ แต่ไม่แสดงตัวตนออกมา ชอบแบกปัญหาไว้คนเดียว ดังนั้นต้องมีเพื่อนคู่คิดที่คุยกันรู้เรื่อง คนแบบเดียวกัน คนเป็นหนี้เหมือนกัน ย่อมเข้าใจกัน"
ปถวี กล่าวต่อไปว่า เป้าหมายในชีวิตในปัจจุบัน จัดระบบได้หมดแล้ว สามารถบริหารจัดการเตรียมตัวเกษียณ บั้นปลายชีวิตตั้งใจทำหน้าที่จิตอาสาพี่เลี้ยงการเงิน ถ่ายทอดวิธีคิดให้หลุดจากกับดักหนี้ มีเงินออม มีความมั่นคงในชีวิต
"การมีความรู้การวางแผนทางการเงินจะช่วยสังคมไทยได้อีกมาก เพราะในยุคนี้ เงินเฟ้อ มูลค่าเงินน้อยลง ดังนั้นต้องรู้จักบริหารเงินให้เกิดประโยชน์ และส่งต่อความรู้ให้คนข้างๆ เพื่อนฝูง และคนอื่นๆ ในสังคม"
องค์กรที่สนใจสร้าง พี่เลี้ยงการเงิน ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ ตลาดหลักทรัพย์ฯ