ราชกิจจาฯ ลงประกาศ ’การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม’ เริ่ม 1 ม.ค.67
ราชกิจจาฯ ประกาศดีเดย์ เกณฑ์ ’การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม’ เริ่มมีผลบังคับใช้ 1ม.ค.67 ตามประกาศธปท. พร้อมออก 8 หลักเกณฑ์ การบริหารจัดการด้านการให้สินเชื่อตลอดวงจรการเป็นหนี้
ล่าสุด ราชกิจจานุเบกษา ลงประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending)
โดยเหตุผลในการออกประกาศหนี้ครัวเรือนไทยเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมานานและเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามลำดับจากเดิมอยู่ที่ 76% ต่อ GDP ในปี ๒๕๕๕ มาอยู่ที่ 89% ต่อ GDP ในปี ๒๕๖๒ และถูกซ้ำเติมรุนแรงขึ้นในช่วงโควิด 19 ที่ 95% ต่อ GDP ในปี ๒๕๖๔
แม้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP จะเริ่มทยอยปรับลดลงมาอยู่ที่ 91% ณ ไตรมาส ๒ ปี ๒๕๖๖ ตามเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและสินเชื่อที่ขยายตัวชะลอลงหลังสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือ แต่สัดส่วนดังกล่าวยังอยู่ในระดับสูง
ธปท.ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาหนี้ครัวเรือนว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศที่ต้องได้รับการแก้ไขเพื่อควบคุมระดับหนี้ครัวเรือนไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินและการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะยาว
ซึ่งการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนต้องใช้เวลาและทำอย่างครบวงจรให้เหมาะสมกับลักษณะและสาเหตุของปัญหาในแต่ละช่วงของการเป็นหนี้และทำอย่างถูกหลักการคือแก้ให้ตรงจุดไม่สร้างภาระเพิ่มให้ลูกหนี้ และไม่ลดโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อซึ่งทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน ทั้งเจ้าหนี้ ลูกหนี้ และภาครัฐ
ธปท. จึงได้ออกหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม(Responsible Lending)เพื่อยกระดับการปฏิบัติตามหนังสือเวียน เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการด้านการให้สินเชื่ออย่างเป็นธรรม ให้มีความครอบคลุมและชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยใช้เป็นหลักเกณฑ์เพิ่มเติมจากประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยการบริหารจัดการด้านการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรม (Market Conduct)
โดยกำหนดบทบาทหน้าที่ของผู้ให้บริการในการรับผิดชอบลูกค้าตลอดวงจรการเป็นหนี้อย่างเหมาะสม ตั้งแต่การพัฒนาและการโฆษณาผลิตภัณฑ์สินเชื่อ การให้สินเชื่อใหม่อย่างมีคุณภาพ การดูแลช่วยเหลือหนี้เดิมโดยเฉพาะหนี้เรื้อรังและหนี้เสีย จนถึงการดำเนินการตามกฎหมายและการโอนขายหนี้ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการให้ข้อมูลเพื่อกระตุกพฤติกรรมลูกค้า (nudge) ตลอดวงจรหนี้และส่งเสริมวินัยทางการเงิน เพื่อให้ประชาชนเป็นหนี้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว
ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนในระยะยาว รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้ให้บริการมีการจัดการด้านการให้บริการอย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม อันจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนให้ผู้ให้บริการสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ การบริหารจัดการด้านการให้สินเชื่อตลอดวงจรการเป็นหนี้ประกอบด้วย ๘ ด้าน
(1) การพัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อ ผู้ให้บริการต้องมีผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่เหมาะสมกับความต้องการความสามารถในการชำระหนี้ และไม่กระตุ้นให้ก่อหนี้เกินควร โดยควรผลักดันการกำหนดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อให้สอดคล้องกับความเสี่ยงของลูกค้าหรือกลุ่มลูกค้าและลักษณะสินเชื่อ(risk-based pricing) รวมทั้งเงื่อนไขสัญญามีความเป็นธรรมต่อลูกค้า
(2) การโฆษณา โดยผู้ให้บริการต้องจัดทำและควบคุมโฆษณาให้มีเนื้อหาที่ "ถูกต้องและชัดเจน ครบถ้วนและเปรียบเทียบเงื่อนไข อัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ได้" และ "ไม่กระตุ้นให้ก่อหนี้เกินควร"เพื่อให้ลูกค้าได้รับและเข้าใจข้อมูลที่จำเป็นจากโฆษณาอย่างเพียงพอต่อการตัดสินใจและส่งเสริมการมีวินัยทางการเงิน
(3) กระบวนการขาย ผู้ให้บริการต้องดูแลให้ลูกค้าได้รับข้อมูลสำคัญครบถ้วน ไม่เกินจริงไม่บิดเบือน เพียงพอต่อการตัดสินใจด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง
รวมถึงได้รับการเสนอขายผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์หรือความต้องการในการใช้เงินของลูกค้าและไม่ถูกกระตุ้นให้ก่อหนี้เกินควร
(4) การพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ ผู้ให้บริการต้องประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า โดยพิจารณาให้ครอบคลุมภาระหนี้ทั้งหมด และคำนึงถึงเงินเหลือสุทธิ หลังหักภาระผ่อนชำระหนี้ทั้งหมด (residual income) ให้เพียงพอต่อการดำรงชีพของลูกค้า อย่างเต็มที่เท่าที่ผู้ให้บริการสามารถทำได้(best effort)
(5) การส่งเสริมวินัย และการบริหารจัดการทางการเงินในระหว่างการเป็นหนี้ ผู้ให้บริการต้องให้ข้อมูลและคำเตือนสำคัญที่ลูกหนี้ควรรู้ รวมถึงสร้างเครื่องมือช่วยสนับสนุนการกระตุกพฤติกรรมลูกหนี้ (nudge)เพื่อสนับสนุนให้ลูกหนี้มีวินัยทางการเงินที่ดีขึ้นและสามารถบริหารจัดการหนี้ให้เป็นประโยชน์กับตัวเอง (responsible borrowing)
(6) การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เรื้อรังผู้ให้บริการต้องแจ้งข้อมูลสำคัญให้ลูกหนี้ตระหนักถึงผลเสียของการเป็นหนี้ที่เรื้อรัง รวมทั้งมีแนวทางการให้ความช่วยเหลืออย่างเป็นมาตรฐานเพื่อให้ลูกหนี้เห็นทางปิดจบหนี้ได้อย่างเหมาะสม(Persistent Debt: PD)
(7) การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาการชำระหนี้ผู้ให้บริการต้องเสนอแนวทางปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้โดยเร็ว ตั้งแต่เริ่มมีสัญญาณว่าลูกหนี้กำลังประสบปัญหาชำระหนี้ ตลอดจนเมื่อเป็นหนี้เสียแล้ว โดยเฉพาะก่อนการดำเนินการตามกฎหมาย โอนขายหนี้ บอกเลิกสัญญาหรือยึดทรัพย์
(8) การดำเนินการตามกฎหมายและการโอนขายลูกหนี้ไปยังเจ้าหนี้รายอื่น ผู้ให้บริการต้องแจ้งให้ลูกหนี้ได้รับทราบสิทธิและข้อมูลที่สำคัญอย่างครบถ้วนเมื่อถูกดำเนินการตามกฎหมายในกรณีที่ลูกหนี้สอบถาม
ตลอดจนควรเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ได้ไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้ รวมถึงภายหลังจากการโอนขายหนี้ ลูกหนี้ได้รับเงื่อนไขการผ่อนชำระหนี้ที่เหมาะสม