ITD แจงยิบเหตุเบี้ยวหนี้หุ้นกู้ พิษตั้งรัฐบาลช้า-ดอกเบี้ยพุ่ง จับตาจุดเปลี่ยน 17 ม.ค.นี้
"บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์" แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยสาเหตุที่ต้องเลื่อนการชำระหนี้หุ้นกู้ทุกรุ่นออกไปอย่างน้อย 2 ปี เพราะทั้งปัจจัยเศรษฐกิจในประเทศและการเมืองรุมเร้าจับตา 17 ม.ค.นี้ จุดเปลี่ยนสำคัญ ITD ขยายสัดส่วน D/E Ratio ให้เกิน 3 เท่า หวังกู้เงินแบงก์เพิ่มเติมสภาพคล่อง
Key Points
- จับตา 17 ม.ค.นี้ จุดเปลี่ยนใหญ่ ITD ขอเจ้าหนี้หุ้นกู้เลื่อนจ่ายเงินต้น 2 ปี พร้อมขยายสัดส่วน D/E Ratio เกิน 3 เท่า หวังกู้เงินแบงก์เพิ่มเติมสภาพคล่อง
- ITD ระบุชัด ปัญหาเกิดจากต้นทุนการดำเนินกิจการพุ่งทั้ง ค่าวัสดุ ดอกเบี้ย แถมตั้งรัฐบาลช้า ทำให้ปริมาณงานลดลง
- เงื่อนไขสำคัญกู้เงินแบงก์รอบใหม่ของ ITD ต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าหนี้หุ้นกู้ให้เลื่อนจ่ายเงินต้นออกไป 2 ปี
สถานการณ์ของ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ หรือ ITD เริ่มมีข่าวไม่ดีเกี่ยวกับ “หนี้” มาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมาแล้ว และฝีก็มาแตกโป๊ะเอาในต้นปี 2567 โดย ITD ประกาศขอเลื่อนชำระหนี้หุ้นกู้ทุกรุ่นออกไปอย่างน้อย 2 ปี ซึ่งมีมูลค่ารวมกันกว่า 14,455 หมื่นล้านบาท เพียงแต่ระหว่างทาง ITD จะยังคงจ่ายดอกเบี้ยตามปกติ พร้อมกับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยให้กับผู้ถือหุ้นอีก 0.25-0.5% ต่อปี
สำหรับหุ้นกู้ ITD ปัจจุบันมีจำนวน 5 รุ่น มูลค่ารวม 14,455 ล้านบาท แบ่งเป็น หุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในปีนี้ 3 รุ่น ได้แก่
- รุ่น ITD242A ครบกำหนด 15 ก.พ.2567 มูลค่า 2,000 ล้านบาท
- รุ่น ITD242DA ครบกำหนด 4 ธ.ค.2567 มูลค่า 2,455 ล้านบาท
- รุ่น ITD24DB ครบกำหนด 4 ธ.ค.2567 มูลค่า 1,215 ล้านบาท
ส่วนที่เหลืออีก 2 รุ่น ครบกำหนดในปี 2568 และ 2569 ตามลำดับ ได้แก่
- รุ่น ITD254A ครบกำหนด 29 เม.ย.2568 มูลค่า 6,000 ล้านบาท
- รุ่น ITD266A ครบกำหนด 2 มิ.ย.2568 มูลค่า 2,785 ล้านบาท
ทั้งนี้ ITD จะจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นกู้เพื่อขอมติการผ่อนผันการชำระหนี้ดังกล่าวในวันที่ 17 ม.ค.2567 ซึ่งนอกจากวาระดังกล่าวแล้ว ยังมีวาระที่สำคัญอีกหนึ่งเรื่อง คือ การขอผ่อนผันการดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น(D/E Ration) ตามที่กำหนดในข้อกำหนดสิทธิโดยให้มีผลตั้งแต่สิ้นปี 2566 จนถึงรอบบัญชีปี 2568 และผ่อนผันให้บริษัทดำเนินการเจรจาหรือเข้าทำสัญญากับเจ้าหนี้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ โดยไม่ถือเป็นเหตุผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งปัจจุบันข้อกำหนดสิทธิของ ITD ระบุไว้ว่า ต้องมีอัตราส่วน D/E Ratio ไม่เกิน 3 เท่า
ทาง ITD ได้ระบุหมายเหตุเอาไว้ว่า บริษัทได้ดำรงอัตราส่วน D/E Ratio ตามที่กำหนดมาโดยตลอด แต่เนื่องจากช่วงหลังไตรมาส 2 ปี 2566 สถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศยังคงอยู่ในช่วงปรับตัว ซึ่งรวมถึงโครงการต่างๆ ของบริษัทยังคงอยู่ในช่วงดำเนินการและอยู่ระหว่างการส่งมอบให้กับลูกค้าหน่วยงานรัฐ
อีกทั้งในปี 2566 ยังมีปัจจัยภายนอกหลายประการที่กระทบกับการประกอบธุรกิจของบริษัท เช่น สถานการณ์สงครามในต่างประเทศ ราคาวัสดุและน้ำมันที่สูงขึ้น การประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จึงทำให้ต้นทุนการทำงานของบริษัทเพิ่มสูงขึ้น
รวมทั้งการเมืองในประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลล่าช้าได้ส่งผลกระทบต่อโครงการภาครัฐต่างๆ ที่ชะลอตัวลงจากแผนงานเดิม ทำให้บริษัทซึ่งมีงานของภาครัฐเป็นจำนวนมากประสบปัญหาปริมาณงานลดลงไม่เป็นไปตามประมาณการ
ด้วยเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งปัจจัยภายนอกที่ไม่อาจคาดหมายได้เหล่านี้ ทำให้บริษัทมีความจำเป็นต้องเจรจากับเจ้าหนี้ต่างๆ ของบริษัท ทั้งเจ้าหนี้การค้า เจ้าหนี้สถาบันการเงินและเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ เพื่อขอผ่อนผันการชำระหนี้และเลื่อนการชำระหนี้ของบริษัทให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทด้วย
นอกจากนี้บริษัทยังมีความจำเป็นต้องกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินเพื่อนำมาใช้ในโครงการงานต่างๆ ที่มีอยู่จำนวนมาก และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจของบริษัท ซึ่งการได้รับสินเชื่อใหม่จากสถาบันการเงินในครั้งนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้บริษัทผ่านพ้นปัญหาการขาดเงินทุนหมุนเวียน สามารถดำเนินธุรกิจได้ต่อ และดำเนินการก่อสร้างโครงการต่างๆ ไปได้อย่างต่อเนื่อง
แต่ทั้งนี้ การให้การสนับสนุนเงินกู้จากสถาบันการเงินดังกล่าว มีเงื่อนไขสำคัญว่า บริษัทต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นกู้ของบริษัทร่วมด้วย จึงจำเป็นต้องจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ในครั้งนี้
ITD ยังได้แจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยด้วยว่า ขณะนี้สถาบันการเงินหลายแห่งในประเทศกำลังพิจารณาให้สินเชื่อใหม่แก่บริษัท ซึ่งจะมีผลกระทบกับหน้าที่ของบริษัทตามข้อกำหนดสิทธิในการดำรงอัตราส่วน D/E Ratio ซึ่ง ณ ไตรมาส 3 ปี 2566 อยู่ที่ 2.893 เท่า โดยหากบริษัทได้รับอนุมัติวงเงินสินเชื่อใหม่จะทำให้อัตราส่วนดังกล่าวสูงกว่า 3 เท่า
สถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลกระทบต่ออัตราส่วนดังกล่าวของบริษัท ดังนั้นจึงเห็นควรเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาผ่อนผันการดำรงอัตราส่วน D/E Ratio ตามที่ระบุไว้ข้างต้น โดยมีผลตั้งแต่สิ้นปี 2566 ถึงสิ้นสุดรอบบัญชีปี 2568 และผ่อนผันให้ผู้ออกหุ้นกู้ดำเนินการเจรจาหรือเข้าทำสัญญาใดๆ กับเจ้าหนี้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ โดยไม่ถือเป็นเหตุผิดนัดชำระหนี้
สำหรับการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ในวันที่ 17 ม.ค.นี้ จะต้องได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นกู้ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 50% ของจำนวนเสียงทั้งหมดที่เข้าร่วมประชุม
ส่วนการเลื่อนของชำระหนี้หุ้นกู้ออกไปอีก 2 ปี และเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในระดับ 0.25-0.5% นั้น ทาง ITD ให้เหตุผลว่า สถานการณ์ตลาดตราสารหนี้ในปัจจุบัน โดยเฉพาะการลงทุนในหุ้นกู้ไม่เอื้ออำนวย เป็นปัจจัยกดดันความเชื่อมั่นนักลงทุนที่อาจทำให้การออกจำหน่ายหุ้นกู้รุ่นใหม่เพื่อทดแทนรุ่นเดิมมีความเสี่ยงต่อบริษัทและนักลงทุนเพิ่มขึ้น และสภาพเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบันซึ่งรวมถึงการดำเนินธุรกิจของบริษัท บริษัทจึงได้พิจารณาขออนุมัติขยายวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้แทนการออกหุ้นกู้รุ่นใหม่ๆ
ทั้งนี้ บริษัทได้พิจารณาแนวโน้มดอกเบี้ยสำหรับระยะเวลาในการถือครองหุ้นกู้ที่ขยายออกไปเป็นอัตราคงที่เพิ่มขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยเดิมอีก 0.25% ในปีแรก และเพิ่มจากเดิมอีก 0.50% ในปีที่สอง ซึ่งดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นทั้งหมดจะนำไปชำระครั้งเดียวพร้อมกันในวันครบกำหนดไถ่ถอนที่ขยายออกไป โดยการขอเลื่อนวันครบกำหนดชำระหนี้หุ้นกู้ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญของสถาบันการเงินที่จะให้เงินกู้ยืมใหม่กับบริษัท
อ้างอิง