แบงก์กรุงเทพ เดินหน้ายุทธศาสตร์ Connecting ASEAN หนุนธุรกิจไทยโตสู่ภูมิภาค
ธนาคารกรุงเทพประกาศยุทธศาสตร์ Connecting ASEAN หรือ เชื่อมโยงอาเซียน สนองนโยบายรัฐบาล ในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เข้าสู่ประเทศไทย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลงทุนระยะยาว อีกทั้งสนับสนุนธุรกิจไทยที่ขยายกิจการไปทั่วภูมิภาค
นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารกรุงเทพดำเนินยุทธศาสตร์ Connecting ASEAN หรือ เชื่อมโยงอาเซียน ที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) เข้าสู่ประเทศไทย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลงทุนระยะยาว รวมทั้งนโยบายสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม ส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green - BCG) และการยกระดับของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor - EEC) ให้เป็นศูนย์กลางอัจฉริยะสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตและโลจิสติกส์ของภูมิภาคอาเซียน
“เป็นที่น่ายินดีที่ลูกค้าต่างประเทศของธนาคารกรุงเทพ ได้เริ่มเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตในประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยธนาคารได้ให้การสนับสนุนไปแล้วหลายราย ไม่ว่าจะเป็นบริษัท บีวายดี เกรทวอลล์มอเตอร์ส และฉางอาน การที่บริษัทเหล่านี้เลือกเข้ามาตั้งศูนย์การผลิตสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในพื้นที่ EEC ของไทย จะส่งผลดีต่อเนื่อง ไปถึงห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนภายในประเทศ และจะกระตุ้นให้เกิดธุรกิจและการจ้างงานใหม่ให้กับคนรุ่นต่อไป” นายชาติศิริ กล่าว
นายชาติศิริ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์สำคัญประการหนึ่งที่ธนาคารมุ่งเน้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา คือ การสนับสนุนการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นตลาดที่มีโอกาสเติบโตอย่างแข็งแกร่งสำหรับหลายภาคอุตสาหกรรม ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัวลง จากปัญหาทางการเมืองระหว่างประเทศ การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และปัจจัยอื่นๆ
การดำเนินยุทธศาสตร์ Connecting ASEAN หรือ เชื่อมโยงอาเซียน ของธนาคาร มุ่งสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดยชูบทบาทโดดเด่นของของไทยในฐานะสะพานสำคัญที่จะช่วยเชื่อมโยงอาเซียนกับนักธุรกิจและนักลงทุนจากทั่วทวีปเอเชียและภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก
ทั้งนี้ อาเซียนยังเปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจสามารถเติบโตได้มากที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ของโลก ด้วยจุดเด่นหลายๆ ด้าน เช่น จำนวนประชากรรวมกันกว่า 650 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว ตลาดที่กำลังพัฒนาและมีความต้องการหลากหลาย มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ และมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อยู่ใกล้อินเดียและจีน ซึ่งมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ โดยอาเซียนกำลังเติบโตก้าวขึ้นเป็นระบบเศรษฐกิจที่จะมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกในปี 2573
โดยมองว่า ภูมิภาคอาเซียนยังมีโอกาสทางธุรกิจและการลงทุนอีกมาก ขณะที่ตลาดอื่นๆ ทั่วโลกกำลังชะลอตัว ธนาคารกรุงเทพเป็นธนาคารไทยที่มีความพร้อมที่สุด สำหรับการสนับสนุนบริษัทที่ต้องการขยายตลาดในระดับภูมิภาค เนื่องจากธนาคารมีเครือข่ายทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ที่มีข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการทำธุรกิจในแต่ละประเทศอย่างลึกซึ้ง และมีสายสัมพันธ์ทางธุรกิจที่ดีกับพันธมิตรในประเทศเหล่านั้น ที่สืบทอดมาตลอด 8 ทศวรรษ
“ด้วยจุดแข็งที่โดดเด่นของธนาคาร ที่มีเครือข่ายสาขาใน 9 จาก 10 ประเทศในกลุ่มอาเซียน มีธนาคารในเครือ คือ ธนาคารเพอร์มาตา ที่อินโดนีเซีย ธนาคารบางกอกแบงค์เบอร์ฮาด ที่มาเลเซีย และธนาคารกรุงเทพ (ประเทศจีน) นอกเหนือจากสาขาในฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ธนาคารกรุงเทพพร้อมที่จะสนับสนุนลูกค้าของเราด้วยบริการทางการเงินที่ครบถ้วน สำหรับการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ และยังสามารถช่วยเชื่อมโยงลูกค้าเหล่านี้กับบริษัทอื่นๆ ที่มีโอกาสจะร่วมมือกันได้ทั่วทั้งภูมิภาค” นายชาติศิริ กล่าว
ตลอดระยะเวลา 8 ทศวรรษที่ผ่านมา ธนาคารกรุงเทพมุ่งเน้นการสนับสนุนลูกค้าทุกกลุ่มให้บรรลุเป้าหมายในทุกช่วงชีวิตและเจริญเติบโตได้เต็มศักยภาพ โดยสำหรับลูกค้าบุคคล ให้มีความมั่นคงทางการเงินสำหรับครอบครัว และบริษัททุกขนาด ให้มีความสามารถในการแข่งขันและเติบโตได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน
ซึ่งธนาคารได้ช่วยลูกค้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ด้วยบริการทางการเงินและเงินทุนสำหรับการดำเนินธุรกิจ แบ่งปันข้อมูล ความรู้ คำแนะนำและสายสัมพันธ์ทางธุรกิจที่เป็นประโยชน์ต่อการเสริมสร้างความเข้มแข็ง ทำให้ลูกค้าสามารถเติบโตขึ้นอย่างยั่งยืน สามารถฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ก้าวขึ้นเป็นบริษัทชั้นนำของประเทศ ส่วนหนึ่งสามารถขยายกิจการออกไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียนและทวีปเอเชียที่ธนาคารมีเครือข่ายสาขาอย่างกว้างขวางครอบคลุม
“ในช่วงที่ผ่านมา นอกจากลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่แล้ว ยังมีลูกค้าเอสเอ็มอีของธนาคารจำนวนไม่น้อย ที่มีการค้าขายข้ามชายแดนมากขึ้น หลายรายสามารถขยายกิจการออกไปต่างประเทศ โดยการสนับสนุนจากสาขาในต่างประเทศของธนาคารกรุงเทพ รวมทั้งธนาคารในเครือ ซึ่งธุรกิจเหล่านี้จะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจของประเทศไทย” นายชาติศิริ กล่าว
นายชาติศิริ กล่าวต่อไปว่า ธนาคารกรุงเทพตระหนักดีว่า นอกจากลูกค้ากลุ่มที่มีความเข้มแข็งและพร้อมคว้าโอกาสใหม่ๆ แล้ว ยังคงมีลูกค้าอีกส่วนหนึ่งที่ยังเปราะบาง สืบเนื่องมาตั้งแต่การระบาดของโรคโควิด-19 และยังไม่ฟื้นตัวในภาวะที่เศรษฐกิจโดยรวมยังชะลอตัวลง ธนาคารกรุงเทพในฐานะ “เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน” จะพิจารณามาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม เพื่อช่วยลูกค้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและลูกค้าบุคคล ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ ให้สามารถผ่านช่วงนี้ไปได้ ตามแนวทางเดียวกับที่ธนาคารได้ดำเนินการมาแล้วในช่วงก่อนหน้า ที่กิจกรรมทางธุรกิจได้ชะงักงันเนื่องจากโควิด-19 ในปี 2563และต่อเนื่องถึงปี 2566
“ท่ามกลางความผันผวนทางธุรกิจในระบบเศรษฐกิจโลก ธนาคารกรุงเทพพร้อมดำเนินการเพื่อสนับสนุนลูกค้าให้สามารถผ่านความท้าทายและความยากลำบากเหล่านี้ และสามารถแสวงหาโอกาสที่เหมาะสมสำหรับสร้างการเติบโต โดยจะดำเนินการอย่างสอดรับกับรัฐบาลที่ได้ออกมาตรการลดภาระค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้า และมาตรการต่างๆ มาให้ความช่วยเหลือ และสอดรับกับธนาคารแห่งประเทศไทยที่ได้ดำเนินนโยบายทางการเงินเพื่อช่วยดูแลเงินเฟ้อ และช่วยให้สภาพแวดล้อมทางธุรกิจมีเสถียรภาพมากขึ้น เพื่อให้บริษัทไทยสามารถฟันฝ่าอุปสรรค ก้าวข้ามความท้าทายที่รออยู่ และเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป”