ค่าเงินบาทวันนี้ 22 ม.ค.67 ‘อ่อนค่า‘ ความเชื่อมั่นสหรัฐดี-ดอลลาร์แข็งค่า
ค่าเงินบาทวันนี้ 22 ม.ค.67 เปิดตลาด “อ่อนค่า”ที่ 35.54 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ ยังออกมาดีกว่าตลาดคาด ตลาดเปิดรับความเสี่ยง ดอลลาร์แข็งค่า มองกรอบเงินบาทวันนี้ 35.45-35.65 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทวันนี้ เปิดตลาดเช้านี้ ที่ระดับ 35.54 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 35.51 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 35.20-35.80 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.45-35.65 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ sideways ใกล้ระดับ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ (แกว่งตัวในกรอบ 34.43-35.57 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะผันผวนอ่อนค่า ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ หลังรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ โดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) ออกมาดีกว่าคาด
อย่างไรก็ดี ภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ของตลาดการเงินสหรัฐฯ ที่หนุนให้ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ อย่าง ดัชนี S&P500 ต่างปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ ก็มีส่วนช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ และหนุนให้เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง
สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทอาจชะลอลงบ้าง หลังผู้เล่นในตลาดได้ทยอยลดความคาดหวังต่อการลดดอกเบี้ยของเฟดในเดือนมีนาคมไปพอสมควร ทว่า เงินบาทยังมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าต่อได้ หากนักลงทุนต่างชาติเดินหน้าเทขายสินทรัพย์ไทยต่อเนื่อง นอกจากนี้ ควรจับตาทิศทางราคาทองคำ หลังราคาทองคำมีแนวโน้มรีบาวด์ขึ้นจากโซนแนวรับ ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของทองคำ ซึ่งจะช่วยชะลอการอ่อนค่าหรือช่วยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นบ้าง
ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า ปัจจัยหนุนการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ยังคงมีอยู่ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด จนทำให้ผู้เล่นในตลาด “เลิกเชื่อ” ว่าเฟดจะรีบลดดอกเบี้ย หรือผลการประชุม ECB และ BOJ ชี้ว่าทั้งสองธนาคารกลางหลักอาจมีแนวโน้มนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายกว่าเฟด จนกดดันให้ทั้งเงินยูโร (EUR) และเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ผันผวนอ่อนค่าลง
เราคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward
สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทอ่อนค่าลง หลังผู้เล่นในตลาดทยอยลดความคาดหวังต่อการลดดอกเบี้ยเร็วและลึกของเฟด ส่วนนักลงทุนต่างชาติต่างเทขายสินทรัพย์ไทย
ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ อัตราเงินเฟ้อ PCE และดัชนี PMI พร้อมเตรียมจับตาผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
▪ ฝั่งสหรัฐฯ – ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อาทิ รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ โดย S&P (Manufacturing & Services PMIs) ในเดือนมกราคม รวมถึงคาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ครั้งแรก และไฮไลท์สำคัญ อย่าง รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดจับตา โดยหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงออกมาดีกว่าคาด สะท้อนภาพเศรษฐกิจโดยรวมที่ยังคงสดใส ก็จะยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาด “เลิกเชื่อ” ว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยได้ “เร็วและลึก” โดยล่าสุดจาก CME FedWatch Tool ตลาดให้โอกาสเพียง 49% ที่เฟดจะลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมีนาคม ซึ่งหากโอกาสดังกล่าวลดลงต่อเนื่อง จะยิ่งหนุนให้ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว เรามองว่า บรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ (รวมถึงตลาดการเงินโลก) อาจขึ้นกับรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ อาทิ Netflix, ASML และ Tesla โดยบรรยากาศเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ของตลาดากรเงินโดยรวมอาจพอช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ได้
▪ ฝั่งยุโรป – บรรดาผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจของอังกฤษ และยูโรโซน ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อย่าง ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของอังกฤษ และยูโรโซน รวมถึง รายงานดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี (IFO Business Climate) โดยหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจของฝั่งยูโรโซน ไม่ได้ออกมาแย่กว่าคาด หรือ สะท้อนแนวโน้มการชะลอตัวลงที่มากขึ้นชัดเจนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เราคาดว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Deposit Facility Rate) ไว้ที่ระดับ 4.00% และอาจส่งสัญญาณย้ำจุดยืนว่า ECB จะไม่รีบลดดอกเบี้ย ตามที่ตลาดกำลังคาดหวัง จนกว่า ECB จะมั่นใจว่าสามารถคุมปัญหาเงินเฟ้อได้สำเร็จ ซึ่งภาพดังกล่าวอาจช่วยลดทอนแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินเงินยูโร (EUR) หรือช่วยให้เงินยูโรแข็งค่าขึ้นได้บ้าง อย่างไรก็ดี หากผู้เล่นในตลาดตีความว่า ECB ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนขึ้น ต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ย ก็อาจยิ่งกดดันให้เงินยูโรผันผวนอ่อนค่าลงได้ไม่ยาก
▪ ฝั่งเอเชีย – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) โดยเราคาดว่า BOJ จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ -0.10% พร้อมยังไม่เปลี่ยนแปลงมาตรการ Yield Curve Control อย่างไรก็ดี เราจะจับตาว่า มุมมองของ BOJ ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง หรือ BOJ มีการส่งสัญญาณต่อโอกาสในการปรับใช้นโยบายการเงินให้เข้มงวดมากขึ้นหรือไม่ เพราะหาก BOJ ยังไม่มีการส่งสัญญาณดังกล่าว หรือ แสดงความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ BOJ ก็อาจกดดันให้ ค่าเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ผันผวนอ่อนค่าลงต่อเนื่องจากระดับ 148 เยนต่อดอลลาร์ได้ ทั้งนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินทิศทางเศรษฐกิจญี่ปุ่นและแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของ BOJ จากรายงานยอดการส่งออกรวมถึงรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการล่าสุด
▪ ฝั่งไทย – บรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า การค้าระหว่างประเทศของไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยยอดการส่งออก (Exports) อาจโตได้ราว +5.9%y/y หนุนโดยการกลับมาเป็นขาขึ้นของวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และ Semiconductor รวมถึงการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่ยังไปได้ดี ส่วนยอดการนำเข้า (Imports) จะขยายตัว +7%y/y ตามการฟื้นตัวของการส่งออกเป็นหลัก