'สุริยะ' เข็น 223 โปรเจกต์ 1.3 แสนล้าน เร่งปี 68 วางโครงข่ายคมนาคมภูมิภาค
“คมนาคม” เร่งลงทุนโปรเจกต์ปี 2568 รวม 223 โครงการ วงเงินกว่า 1.36 แสนล้าน พร้อมกางแผนปี 2569 อัดงบต่อเนื่อง 1.16 แสนล้านบาท เพิ่มโครงข่ายมอเตอร์เวย์ ท่าเรือท่องเที่ยว และรถไฟความเร็วสูง ผลักดันไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมในภูมิภาค
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการจัดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “ขับเคลื่อนนโยบายคมนาคม เพื่อโอกาสประเทศไทย” เพื่อวางแผนการขับเคลื่อนดำเนินโครงการในปีงบประมาณ 2568 และ 2569 ในเมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2568 โดยระบุว่า รัฐบาลมุ่งมั่นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม เพื่อส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัย ลดต้นทุนโลจิสติกส์ กระจายความเจริญสู่ภูมิภาค และยกระดับให้บริการระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้กับประเทศ
อย่างไรก็ดี กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานในสังกัด ได้เร่งเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการสำคัญในปี 2568 พร้อมทั้งได้ระดมความคิดในการวางแผนงานการดำเนินงานโครงการใหม่ที่สำคัญในปี 2569 เพื่อสร้างโอกาสให้กับประเทศไทย ให้พี่น้องประชาชนได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว ตรงเวลา ราคาสมเหตุสมผล ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างเสมอภาค เท่าเทียม ปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมผลักดันให้ไทยก้าวสู่การเป็น “ศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งในระดับภูมิภาค” อย่างยั่งยืน
โดยกระทรวงคมนาคมได้วางแผนการดำเนินโครงการด้านคมนาคมในปี 2568 จำนวนทั้งสิ้น 223 โครงการ วงเงินลงทุน 136,492.43 ล้านบาท เป็นโครงการต่อเนื่อง 107 โครงการ วงเงินลงทุน 53,622.78 ล้านบาท และโครงการใหม่ 116 โครงการ วงเงินลงทุน 82,869.65 ล้านบาท โดยแบ่งตามรูปแบบการขนส่ง เพื่อให้เห็นทิศทางภาพความสำเร็จการดำเนินงาน เป็น 5 มิติ ประกอบด้วย
1. มิติพัฒนาการขนส่งทางถนน เพื่อแก้ไขปัญหาจราจร ยกระดับความปลอดภัย และเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายถนน และพัฒนาการขนส่งระหว่างเมือง 50 โครงการ แบ่งเป็นโครงการต่อเนื่อง 15 โครงการ และโครงการใหม่ 35 โครงการ เช่น โครงการทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ - ลำลูกกา) และขยายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง M5 ทางยกระดับอุตราภิมุข (โทลล์เวย์) รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมต่อถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร M9 ช่วงถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ให้ครบทุกเส้นทาง
2. มิติพัฒนาการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคมได้ให้ความสำคัญ โดยส่งเสริมพัฒนาการขนส่งสาธารณะที่สะดวก ปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งในปี 2568 มีโครงการที่สำคัญ 41 โครงการ เป็นโครงการต่อเนื่อง 17 โครงการ เช่น การส่งเสริมการเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนเสริม (Feeder) ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล การจัดหาเมล์ปรับอากาศพลังงานไฟฟ้า 1,520 คัน และรถโดยสารระหว่างจังหวัดพลังงานไฟฟ้า 54 คัน
3. มิติการพัฒนาการขนส่งทางราง ได้ให้ความสำคัญในการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ เปลี่ยนการขนส่งจากถนนมาสู่ทางรางและน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้า และลดต้นทุนโลจิสติกส์ โดยในปี 2568 มีโครงการที่สำคัญ 69 โครงการ เป็นโครงการต่อเนื่อง 36 โครงการ เช่น การผลักดันกฎหมายร่าง พ.ร.บ. การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม และร่าง พ.ร.บ. การขนส่งทางรางฯ รวมถึงการจัดทำกฎหมายลำดับรองภายใต้ร่าง พ.ร.บ. และการเดินหน้านโยบายลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาททุกสาย
4. มิติการพัฒนาการขนส่งทางน้ำ ในปี 2568 มีโครงการที่สำคัญ 26 โครงการ เป็นโครงการต่อเนื่อง 20 โครงการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการพัฒนาการขนส่ง เปิดประตูการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว สร้างการเป็นฮับเพื่อเชื่อมโยงการเดินทางในทุกมิติ เช่น โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 การพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ รวมถึงการผลักดันกฎหมายร่าง พ.ร.บ. ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ. .... เพื่อสนับสนุนการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์และการท่องเที่ยว
5. มิติการพัฒนาการขนส่งทางอากาศ ได้เร่งรัดเพิ่มศักยภาพท่าอากาศยานหลักของประเทศรองรับผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้น ขับเคลื่อนสู่การเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคหรือ Aviation Hub ด้วยการยกระดับการให้บริการ 37 โครงการ แบ่งเป็น โครงการต่อเนื่อง 19 โครงการ เช่น การพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 การพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2 และติดตั้ง Automatic Border Control ระยะที่ 2 ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการ
นายสุริยะ กล่าวอีกว่า ส่วนแผนการดำเนินโครงการในปี 2569 เบื้องต้นมีจำนวน 64 โครงการ วงเงินลงทุนประมาณ 116,962.12 ล้านบาท โดยมีโครงการลงทุน อาทิ โครงก่อสร้างทางพิเศษจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 2 ช่วงเมืองใหม่ - เกาะแก้ว - กะทู้ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 8 ช่วงนครปฐม - ปากท่อ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก)
รวมไปถึงการพัฒนารถไฟความเร็วสูงไทย - จีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา - หนองคาย จัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้า พร้อมอะไหล่ 113 คัน เสริมศักยภาพท่าอากาศยานท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อขับเคลื่อนสู่การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค และศึกษาแนวทางการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางมารีน่าของภูมิภาคอาเซียน เป็นต้น