เงิน 'เอเชีย’ เสื่อมค่าหนัก! หลังศก.จีนป่วย-ดอลล์แข็งจากข้อมูลศก.แกร่ง
สกุลเงินทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกร่วงลงสู่ระดับที่อ่อนค่าที่สุดเมื่อเทียบกับดอลลาร์ในรอบหลายเดือนเนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและสกุลเงินดอลลาร์แข็งตั้งแต่ต้นปีจากข้อมูลเศรษฐกิจแกร่ง
สำนักข่าวนิกเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) รายงานวันนี้ (25 ม.ค.) ณ เวลา 03.28 น. ว่า สกุลเงินทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกร่วงลงสู่ระดับที่อ่อนค่าที่สุดเมื่อเทียบกับดอลลาร์ในรอบหลายเดือน เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนทําให้เกิด “เงามืด” เหนือสกุลเงินของประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าที่แน่นแฟ้นกับปักกิ่ง
เปโซฟิลิปปินส์ รูเปียห์อินโดนีเซีย และริงกิตมาเลเซียเป็นหนึ่งในสกุลเงินที่แตะระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือนเมื่อเทียบกับดอลลาร์เมื่อวานนี้ รวมทั้งเงินบาทและดอลลาร์ออสเตรเลียซื้อขายกันที่อ่อนค่าที่สุดในรอบหนึ่งถึงสองเดือน
สกุลเงินในแถบเอเชียและโอเชียเนียอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์นับตั้งแต่ปลายปี 2566 โดยเงินบาท ดอลลาร์ออสเตรเลีย และดอลลาร์นิวซีแลนด์อ่อนค่าลงประมาณ 4% และเงินวอนของเกาหลีใต้ลดลงมากกว่า 3% ขณะที่เงินยูโรอ่อนค่าลงประมาณ 1.6% และเงินปอนด์อังกฤษ 0.3%
ด้านบทวิเคราะห์ของสำนักข่าวนิกเคอิ เอเชีย ระบุว่า แนวโน้มการอ่อนค่าส่วนหนึ่งมาจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ตั้งแต่ต้นปี โดยปกติแล้ว เงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นจะทําให้ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ชําระหนี้ในสกุลเงินดอลลาร์ได้ยากขึ้น เพราะจะกดดันให้สกุลเงินในกลุ่มประเทศดังกล่าวเสื่อมค่าลง
ข้อมูลเศรษฐกิจที่สําคัญของสหรัฐที่เผยแพร่ในเดือนนี้ เช่น ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนธ.ค.และตัวเลขยอดค้าปลีก เป็นการตอกย้ำความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจอเมริกัน นักลงเริ่มซื้อเงินดอลลาร์มากขึ้นจากการเก็งกําไรที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้ รวมทั้งการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีนก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่กดดันค่าเงินในภูมิภาคดังกล่าว
แม้ว่าเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกจะเห็นสัญญาณเชิงบวกบ้างในฤดูใบไม้ผลิปี 2566 แต่ก็ยังอยู่ในโซนที่ไม่ดีมากนัก ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของจีนลดลงต่ำกว่าเส้นเฉลี่ยเป็นเดือนที่สามติดต่อกันในเดือนธ.ค. และลดลงในปีนี้เป็นเวลาสามเดือนติดต่อกันตั้งแต่เดือนต.ค.
โดยหลายประเทศในเอเชียพึ่งพาจีนทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมากซึ่งหมายความว่าการตกต่ำของประเทศดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะกระตุ้นการขายในสกุลเงินประเทศเหล่านั้นมากขึ้นเพราะความสนใจจากนักลงทุนน้อยลง
"อุตสาหกรรมที่สําคัญที่สุดในประเทศเหล่านี้สําหรับการหารายได้จากเงินตราต่างประเทศขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจจีน ตั้งแต่ถ่านหินและแร่เหล็กในออสเตรเลีย ไปจนถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในฟิลิปปินส์ และการท่องเที่ยวในประเทศไทย" โทรุ นิชิฮามะ (Toru Nishihama) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก Dichi Life Research Institute.
ด้าน กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) รายงานว่า ออสเตรเลียส่งออกไปจีนประมาณ 30% เกาหลีใต้และอินโดนีเซียส่งออกไปจีน 20% และไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวจากจีนจำนวนมาก ทั้งหมดแสดงถึงการพึ่งพาจีนที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
อ้างอิง