‘ค่าเงิน’ จ่อแตะ37บาทต่อดอลลาร์ เฟดลดดอกเบี้ยช้า-กนง.เสียงแตก
นักวิเคราะห์ คาด ค่าเงินบาท จ่ออ่อนค่าแตะ 37.00บาทต่อดอลลาร์ ในครึ่งแรกของปี หากเฟดไม่ลดดอกเบี้ยเหมือนที่ตลาดคาด พร้อมจับตาประชุมกนง.เสียงแตก หนุนนโยบายการเงินเปลี่ยนทิศ ลงดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาด
สถานการณ์ “อัตราแลกเปลี่ยน” หรือสถานการณ์ ค่าเงินบาท ยังคงอ่อนค่าต่อเนื่อง หากนับตั้งแต่ต้นปี ถึงปัจจุบัน( 29 ม.ค.) เกือบอ่อนสุดของภูมิภาค แพ้ประเทศเดียวคือ “เงินเยน” ที่ค่าเงินอ่อนค่าที่ 4.55% ขณะที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าเป็นอันดับสองของภูมิภาคที่ 3.99% สะท้อนจาก “เงินทุนไหลออก” ที่ต่างชาติยังคงไหลออกต่อเนื่อง ทั้งตลาดเงินและตลาดทุน
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน ว่าสกุลเงินบาทพลิกผันจากการเป็นสกุลเงินแข็งค่าที่สุดในเอเชียเมื่อไตรมาสสี่ เป็นสกุลเงินอ่อนค่าหนักสุดในปีนี้ เมื่อกองทุนต่างชาติต่างเมินสินทรัพย์ไทยท่ามกลางการโต้แย้งกันระหว่างรัฐบาลกับธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่องวิธีการกระตุ้นเศรษฐกิจ
อัลวิน ตัน หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ปริวรรตเงินตราเอเชียของบริษัทอาร์บีซี แคปิตอล มาร์เก็ตส์ (RBC Capital Markets) ในสิงคโปร์ระบุว่า เงินบาทจะได้รับผลกระทบจากการวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองเกี่ยวกับระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง
พร้อมคาดการณ์ว่า เงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 36.0-36.50 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า จากระดับปิดเมื่อสัปดาห์ก่อนที่ 35.63 บาทต่อดอลลาร์
หากดูการเคลื่อนไหวในตลาดหุ้นไทย พบว่า ต่างชาติขายหุ้นไทยต่อเนื่อง ส่งผลให้ดัชนีหุ้นไทยร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปีในสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่ามกลางความวิตกกังวลนักลงทุนต่างชาติ ในตลาดตราสารหนี้ ก็ไม่ต่างกัน ที่เผชิญเงินทุนไหลออก จากสัญญาณการผิดนัดชำระหุ้นกู้มากขึ้น
หัวใจสำคัญ ที่มีผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุน และมีผลต่อการเคลื่อนไหวเงินบาท ที่เหล่าเทรดเดอร์จับตาอย่างใกล้ชิดคือ การประกาศตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดของเดือนธ.ค. 2566 ในวันที่ 31 ม.ค.นี้ว่าออกมาดีขึ้นหรือไม่ หลังขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 1.24 พันล้านดอลลาร์ในเดือนพ.ย.
สำนักข่าวบลูมเบิร์กยังรายงานอีกว่า เศรษฐกิจจีนที่อ่อนแอ และโอกาสการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ ที่อาจล่าช้า จะเป็นหนึ่งในปัจจัยลบต่อค่าเงินบาทหลังจากนี้ หากเฟดปรับลดดอกเบี้ยช้ากว่าที่ตลาดคาดการณ์ในเดือน พ.ค.ปีนี้ แทนที่จะเป็น เดือนมี.ค. ซึ่งจะหนุนให้เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่ามากขึ้น เหล่านี้จะเพิ่มแรงกดดันต่อค่าเงินบาท ให้มีโอกาสอ่อนค่ามากขึ้น
สงวน จุงสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า หัวใจหลักที่ทำให้เงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่า หรือแข็งค่าขึ้น อิทธิพลหลักๆ ยังมาจากการเคลื่อนไหวของ “ค่าเงินดอลลาร์” จากการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด มากกว่า ปัจจัยความขัดแย้งในประเทศ ที่เกิดขึ้นระหว่าง กระทรวงการคลัง กับแบงก์ชาติ
เพราะหากดูท่าทีของ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ก็พร้อมปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยลง เมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจไม่ได้เป็นไปตามคาด ผ่านการปรับจีดีพีในระยะข้างหน้า
ส่วนการเคลื่อนไหวเงินบาท ในระยะสั้น เงินบาทเคลื่อนไหวแข็งค่า อยู่ที่ 35.55 บาทต่อดอลลาร์ แต่หากนับตั้งแต่ต้นปี ถึงปัจจุบัน ค่าเงินบาทยังอยู่ในทิศทางอ่อนค่า หากเทียบกับภูมิภาค โดยอ่อนค่าเกือบ 4% เกือบมากที่สุดในภูมิภาค
หากเฟดส่งสัญญาณในการประชุมระยะข้างหน้า ว่าอาจลดดอกเบี้ยน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ มาเหลือเพียง 3 ครั้งจาก 5 ครั้งที่ตลาดคาด มีโอกาสเป็นไปได้ ที่ค่าเงินดอลลาร์จะกลับไปแข็งค่าอีกครั้ง และหนุนให้เงินบาทกลับมาอ่อนค่ามากขึ้น หากเทียบกับระดับปัจจุบัน
ซึ่งแรงกดดันเหล่านี้ เชื่อว่าจะยังดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องในครึ่งปีแรกนี้ บวกกับ ช่วงไตรมาส 2 จะเป็นช่วงการจ่ายเงินปันผลของบริษัทจดทะเบียน ที่จะยิ่งหนุนทำให้มีเงินไหลออกนอกประเทศมากขึ้น อาจทำให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าไปแตะระดับ 36.50 บาทต่อดอลลาร์ได้
ส่วนการดำเนินนโยบายการเงินของไทย(กนง.) ในวันที่ 7 ก.พ.นี้ เป็นที่จับตาของตลาดอย่างมาก เพราะเป็นครั้งแรกที่กนง.มี 2 คณะกรรมการใหม่ ในการพิจารณาดอกเบี้ยครั้งนี้ ว่าผลการประชุมจะออกมาเป็นอย่างไร
ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา การพิจารณาดอกเบี้ย ออกมาเป็นเอกฉันท์มาโดยตลอด โดยเฉพาะหลังโควิดเป็นต้นมา แต่หากรอบนี้ ผลการประชุมออกมา เป็น “เสียงแตก”ไม่เอกฉันท์ ตลาดเกิดความผันผวนค่อนข้างมาก
โดยเฉพาะหากมีเสียงให้ลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จะเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ตลาดคาดการณ์ได้ว่า กนง.อาจมีการลดดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาด จากเดิมที่คาดลดดอกเบี้ยหลังเฟด เหล่านี้จะเป็นปัจจัยฉุดสำคัญ ที่ทำให้เงินบาทกลับมายืนอ่อนค่าได้ แม้จะเป็นในช่วงสั้นๆ ก็ตาม
“ส่วนตัวยังเชื่อว่ากนง.จะไม่ลดดอกเบี้ยในการประชุมรอบนี้ แต่หากผลออกมาไม่ 7ต่อ 0 ไม่เป็นเอกฉันท์ สถานการณ์พลิกอาจทำให้ตลาดคาดว่ากนง.มีโอกาสลดดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาด ซึ่งจะกดดันเงินบาทให้อ่อนค่าต่อเนื่อง”
กอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย มองว่าแรงกดดันที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่ายังมีอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากแรงขายในตลาดหุ้นไทย ผลบวกจากนักท่องเที่ยวที่อาจไม่ได้มากเหมือนที่คาด ทำให้การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอาจไม่ได้กลับมาบวกมากเหมือนอดีต
โดยเฉพาะการพิจารณานโยบายการเงินของเฟด ในระยะข้างหน้า หากส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยช้ากว่าที่คาด เงินดอลลาร์อาจกลับมาแข็งค่ามากขึ้น กดดันเงินให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้ ดังนั้นมองว่า ในครึ่งปีแรกเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าไปได้ถึงระดับ 37.00บาทต่อดอลลาร์
แรงกดดันทางการเมือง จากความขัดแย้งระหว่างแบงก์ชาติและกระทรวงการคลัง ที่เห็นต่างกันมากขึ้นเกี่ยวกับการลดดอกเบี้ย ก็เป็นอีกปัจจัยที่อาจกระทบต่อเสถียรภาพได้ เพราะหากปล่อยให้มีการเข้ามาแทรกแซงการดำเนินนโยบายการเงินเกินไป อาจนำไปสู่การดำเนินนโยบายการเงินที่ไม่มีเสถียรภาพได้ในสายตานักลงทุน
“การถูกแทรกแซงให้ลดดอกเบี้ย แม้จะเป็นผลดีในระยะสั้นแต่ไม่ดีแน่ในระยาว เพราะเมื่อไหร่ที่การเมืองเข้าไปแทรกแซงเกินไป จนนโยบายการเงินขาดอิสระ จนขาดเอกภาพ ต่างชาติอาจมองไม่ดีได้”
จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังของไทยระบุในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลไทยวิตกกังวลว่าต้นทุนการกู้ยืมเงินที่อยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 10 ปีจะฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยปฏิเสธข้อเรียกร้องเรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยให้เหตุผลว่า การลดต้นทุนการกู้ยืมเงินนั้นไม่สามารถแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างในเศรษฐกิจไทยได้