ค่าเงินบาทวันนี้ 7 ก.พ. 67 ’แข็งค่า‘ ดอลลาร์อ่อนค่า-โฟลว์ขายทองทำกำไร
ค่าเงินบาทวันนี้ 7 ก.พ. 67 เปิดตลาด “แข็งค่า”ที่ 35.52 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้ดอลลาร์พลิกอ่อนค่าจากตลาดหวังเฟดลดดอกเบี้ยในเดือนพ.ค.และแรงทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ทองคำ มองกรอบเงินบาทวันนี้ 35.50-35.65 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า "ค่าเงินบาทวันนี้" ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.52 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.67 บาทต่อดอลลาร์
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.50-35.65 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุม กนง. และประเมินกรอบเงินบาทในช่วง 35.40-35.75 บาทต่อดอลลาร์ หลังทยอยรับรู้ผลการประชุม กนง.
สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เราประเมินว่า ในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุม กนง. ค่าเงินบาทอาจแกว่งตัว sideways ใกล้โซน 35.50 บาทต่อดอลลาร์ หลังจากที่เงินบาทได้ทยอยแข็งค่าขึ้นในช่วงคืนก่อนหน้า ทว่า เงินบาทก็อาจพอแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หากบรรยากาศในตลาดการเงินเอเชีย ยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง ซึ่งต้องจับตาว่า ตลาดหุ้นจีนและตลาดหุ้นฮ่องกง จะยังคงปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง หรือ ไม่ โดยภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินจีนก็จะช่วยหนุนให้เงินหยวนจีน (CNY) ทยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง ส่งผลดีต่อสกุลเงินฝั่งเอเชีย โดยเฉพาะค่าเงินที่เศรษฐกิจมีความเชื่อมโยงกับจีนสูง อย่าง ค่าเงินบาท
ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม กนง. (ในช่วง 14.00 น. เป็นต้นไป) โดยเราประเมินว่า ค่าเงินบาทเสี่ยงผันผวนอ่อนค่าเร็วและแรง หาก กนง. มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ในการคงอัตราดอกเบี้ย (มีคณะกรรมการบางท่าน เห็นควรให้ลดดอกเบี้ย -25bps) หรือ กนง. มีการส่งสัญญาณที่ชัดเจน พร้อมใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น ซึ่งอาจต้องเห็นการปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยให้แย่ลงอย่างมีนัยสำคัญ เช่นกัน โดยเบื้องต้น ประเมินว่า ค่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้าน 35.70-35.75 บาทต่อดอลลาร์ และหากผู้เล่นในตลาดประเมินว่า การทยอยลดดอกเบี้ยของ กนง. หากเกิดขึ้น จะช่วยหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ก็อาจเห็นการกลับเข้าซื้อหุ้นไทยของบรรดานักลงทุนต่างชาติ ซึ่งจะช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาท หรือ อาจหนุนให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าแถวโซน 35.50 บาทต่อดอลลาร์ หรือทดสอบแนวรับถัดไป 35.30 บาทต่อดอลลาร์ได้เช่นกัน
เราขอเน้นย้ำว่า ในช่วงนี้ ความผันผวนของเงินบาทนั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) อย่างเห็นได้ชัด ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง
รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนในช่วงนี้ที่ยังคงสดใส และความคาดหวังการทยอยลดดอกเบี้ยของเฟดราว 5 ครั้งในปีนี้ ได้ช่วยหนุนให้บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ สามารถอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงต่อได้ แม้ว่าผู้เล่นในตลาดจะมีการขายทำกำไรหุ้นกลุ่ม Semiconductor เช่น AMD -3.6%, Nvidia -1.6% ที่ปรับตัวขึ้นร้อนแรงในปีนี้บ้างก็ตาม ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาดรีบาวด์ขึ้น +0.23%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +0.63% หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาสดใส โดยเฉพาะกลุ่มพลังงาน เช่น BP +5.5% ขณะเดียวกัน ความหวังต่อการฟื้นตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจจีน จากการทยอยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีน และการเข้าพยุงตลาดหุ้นจีนอย่างต่อเนื่อง ก็ช่วยหนุนให้บรรดาหุ้นยุโรปที่เกี่ยวข้องกับธีมการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีน ต่างปรับตัวขึ้น เช่น หุ้นกลุ่มเหมืองแร่และยานยนต์ Rio Tinto +0.8%, Ferrari +1.5%
ในฝั่งตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคาดหวังว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยราว -125bps ในปีนี้ รวมถึงความกังวลของผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่อปัญหาธนาคารภูมิภาคสหรัฐฯ (US Regional Banks) ได้กดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงเล็กน้อยสู่ระดับ 4.11% ทั้งนี้ เราคงมองเหมือนเดิมว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีความเสี่ยงที่จะปรับตัวขึ้นต่อได้บ้าง หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดทยอยลดความคาดหวังต่อการลดดอกเบี้ยหลายครั้งของเฟด ดังนั้น เราจึงขอเน้นย้ำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเน้นกลยุทธ์ Buy on Dip เพื่อลดความเสี่ยงการขาดทุนเมื่อมองภาพผลตอบแทนโดยรวม หรือ Total Return ซึ่งหากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ สามารถปรับตัวขึ้น ทะลุระดับ 4.20% ไปได้ ก็จะมีความน่าสนใจในการทยอยเข้าซื้อเป็นอย่างมาก
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับบรรดาสกุลเงินหลัก ตามการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังผู้เล่นในตลาดยังคงคาดหวังการทยอยลดดอกเบี้ยของเฟดราว 5 ครั้งในปีนี้ ซึ่งถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดล่าสุด ก็ไม่ได้ทำให้ผู้เล่นในตลาดมีการปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ทยอยปรับตัวลงสู่ระดับ 104.1 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 104.1-104.6 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้หนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง สู่โซน 2,050 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนเลือกที่จะทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์จากโซนแนวรับของราคาทองคำออกมาบ้าง ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านม
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งเรามองว่า กนง. อาจมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50% ทว่าควรจับตาการปรับเปลี่ยนมุมมองของ กนง. ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ รวมถึงการส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น และการปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจ (ถ้ามี)
นอกจากนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด รวมถึง ผลการประมูลพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ในช่วงนี้ได้