เงินบาท ’ผันผวนสูง' รองแค่ ‘เยน’ กูรูแนะ ‘เอกชน’ ป้องกันความเสี่ยง

เงินบาท ’ผันผวนสูง' รองแค่ ‘เยน’ กูรูแนะ ‘เอกชน’ ป้องกันความเสี่ยง

​เกิดเสียงบ่นมาเป็นระลอกๆ ว่า “เงินบาท” เคลื่อนไหว "ผันผวนสูง" ขึ้นอย่างชัดเจน นับตั้งแต่ช่วงหลังวิกฤติโควิด-19 ปี 2564 

Key Points :

  • ณ เดือนก.พ.67  เงินบาท ยังมีค่าความผันผวนที่ระดับ 7.8% ยัง “ผันผวนระดับสูง” เป็นปกติอยู่ ต่อเนื่องจากในปี 2565 ที่ระดับ 8.9% และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องถึงระดับ 10.3% ในปี 2566 
  • เหตุจาก ความไม่แน่นอนทิศทางนโยบายการเงินเฟด-ความผันผวนราคาทองคำ เป็นปัจจัยหลักทำให้เงินบาทผันผวนสูง
  • นักกลยุทธ์ตลาดเงิน ยังคงแนะผู้ประกอบการ "โฟกัสที่ต้นทุน" บริษัทพยายามปิดความเสี่ยงให้เหมาะสม "ไม่เน้นเก็งกำไรค่าเงิน" 

ธนาคารกรุงไทย” พบว่าในปี 2564 เงินบาทมีค่าความผันผวนที่ระดับ 5.4% ต่อมาในปี 2565 ค่าความผันผวนปรับเพิ่มขึ้นที่ระดับ 8.9% และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องถึงระดับ 10.3% ในปี 2566

ขณะที่ ในปี 2567 เดือนก.พ. เงินบาทยังมีค่าความผันผวนที่ระดับ 7.8% แม้จะ “ลดลง” จากปีก่อน แต่ก็ยังถือว่า “ผันผวนระดับสูง” เป็นปกติอยู่ ! แต่อยางไรก็ตาม ค่าความผันผวนของเงินบาท เฉลี่ยที่ระดับ 4-5% ต่อปี และหากเทียบกับค่าความผันผวนของสกุลเงินอื่นในภูมิภาคในช่วง 5 ปี (2562-2564) และเดือน ก.พ.67 พบ เงินบาทผันผวนสูงเป็นรองเงินเยนเท่านั้น

เงินบาท ’ผันผวนสูง\' รองแค่ ‘เยน’ กูรูแนะ ‘เอกชน’ ป้องกันความเสี่ยง

ปัจจัย “กดดัน” เงินบาทผันผวนสูงเกิดจากปัจจัยอะไรบ้างนั้น “พูน พานิชพิบูลย์” นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย ชี้ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจที่เปลี่ยน เดิมไทยมีรายได้จากส่งออกและท่องเที่ยวที่ดีทำให้ปัจจัยภายนอกอาจกระทบต่อความผันผวนเงินบาทไม่มาก

ทว่า ปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยทั้งส่งออก-ท่องเที่ยว แม้ฟื้นตัวดีขึ้นแต่ก็ยังไม่ได้กลับไปสู่ระดับก่อนโควิดนั่นเอง นี่คือ “จุดสำคัญ” ที่ทำให้ปัจจัยภายนอกมีผลต่อความผันผวนของค่าเงินบาทพอสมควร

เหตุผลหลัก คือ “ความไม่แน่นอนทิศทางนโยบายการเงินเฟด” ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากความไม่แน่นอนทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐ โดยเฉพาะในส่วนของแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงินเฟด ยังส่งผลกระทบต่อ “ความผันผวนราคาทองคำ” ที่เป็นสินทรัพย์เคลื่อนไหวสอดคล้องกับเงินบาทสูง ทำให้ความผันผวนเงินบาทก็มาจากราคาทองคำด้วย

อีกทั้ง เทรนด์ที่น่าสนใจคือ “เงินหยวน” ของจีนที่มีค่าความผันผวนลดลงนั้น สะท้อนจากการเข้ามาแทรกแซงของทางการจีน ในขณะที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงเข้ามาดูแลเงินบาทให้มีเสถียรภาพตลอด แต่ความผันผวนสูงเงินบาทมาจากหลายปัจจัยภายนอกต้องติดตามใกล้ชิด

“ขอเน้นย้ำช่วงนี้ความผันผวนเงินบาทนั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) ชัดเจน”

 ทำให้คงคำแนะนำผู้ประกอบการ “โฟกัสที่ต้นทุนบริษัทพยายามปิดความเสี่ยงให้เหมาะสม ไม่เน้นเก็งกำไรค่าเงิน”

แต่ถ้ากังวลเรื่อง “กำไร หรือ ขาดทุน” จากการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น เช่น การทำ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่นก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง มองตรงจุดนี้ทาง “แบงก์ชาติ” สามารถจัดอบรมสัมมนาให้กับผู้ประกอบการหรือพิจารณากลับมา “ทำแคมเปญ Option ช่วยชาติอีกรอบ” ก็สามารถทำได้เช่นกัน  

มองกรอบค่าเงินบาทสิ้นปีนี้ ที่ระดับ 33.00-33.50 บาทต่อดอลลาร์  บนสมมติฐานเดิมก่อนว่า กนง. คงดอกเบี้ย 2.50%  แต่หาก กนง. ลดดอกเบี้ย ลง 2 ครั้ง ในปีนี้ (ซึ่งพร้อมจะปรับมุมมองจากคงดอกเบี้ย เป็น ลดดอกเบี้ย หาก กนง. หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจลงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งภาพรวมเศรษฐกิจ และ การบริโภคภาคเอกชน)  และเฟด ลดดอกเบี้ย ตาม Dot Plot บนภาพการชะลอตัวเศรษฐกิจแบบ soft landing เหมือนปี 1995  ประเมินว่า เงินบาท ก็อาจจะแข็งค่าขึ้นบ้าง แต่จะจบสิ้นปีนี้ บริเวณ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ 

 

“รุ่ง สงวนเรือง” ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวางแผนโกลบอล ธนาคารกรุงศรีอยุธยา มองเงินบามผันผวนสูง แต่ไม่ได้มีความผิดปกติ แต่ยอมรับว่าปัจจัยเสี่ยงมีมากขึ้น ทั้งความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัวช้า การค้าโลกมีความไม่แน่นอนสูง และความผันผวนราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะทองคำ

แนะนำทั้งฝั่งผู้ส่งออกและผู้นำเข้า ทำการป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อลดความไม่แน่นอนของรายได้และต้นทุน นอกจากนี้ อาจพิจารณาใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการชำระค่าสินค้าและบริการ กรณีที่สามารถทำได้

“กาญจนา โชคไพศาลศิลป์” ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การเคลื่อนไหวของเงินบาทยังคงผันผวน ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากยังคงมีความไม่แน่นอนจากหลายปัจจัย ทั้งในฝั่งของปัจจัยที่มีผลต่อการเคลื่อนไหวค่าเงินดอลลาร์ ขณะที่ปัจจัยในฝั่งของเงินบาทน่าจะเป็นเรื่องความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของจังหวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ซึ่งเชื่อมโยงกับการปรับเปลี่ยนมุมมองของตลาดที่มีต่อแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย