‘สมโภชน์’ ปั้นธุรกิจใหม่ดันรายได้ จ่อปิดดีลพันธมิตรใหม่ ไตรมาส1 ปีนี้
‘สมโภชน์’ เดินหน้าปั้นธุรกิจใหม่ดันรายได้ จ่อปิดดีลพันธมิตรใหม่ ไตรมาส 1 นี้ ยก ‘รถอีวี - แบตเตอรี่’ หนุนการเติบโตอนาคต ชี้ ธุรกิจ “อีเอ” เหมือนทาง “สองแพร่ง” หลังธุรกิจเดิมมาร์จิ้นลดลงเรื่อยๆ
หากเอ่ยถึงทำเนียบ “มหาเศรษฐีหุ้นไทย” หนึ่งในนั้นต้องมีชื่อของ “สมโภชน์ อาหุนัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ที่นำพาองค์กรแห่งนี้เติบโตแข็งแกร่ง และโลดแล่นในตลาดหุ้นไทยมายาวนานกว่า 11 ปี (ซื้อขายวันแรก 30 ม.ค.2556)
สะท้อนผ่าน ณ ปัจจุบันบริษัทมี “มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด” (Market Cap) อยู่ที่ระดับ 1.49 แสนล้านบาท (ตัวเลข ณ วันที่ 8 ก.พ.67) และผลดำเนินงานย้อนหลังระหว่างปี 2564 - 9 เดือนปี 2566 เติบโต บริษัทมี “กำไรสุทธิ” อยู่ที่ 6,100.07 ล้านบาท 7,604.29 ล้านบาท และ 6,442.97 ล้านบาท ตามลำดับ
ดังนั้น สำหรับเป้าหมายแผนธุรกิจปี 2567 ของ EA โดยบริษัทจะมุ่งเน้นอินโนเวชั่น ด้วยการมองหา “โอกาส” ทางธุรกิจใหม่ๆ หลังจากทศวรรษแรก EA เริ่มขับเคลื่อนองค์กรจาก “ธุรกิจพลังงานทดแทน”
ณ ปัจจุบัน EA ดำเนินธุรกิจหลัก 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มธุรกิจไบโอดีเซล 2.กลุ่มธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน - โรงไฟฟ้าพลังงานลม - โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 3.กลุ่มธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า และระบบกักเก็บพลังงาน - พัฒนา ผลิต และจำหน่ายแบตเตอรี่ - ธุรกิจบริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า (สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า)- ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า และ 4.กลุ่มธุรกิจอื่นๆ - ศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ ยานยนต์ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ - วิจัยและพัฒนา
“สมโภชน์ อาหุนัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร EA เล่าให้ฟังว่า สำหรับความคืบหน้าล่าสุดในการมองหา “พันธมิตรใหม่” ที่จะเข้ามาช่วยเสริมทัพธุรกิจขณะนี้มีความคืบหน้าไปมากในการเจรจาร่วมกัน และคาดว่าจะสามารถปิดดีลการกับพันธมิตรใหม่ได้ภายในไตรมาส 1 ปี 2567 จำนวน 1 ราย ซึ่งมองพันธมิตรที่เข้ามาจะเข้ามาเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจของบริษัทมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเข้ามาเติมเต็ม
“อีโคซิสเตม” ให้ครบวงจร
รวมทั้ง ทำให้หน่วยงานในองค์กรเกิดการ “ทำงานร่วมกัน” (Synergist) ประสานงานกันได้มากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการปูทางไปสู่ “การสร้างการเติบโต” และการดำเนินธุรกิจอย่างแข็งแกร่งในระยะข้างหน้า
ขณะที่ ในด้านการดำเนินธุรกิจมีหลากหลาย “ธุรกิจใหม่” (New Business) ที่เป็นอนาคตของบริษัท ปัจจุบันเริ่ม “ออกดอกออกผล” ให้เห็นมากขึ้นแล้ว เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวกับ “ธุรกิจสีเขียว” (Green) โดยเฉพาะ “ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า” (EV) และ “ระบบกักเก็บพลังงาน” ที่วันนี้มีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง จากเดิมขายให้กับคนไม่กี่คนเท่านั้น แต่ปัจจุบันมาสู่การขายไปในหลากหลายกลุ่ม และหลากหลายตลาดมากขึ้น โดยพูดง่ายๆ ตอนนี้เราเริ่มยอมรับในธุรกิจอีวีของบริษัทมากขึ้น รวมถึงเริ่มเปลี่ยนแปลง และปรับตัวไปใช้ธุรกิจที่เกี่ยวกับพลังงานทางเลือกอย่าง รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น
โดยประเทศไทยเป็นประเทศที่มี “ต้นทุนทางด้านโลจิสติกส์” ค่อนข้างสูง มองว่าในอนาคตไทยจะหันมาใช้อีวีกันมากขึ้น ก็จะช่วยให้ต้นทุนโลจิสติกส์ลดลง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น
“สมโภชน์” เล่าต่อว่า เมื่อมีรถยนต์อีวีแล้ว หนึ่งในปัจจัยหลักของการใช้รถยนต์อีวี นั่นคือ การชาร์จไฟฟ้านอกจากชาร์จไฟฟ้าที่บ้านแล้ว “สถานีชาร์จไฟฟ้า” (EV Charge) ก็เป็นส่วนสำคัญ และสอดคล้องกับกลยุทธ์สำคัญของ EA กำลังมุ่งไปในการขยายสถานีชาร์จไฟฟ้า โดยบริษัทไม่เน้นโลเคชั่น แต่ EA เน้นปริมาณในการขายไฟฟ้ามากกว่า เนื่องจากการขายไฟฟ้าเพื่อไปสู่เป้าหมายการสร้างรายได้เติบโตเป็นกอบเป็นกำให้กับบริษัทในอนาคต
โดยในปีนี้ตั้งเป้าขยายสถานีชาร์จไฟฟ้าเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันอยู่ที่มากกว่า 500 จุด ! รองรับการใช้งานทั่วประเทศ โดยจะมุ่งเน้นตลาด Mega Charging Station มากขึ้น และเห็นภาพแนวโน้มการติดตั้งสถานีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตามทิศทางของความต้องการ (ดีมานด์) ที่หันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น รวมถึงจะขยายการติดตั้งสถานีชาร์จไปในตามสถานที่ต่างๆ เช่น ออฟฟิศ, คอนโดมิเนียม, Community mall เป็นต้น
สำหรับเป้าหมายของบริษัท นั่นคือ ไม่ได้ต้องการลูกค้าที่มาใช้บริการที่เข้ามาชาร์จไฟฟ้าเป็น “ขาจร” แต่บริษัทต้องการลูกค้าที่เป็น “ขาประจำ” ที่จะช่วยเพิ่มจำนวนสถานีชาร์ต และการใช้ไฟฟ้าให้เติบโตยั่งยืนมากขึ้น
“ธุรกิจผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน และระบบกักเก็บพลังงาน” โดยบริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จํากัด หรือ Amita-TH ได้ดําเนินการเชิงพาณิชย์เพื่อผลิตแบตเตอรี่ลิเทียม ไอออน ป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมระบบกักเก็บพลังงาน ปัจจุบัน กําลังการผลิต 1 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี และส่งให้บริษัทในกลุ่มทั้งหมด
ทั้งนี้ Amita-TH ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนาแบตเตอรี่โซลิดสเตต ซึ่งเป็นแบตเตอรี่ที่มีความปลอดภัยสูง และมีประสิทธิภาพในการกักเก็บพลังงานที่ดียิ่งขึ้น เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต ในปัจจุบัน Amita-TH กําลังอยู่ในกระบวนการขยายกําลังการผลิตเพิ่มจาก1 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปีเป็น 2 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปีและ 4 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2567 เพื่อรองรับความต้องการของแบตเตอรี่ในกลุ่มบริษัท EA รวมถึงตลาดแบตเตอรี่ในประเทศไทยและอาเซียน
ขณะที่ “ธุรกิจที่เกี่ยวกับกรีน” ก็เริ่มออกดอกออกผลแล้วเช่นเดียวกัน อย่าง “โรงงานผลิตน้ำมันไอโอเจ็ท” (Bio Jet Fuel) ที่มีการขยายกำลังการผลิตไปแล้ว ซึ่งโครงการเหล่านี้เป็นไปตามแผนที่วางไว้
“ภาพรวมธุรกิจที่กำลังเดินไปได้ดี ภาพใหญ่ที่วันนี้ธุรกิจที่กำลังปั้นให้เกิด New Business Growth จากธุรกิจใหม่ๆ ธุรกิจเก่าของบริษัทวันนี้มาร์จิ้นก็เริ่มลดลง ดังนั้น วันนี้เรากำลังเดินอยู่บนทาง “สองแพร่ง” อันหนึ่งเป็นตัวที่จะดึงรายได้เราลงมา ขณะที่อีกอันเป็นธุรกิจใหม่ที่จะเข้ามาเสริมรายได้ให้กับบริษัทเติบโตขึ้น”
ดังนั้น ท้ายที่สุด ก็หวังว่า สิ่งที่บริษัทกำลังดำเนินการ และปูทางมาไปสู่การลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ เพิ่มจะเข้ามาช่วยเสริมจากรายได้ที่ค่อยๆ ลดลงให้ได้ทันเวลา
สำหรับ “กลุ่มธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน” ปัจจุบันบริษัทมี “โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์” ที่จังหวัดนครสวรรค์ , จังหวัดลำปาง และจังหวัดพิษณุโลก และมี “โรงไฟฟ้าพลังงานลม” โครงการหาดกังหัน ที่จังหวัดสงขลา และจังหวัดนครศรีธรรมราช และโรงไฟฟ้าพลังงานลม โครงการหนุมานที่จังหวัดชัยภูมิ
“ธุรกิจไบโอดีเซล-โครงการผลิตกรีนดีเซล” (Green Diesel) กลุ่มบริษัทยังคงมุ่งมั่นในการดําเนินโครงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ภายใต้ธุรกิจไบโอดีเซลอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันกลุ่มบริษัทอยู่ในระหว่างพัฒนากระบวนการผลิต Isomerization เพื่อช่วยเสริมคุณสมบัติของ Green Diesel ให้มีอุณหภูมิที่เป็นไขต่ำลงกว่าปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสในการขายเชื้อเพลิงดังกล่าวในช่วงฤดูหนาวของตลาดในโซนยุโรปให้มากขึ้น
นอกจากนี้ภายใต้กระบวนการผลิตดังกล่าว กลุ่มบริษัทยังสามารถต่อยอดไปยังการผลิตน้ำมัน อากาศยานที่ยั่งยืน เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้แก่อุตสาหกรรมการบิน โดยโครงการน้ำมันอากาศยานที่ยั่งยืน
ท้ายสุด “สมโภชน์” บอกไว้ว่า ความหวังของบริษัทในการไปสู่การเติบโตในอนาคต คือ การเดินหน้าลุยธุรกิจใหม่ๆ ที่จะสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับบริษัท วันนี้รายได้เราโตอยู่แล้ว โดยเฉพาะในธุรกิจใหม่ๆ เช่น การขยายสถานีชาร์จรถไฟฟ้า ไม่เฉพาะ สถานีที่เพิ่มขึ้น แต่การขายไฟต่อหน่วยสูงขึ้นด้วย ดังนั้นวันนี้สิ่งที่เราทำคือ พยายามรักษา Bottom line ให้เกิดการเติบโตขึ้นมาให้เติบโตต่อไปได้
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์