แกะไส้ใน ‘หนี้เสีย - หนี้ค้างชำระ’ ปี 66

แกะไส้ใน ‘หนี้เสีย - หนี้ค้างชำระ’ ปี 66

เปิดข้อมูล “หนี้ครัวเรือนไทย” ภายใต้ข้อมูลของเครดิตบูโร สิ้นปี 2566 พบ ยอดหนี้เสียทะลุ 1 ล้านล้านบาท หนี้เสียรถยนต์แซงทุกกลุ่ม หนี้เน่า 2.3 แสนล้านบาท ทะลัก 28% ขณะที่หนี้บ้าน เป็นหนี้เสียแล้ว 1.8 แสนล้าน รอไหลเป็นหนี้เสียอีก 1.78 แสนล้านบาท

มรสุมหนี้ยังไม่จบ และน่าห่วงมากขึ้นเรื่อยๆ หลังมี “คำเตือน” จาก “เครดิตบูโร” เกี่ยวกับ คุณภาพหนี้ครัวเรือนไทยที่ด้อยคุณภาพแย่ลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะ หนี้รถยนต์ และสินเชื่อบ้าน ที่อาการส่อแวววิกฤติจากคนที่เป็นหนี้ ที่ยอมทิ้งบ้าน ทิ้งรถมากขึ้น ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจไทยที่อึมครึมมากขึ้นเรื่อยๆ

สุรพล โอภาสเสถียร”  ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) กล่าวกับ ชี้ให้เห็นถึงความน่าห่วงของหนี้ครัวเรือนไทย  ภายใต้ข้อมูลของเครดิตบูโร ในปี 2566 ที่มีกว่า 13.683 ล้านล้านบาท  
ไส้ในจาก 13.6 ล้านล้านบาท เป็นหนี้เสีย กว่า 1.05 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนหนี้เสียรวมระดับ 7.7%  

แกะไส้ใน ‘หนี้เสีย - หนี้ค้างชำระ’ ปี 66

หนี้เสียที่มากที่สุด โตเร็วสุด คือ “สินเชื่อรถยนต์” ที่ล่าสุด หนี้เสียมาอยู่ที่ 2.3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 28% หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

ถัดมาคือ หนี้เสียของสินเชื่อบัตรเครดิตการ์ด และสินเชื่อบุคคล ที่หนี้เสียเพิ่มขึ้นสูงถึง 12% ทำให้พอร์ตหนี้เสียโดยรวม ของเครดิตการ์ดมาอยู่ที่ 6.1 หมื่นล้านบาท และสินเชื่อส่วนบุคคล 2.6 แสนล้านบาท ขณะที่สินเชื่อบ้าน หนี้เสียเพิ่มขึ้นเช่นกัน มาอยู่ที่ 1.8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 7%

หากดูในมุมของ หากดูสินเชื่อค้างชำระแต่ไม่เกิน 90วัน หรือที่เรียกว่า กลุ่ม SM หลายพอร์ตยังน่าห่วงมากขึ้น โดยหนี้ค้างชำระโดยรวมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.8 % เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และพอร์ตที่ค้างชำระมากสุดในปี 2566 คือ สินเชื่อบ้าน ที่มีหนี้มีปัญหาถึง 1.78 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นก้าวกระโดดถึง 31.1% จากปีก่อน

ขณะที่อาการของ สินเชื่อบุคคล (พีโลน) ก็แย่พอกัน โดยมีหนี้ค้างชำระเพิ่มขึ้นถึง 24% หรือ 1.45 แสนล้านบาท สินเชื่อรถ มีสินเชื่อที่ค้างชำระรวมอยู่ที่ 2.08 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.6%

หากดูไส้ในของหนี้ค้างชำระทั้งหมดใน 6 แสนล้านบาท เป็นพอร์ตที่อยู่กับแบงก์รัฐถึง 68% หรือ 1.2 แสนล้านบาท ขณะที่สินเชื่อรถยนต์ 34% และสินเชื่อพีโลน 24%

“คุณภาพหนี้วันนี้ยังน่าห่วง ทั้งหนี้เสีย และหนี้ค้างชำระ โดยเฉพาะ หนี้ที่กำลังมีปัญหา ที่วันนี้สะท้อนอาการของคนที่ผ่อนไม่ไหวเพิ่มขึ้น ในนี้ มีหนี้ที่มีปัญหาจาก สินเชื่อบ้านถึง 31% และใน 1.8 แสนล้านบาทนี้ มี 1.2แสนล้านบาท ที่มีปัญหา จากผู้กู้ที่มีสินเชื่อบ้านต่ำกว่า 3 ล้านบาท วันนี้อาการเหล่านี้ชัดเจนขึ้น เราเคยเห็นอาการของคนผ่อนรถไม่ไหว ก็คืนรถ ให้ยึดไป แต่ตอนนี้ปัญหามาอยู่ที่คนผ่อนบ้าน ผ่อนไม่ไหวมากขึ้น ซึ่งน่าห่วง”


ไม่เพียงเท่านั้น นอกจากหนี้เสีย หนี้ค้างชำระ เรายังมีหนี้ ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้อีกก้อนมหาศาล ใกล้ๆ กับหนี้เสีย โดยอยู่ที่ 1.04 ล้านล้านบาท เพิ่มสูงถึง 33% หากเทียบกับปีที่ผ่านมา ที่ยอดปรับโครงสร้างหนี้โดยรวมอยู่เพียง 7.8 แสนล้านบาท 

ในนี้มี สินเชื่อบ้านยอดปรับโครงสร้างหนี้โดยรวมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.78 แสนล้านบาท จากปีก่อนอยู่เพียง 2.3 แสนล้านบาท ส่วนหนี้อื่นๆ ก็มียอดปรับโครงสร้างหนี้เพิ่มขึ้นเช่นกัน เช่น สินเชื่อรถ ที่มียอดปรับโครงสร้างหนี้เพิ่มขึ้น 5.3% มาอยู่ที่ 3.8 หมื่นล้านบาท บัตรเครดิต 1.9 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.3%

สุรพล กล่าวปิดท้าย โดยยก “หนี้ครัวเรือนไทย” วันนี้ อาการเหมือน “คนเมาค้าง” ที่กินเวลานานกว่าที่คิด ทำให้หนี้ครัวเรือนไทยจะยังค้างอยู่ในระดับสูงแบบนี้ไปอีกนาน และไม่ได้ลดลงง่ายเหมือนที่คิด เรายังเผชิญกับ “ฝีแตก” ในสินเชื่อรถยนต์จากปัญหาหนี้เสีย การค้างชำระหนี้ที่ขึ้นมาสู่ระดับพีกที่สร้างความเสียหายให้กับทั้งแบงก์ และลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง สุดท้าย หนี้บ้านที่มีอาการไม่ดีมากขึ้นเรื่อยๆ

https://www.bangkokbiznews.com/finance/investment/1112426?anm= 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์