เมื่อตัวเลขเงินเฟ้อไม่เป็นใจให้เฟดลดดอกเบี้ย | บัณฑิต นิจถาวร
ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อสหรัฐล่าสุดเดือนมกราคมออกมาสูงกว่าคาดที่ร้อยละ 0.3 เดือนต่อเดือน และร้อยละ 3.1 ปีต่อปี ชี้ถึงแรงกดดันเงินเฟ้อในสหรัฐที่ยังมีอยู่ ไม่ได้เป็นขาลงร้อยเปอร์เซ็นต์
ทําให้การลดดอกเบี้ยของเฟดที่ตลาดการเงินโลกรออยู่จะล่าช้าออกไป เพราะเฟดคงรอดูข้อมูลมากขึ้น ที่สําคัญ ข้อมูลชี้ถึงความเป็นไปได้ที่อัตราเงินเฟ้ออาจไม่สามารถลดสู่เป้าร้อยละ 2 ได้ง่ายอย่างที่เฟดอยากเห็น เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
ถ้าจำได้ ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด เดือนที่แล้ว เฟดย้ำว่าก่อนตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ย คณะกรรมการต้องการเห็นข้อมูลมากขึ้นว่าอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐจะลดลงต่อเนื่องสู่ร้อยละ 2 เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ย
เป็นแนวคิดที่ขีดเส้นใต้ชัดเจน เงื่อนไขที่ธนาคารกลางสหรัฐจะลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้
อัตราเงินเฟ้อสหรัฐล่าสุด คือตัวเลขเดือนมกราคม ดูจะไม่เป็นใจให้เฟดลดดอกเบี้ยพิจารณาจากแนวคิดที่ธนาคารกลางสหรัฐระบุเป็นเงื่อนไข คืออัตราเงินเฟ้อเดือนมกราคมออกมาสูงกว่าคาด ทั้งอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 จากเดือนก่อนหน้าและร้อยละ 3.1 จากระยะเดียวกันปีก่อน ซึ่งแม้จะต่ำกว่าร้อยละ 3.4 เดือนก่อนหน้าแต่ก็ไม่ตํ่าพอเทียบกับการคาดการณ์ของตลาดที่ร้อยละ 2.9
ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมราคาในหมวดอาหารและพลังงานก็เช่นกัน ตัวเลขเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 จากเดือนก่อนหน้าและร้อยละ 3.9 จากปีก่อน สูงกว่าที่ตลาดคาด คือเงินเฟ้อเดือนมกราคมไม่ปรับลงเร็วอย่างที่ตลาดอยากเห็น
ในรายละเอียด แรงกดดันเงินเฟ้อในสหรัฐที่ยังมีอยู่จะอยู่ในหมวดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยและบริการเป็นสำคัญ เดือนมกราคมค่าใช้จ่ายหมวดที่อยู่อาศัยในสหรัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 จากปีก่อนหน้า
ซึ่งค่าใช้จ่ายหมวดนี้มีสัดส่วนประมาณสองในสามของค่าใช้จ่ายการบริโภคทั้งหมดที่นํามาคํานวณเงินเฟ้อ อีกหมวดที่ราคาเพิ่มขึ้นคือบริการ เช่น ค่าโดยสารเครื่องบิน ค่าบริการทางการแพทย์และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับร้านอาหารและโรงแรม
ซึ่งสะท้อนว่าค่าจ้างในตลาดแรงงานยังเป็นแรงกดดันขาขึ้นต่อเงินเฟ้อแม้อัตราการเพิ่มจะลดลง
ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมกราคมที่สูงกว่าคาดทำให้ผู้ที่อยากเห็นอัตราดอกเบี้ยปรับลงผิดหวังพอควร เห็นได้จากแรงกระทบที่ตัวเลขเงินเฟ้อมีต่อตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตร และตลาดอัตราแลกเปลี่ยน
นักวิเคราะห์ประเมินว่าตัวเลขดังกล่าวทำให้การตัดสินใจลดดอกเบี้ยของเฟดจะล่าช้าออกไป มองการลดครั้งแรกลากยาวไปถึงช่วงกลางปีนี้ เพราะเฟดคงต้องการดูข้อมูลมากขึ้นและนานขึ้นเพื่อให้มั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลงต่อเนื่องและไม่มีความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะกลับมาเป็นปัญหาอีก
คําถามคืออัตราเงินเฟ้อสหรัฐจะปรับลงต่อและปรับลงเร็วขึ้นได้หรือไม่จากนี้ไป
เรื่องนี้ถ้าดูจากสองหมวดที่แรงกดดันเงินเฟ้อยังมีอยู่ คือ ค่าใช้จ่ายที่อยู่อาศัยและบริการ ผมคิดว่าการปรับตัวของอุปสงค์และอุปทานจะทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อในทั้งสองหมวดนี้ลดลง ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เฟดคาดการณ์เพราะจะมีปัจจัย เช่น อุปทานคอนโดและบ้านที่พร้อมให้เช่าที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
ทำให้อุปสงค์อุปทานในตลาดบ้านเช่าหรือที่อยู่อาศัยให้เช่าจะสมดุลมากขึ้น การปรับตัวในตลาดแรงงานก็คงเช่นกัน แต่ที่ท้าทายกว่าคือความเป็นไปได้ที่ทั้งอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอาจไม่ปรับลงสู่เป้าร้อยละ 2 ได้ง่ายอย่างที่คิด
ถ้าดูตัวเลขอัตราเงินเฟ้อสหรัฐช่วงหกเดือนที่ผ่านมา เห็นชัดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยืนระยะอยู่ประมาณร้อยละ 3 ไม่ปรับลงต่อ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยืนระยะประมาณร้อยละ 4 และไม่ปรับลงต่อเช่นกัน
ชี้ว่าช่วงหนึ่งเปอร์เซ็นต์สุดท้ายของการลดเงินเฟ้อ การปรับลงของอัตราเงินเฟ้อค่อนข้างจะหนืดและลงยาก เหมือนมีแรงต้านอยู่ ซึ่งเฟดก็ตระหนักเรื่องนี้แต่ยังไม่ได้พูดออกมาชัดเจน
ดังนั้น ถ้าตัวเลขเงินเฟ้อ 2-3 เดือนข้างหน้ายังยืนระยะอยู่ระดับนี้ ไม่ลดลงต่อ ก็เป็นไปได้ว่าเป้าอัตราเงินเฟ้อระยะยาวของเฟดที่ร้อยละสอง อาจจะหวังผลสูงเกินไปเทียบกับภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ที่โครงสร้างเศรษฐกิจการเงินโลกได้เปลี่ยนไปมาก
เรื่องนี้ ผมให้ความเห็นหลายครั้งว่าอัตราเงินเฟ้อตํ่าในเศรษฐกิจโลกที่เราเคยเห็นในอดีต ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายเงินเฟ้อระยะยาวที่ร้อยละ 2 คงไม่กลับมาอีก
เพราะหลายปัจจัยที่เคยสนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อในเศรษฐกิจโลกต่ำปัจจุบันไม่มีแล้ว ไม่ว่าจะเป็น เสถียรภาพการเมือง ระบบโลกาภิวัตน์ และความเป็นหนึ่งเดียวของเศรษฐกิจโลก
ตรงกันข้าม ปัจจุบันเรามีสงคราม ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และความแตกแยกทางเศรษฐกิจ ซึ่งล้วนเพิ่มต้นทุนและความไม่แน่นอนให้กับการทำธุรกิจ ทำให้อัตราเงินเฟ้อโลกปรับสูงขึ้นและแรงกดดันเงินเฟ้อจะมีอยู่ตลอด
นี่คือเหตุผลว่าทําใมการลดอัตราเงินเฟ้อในช่วงหนึ่งเปอร์เซ็นต์สุดท้ายของเฟดจึงจะยากและไม่ง่ายอย่างที่คิด
ในฐานะนักลงทุน เราจึงต้องติดตามตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐสองสามเดือนข้างหน้าและการวิเคราะห์ของเฟดว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะเริ่มได้เมื่อไรอย่างไร ในโครงสร้างเศรษฐกิจการเงินโลกที่เปลี่ยนไป.
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล