นักเศรษฐศาสตร์ แนะจับตา ‘เงินบาท‘ ผันผวนหนักสัปดาห์หน้า รับตัวเลขศก.ทรุด
“เงินบาทอ่อนค่า” ล่าสุดเฉียด 6% “กรุงไทย” ชี้แนวโน้มบาทอ่อนแตะ 37 บาทต่อดอลล์ “ซีไอเอ็มบีไทย” เล็งเงินบาทผันผวนหนักสัปดาห์หน้า จากการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจสภาพัฒน์ ตอกย้ำเศรษฐกิจไทยย่ำแย่ “เกียรตินาคินภัทร” หวั่นจีดีพีไตรมาสแรกทรุดต่อส่งสัญญาณเกิด “Stagnation”
การประกาศตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐเมื่อเร็วๆ นี้ จากกระทรวงแรงงานสหรัฐเกี่ยวกับดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน ม.ค. เพิ่มขึ้น 3.1% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้เงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมราคาอาหารและพลังงานเพิ่มขึ้น 3.9% ส่งผลทันทีต่อการเคลื่อนไหวของ “เงินดอลลาร์” และบอนด์ยีลด์สหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง
ยิ่งเป็นการตอกย้ำโอกาสการ “ลดดอกเบี้ย” ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ว่าอาจจะลากยาว หรือช้ากว่าที่ตลาดคาดไว้ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ “อัตราแลกเปลี่ยน” หรือค่าเงินบาทของไทย ค่าเงินในภูมิภาคอ่อนค่าลง
ยิ่งไปกว่านั้น มีประเด็นในประเทศ เรื่องการปรับตัวเลขประมาณการประจำปี 2566 ที่อาจต้องมีการออกพันธบัตรเพิ่ม 5 แสนล้านบาท เป็นปัจจัยลบกดดันให้ค่าเงินบาทยิ่งอ่อนค่ามากขึ้น
โดยหากดูการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทวานนี้ (14 ก.พ.) อ่อนค่ามากที่สุดในรอบกว่า 3 เดือน ทะลุระดับ 36.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลง 1% หากเทียบกับวันก่อนหน้า และหากเทียบตั้งแต่ต้นปี ถึงปัจจุบัน ค่าเงินบาทอ่อนค่าแล้ว 5.4% อ่อนค่ามากที่สุดอันดับสองของภูมิภาครองจากเงินเยนอ่อนค่าที่ 6.3%
บาทอ่อนค่าจ่อทะลุนิวไฮเดิมที่37บาทต่อดอลลาร์
นายสงวน จุงสกุล ผู้บริหารฝ่ายธุรกิจสายงานตลาดเงิน ตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า การอ่อนค่าของค่าเงินบาทวานนี้ (14 ก.พ.) โดยหลักมาจากปัจจัยต่างประเทศ จากค่าเงินดอลลาร์ที่กลับมาแข็งค่า ตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐที่เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ทำให้โอกาสในการลดดอกเบี้ยของสหรัฐอาจห่างไกลไปกว่าที่ตลาดการณ์ไว้
สวนทางกับการดำเนินนโยบายการเงินของไทยที่ตลาดคาดการณ์ว่า อาจเห็นการลดดอกเบี้ยเร็วขึ้นในการประชุมรอบหน้า เดือน เม.ย.นี้ หากตัวเลขเศรษฐกิจปี 2566 ออกมาต่ำกว่าคาด เป็นปัจจัยหนุนให้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจลดดอกเบี้ยลงได้ เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจไทย
ปัจจัยเหล่านี้กดดันทำให้เงินบาทอยู่ในทิศทางอ่อนค่าต่อเนื่อง จากทิศทางเงินไหลออกของต่างชาติ ที่ไหลกลับไปที่สหรัฐ สู่สินทรัพย์ที่มีผลตอบแทนสูง เพราะคาดการณ์ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทย และสหรัฐ ในระยะข้างหน้าจะยิ่งห่างกันมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ตลาดจับตาขณะนี้ คือ การประกาศตัวเลขเศรษฐกิจของสภาพัฒน์ ที่จะประกาศในช่วงต้นสัปดาห์หน้า หากออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ 2.1% โอกาสที่จะเห็นเงินบาทอ่อนค่าลงต่อได้ ดังนั้น มีโอกาสที่จะเห็นเงินบาทอ่อนค่าไปแตะระดับสูงสุดของปี 2566 ที่ 37.00 บาทต่อดอลลาร์
“ตอนนี้มีเรื่องส่วนต่างดอกเบี้ยที่เข้ามาเป็นแรงกดดันเพิ่มเติม เพราะหากตัวเลขเศรษฐกิจออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาดในปี 2566 อาจเพิ่มแรงกดดันต่อการลดดอกเบี้ยของไทยมากขึ้น ยิ่งทำให้เกิดฟันด์โฟลด์ ไหลออกจากไทยมากขึ้น ยอมรับว่าเงินวันนี้ ถือว่าอันเดอร์เฟอเฟอร์มหากเทียบกับค่าเงินในภูมิภาค เพราะในภูมิภาคไม่ได้พูดถึงการลดดอกเบี้ยเลย สวนทางกับไทย ที่ตลาดมองว่ามีโอกาสลดดอกเบี้ยได้ในระยะข้างหน้า ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันเงินบาทให้ยิ่งอ่อนค่าไปอีก”
สัปดาห์หน้าเงินบาทผันผวนหนัก
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า สองปัจจัยที่กดดันเงินบาทให้อ่อนค่าลง โดยหลักมาจากทิศทางการลดดอกเบี้ยของเฟด ที่อาจช้ากว่าคาด และอาจไม่เห็นการลดดอกเบี้ยของเฟดในครึ่งปีแรกนี้ สวนทางกับทิศทางดอกเบี้ยไทยที่มีโอกาสลดดอกเบี้ยเร็วกว่าคาดทำให้ความสนใจใน “เงินบาท” ลดลง สะท้อนส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไทย และสหรัฐที่จะกว้างมากขึ้นในระยะข้างหน้า
สิ่งที่ต้องติดตามใกล้ชิด คือการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจของไทยจากสภาพัฒน์จันทร์นี้ หากภาพออกมาตอกย้ำการชะลอตัวเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 และปี 2566 ที่จะเป็นการ “เปิดประตู” การลดดอกเบี้ยของ กนง. เร็วกว่าคาด เหล่านี้จะยิ่งทำให้ความสนใจในค่าเงินบาทยิ่งลดลง
ในขณะที่รายได้ท่องเที่ยว ส่งออกไม่ได้ฟื้นตัวเต็มที่
ดังนั้น โอกาสเห็นการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในช่วงสัปดาห์หน้า อาจผันผวนและรุนแรงมากขึ้น และมีโอกาสที่จะเห็นเงินบาท อ่อนค่าต่อเนื่อง
“หลังจากนี้ จะเห็นเงินบาทผันผวนมากขึ้น และเงินบาทจะเผชิญความผันผวนต่อไปอีก 3-6 เดือนข้างหน้า และเดือน เม.ย. มีโอกาสเห็นค่าเงินไปแตะระดับ 37 บาทต่อดอลลาร์ แต่ไม่ใช่เกิดขึ้นในสัปดาห์หน้า แต่จะเห็นได้ใกล้ เม.ย. หากกนง. ทนแรงกดดันเศรษฐกิจไม่ไหว ขณะนี้เศรษฐกิจไทยต้องการแรงสนับสนุน หากลดดอกเบี้ยในเดือน เม.ย. เป็นไปได้ว่าเงินบาทจะอ่อนค่าเกิน 37 บาทต่อดอลลาร์ได้ แต่จะไม่ไหลไปถึงระดับ 40 บาทต่อดอลลาร์ แต่ก็ใช่ว่าตัวเลขนี้จะไม่เกิดขึ้น เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้”
ปล่อยเงินบาทอ่อนค่า“ได้ไม่คุ้มเสีย”
อย่างไรก็ตาม การอ่อนค่าของเงินบาทแม้จะมีผลบวกต่อเศรษฐกิจไทย แต่ปัจจุบันผลบวกเหล่านี้น้อยลงและไม่แน่ใจว่า “จะได้คุ้มเสีย” หรือไม่ เพราะหากดูอุปสงค์ในประเทศอ่อนแอลง ขณะที่ตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมาจากการท่องเที่ยว การส่งออก ที่กำลังฟื้นตัว แต่ไม่ได้ฟื้นตัวเต็มที่ จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน สงครามการค้าที่รุนแรงมากขึ้น ดังนั้น เครื่องยนต์เดียว คือ การอ่อนค่าของเงินบาท แม้จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันได้ และเป็นตัวแปรที่จะพลิกเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวได้
ในทางกลับกัน การอ่อนค่าของเงินบาทจะชดเชยกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากค่าเงินบาทอ่อนค่าได้หรือไม่ ผลที่ได้จะได้คุ้มเสียหรือไม่ เป็นสิ่งที่ต้องระวัง เพราะการที่เงินบาทอ่อนค่าจะทำให้การนำเข้าเผชิญกับต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น มีความเสี่ยงที่จะกดดันราคาน้ำมันให้เพิ่มสูงขึ้น และยิ่งในช่วงที่เศรษฐกิจไทยต้องเร่งผลักดันการลงทุน ทำให้มีความจำเป็นในการนำเข้าจากต่างประเทศมากขึ้น เหล่านี้ หนุนให้ต้นทุนสินค้า บริการ ราคาน้ำมัน ค่าครองชีพในประเทศปรับตัวสูงขึ้น ที่กระทบทำให้ครัวเรือนมีภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ จะยิ่งทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้เพิ่มขึ้นจากฝั่งอุปทาน ทำให้ภาวะเศรษฐกิจไทยอาจไม่ได้เร่งแรง และอาจฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยระยะข้างหน้าได้
“สิ่งที่ต้องระวังอีกตัว คือ หากปล่อยให้เงินบาทอ่อนค่า ทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น มีความจำเป็นที่ภาครัฐต้องเข้ามาดูแลค่าครองชีพต่อเนื่อง ผ่านกองทุนน้ำมัน สิ่งที่ต้องระวัง คือ ภาระการคลังในอนาคต ที่อาจน่าห่วงมากขึ้น ดังนั้นต้องติดตาม เพราะทุกอย่างมีต้นทุน ไม่มีอะไรได้มาฟรี ดังนั้นต้องเลือกให้ดีว่านโยบายเหล่านี้ จะได้คุ้มเสียหรือไม่”
จับตาเศรษฐกิจเกิด Stagnation
นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท ก็มักจะมีทั้งผู้ชนะ และผู้แพ้ แต่การอ่อนค่าของค่าเงินบาท โดยรวมๆ ถือว่ามีผลบวกกับเศรษฐกิจไทยมากกว่า เงินแข็งค่า ซึ่งจะทำให้ผู้ส่งออก สามารถแข่งขันได้มากขึ้น มีรายได้เป็นเงินบาทเพิ่มขึ้น แม้จะเพิ่มต้นทุนต่อผู้นำเข้าบ้าง
อย่างไรก็ตาม หากดูภาพรวมเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า ปี 2566 ของสภาพัฒน์ หากตัวเลขไตรมาส 4 ปี 2566 ออกมาต่ำกว่า 1.5% มีโอกาสที่จะทำให้การขยายตัวไตรมาสต่อไตรมาส ติดลบได้ ดังนั้น อาจจะเริ่มมีคนตั้งคำถามว่า เหล่านี้จะนำมาสู่ สัญญาณการเกิด “Stagnation” หรือภาวะเศรษฐกิจชะงักงันได้ในระยะข้างหน้า หากตัวเลขเศรษฐกิจ ไตรมาส 1ปี 2567 ออกมาต่ำต่อเนื่อง เพราะเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเวลานี้ เพื่อหนุนให้เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปีเพิ่มขึ้นไม่มี ทำให้เศรษฐกิจขาดแรงส่ง
เหล่านี้จะเพิ่มแรงกดดัน ในการลดดอกเบี้ยของกนง. มากขึ้น เพราะขาดเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ความหวังเดียวคือ การเร่งเบิกจ่ายการลงทุนที่จะออกมาในไตรมาส 2 ปีนี้
“หากตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 4 ปีก่อนออกมาติดลบ หากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า อาจมีคนเริ่มตั้งคำถามว่า ต่อไปเราจะเกิด Stagnation หรือไม่ แม้ตัวเลขไตรมาส 4 ที่ออกมาจะไม่ได้กังวล เพราะภาคการผลิต ส่งออกแย่ การลงทุนหายไป 40% แต่สิ่งที่ตลาดจับตาคือ หลังจากนี้ เศรษฐกิจไตรมาสแรกปีนี้ จะแย่หรือไม่ เพราะเราไม่มีปัจจัยหนุนแล้ว ไม่มีแรงส่งเข้ามาเลย หากแต่ต่อเนื่อง ก็ต้องลดดอกเบี้ย เพราะเครื่องไม่มีเครื่องจักรอื่นๆ ในการผลักดันเศรษฐกิจเลย”