จับตา! เศรษฐกิจ ‘เยอรมนี’ ส่อ Recession ตาม ญี่ปุ่น-สหราชอาณาจักร

จับตา! เศรษฐกิจ ‘เยอรมนี’ ส่อ Recession  ตาม ญี่ปุ่น-สหราชอาณาจักร

"ธนาคารกลางเยอรมัน" เผย มีโอกาสที่ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/2567 อาจโตแบบติดลบซึ่งจะทำให้จีดีพีของเยอรมนีติดลบสองไตรมาสติดเข้าสู่เกณฑ์ถดถอยทางเทคนิค (Technical Recession)

KEY

POINTS

  • ธนาคารกลางเยอรมัน เผย มีโอกาสที่ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/2567 อาจโตแบบติดลบนำไปสู่การถดถอยทางเทคนิค 
  • ก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นและสหราชอาณาจักรเข้าสู่สภาวะถดถอยทางเทคนิคแล้ว 
  • เยอรมนีเป็นประเทศที่พึ่งพาอุตสาหกรรมหนักแบบดังเดิมจำนวนมากทำให้จีดีพีเติบโตแบบไม่ไปไหน

ไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกอย่างญี่ปุ่นและสหราชอาณาจักรเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค (Technical Recession) หลังจากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) หดตัวสองไตรมาสติดต่อกัน

จีดีพีในไตรมาสที่สามและสี่ของญี่ปุ่นปีที่แล้วติดลบ 3.3% และ 0.4% ตามลำดับจากการบริโภคภายในประเทศและการลงทุนของภาครัฐลดน้อยลง ขณะที่จีดีพีของสหราชอาณาจักรหดตัว 0.1% ในไตรมาสที่สามและ 0.3% ในไตรมาสที่สี่ของปีเดียวกัน เนื่องจากตัวเลขจากภาคการส่งออกบริการและการบริโภคภาคครัวเรือนที่ลดน้อยลง

โดยการปรับตัวเข้าสู่สภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นทำให้เสียตำแหน่งมหาอำนาจเชิงเศรษฐกิจอันดับสามของโลก (เป็นรองจากสหรัฐและจีน) ให้ประเทศเยอรมนี

มหาอำนาจทางเศรษฐกิจ 5 อันดับแรก 

  1. สหรัฐอเมริกา
  2. จีน
  3. เยอรมนี
  4. ญี่ปุ่น
  5. อินเดีย

ทว่าล่าสุด (20 ก.พ.) ธนาคารกลางเยอรมัน (Deutsche Bundesbank) เผยว่า เศรษฐกิจเยอรมนี ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรปมีแนวโน้มเข้าสู่สภาวะถดถอยเช่นเดียวกันในไตรมาสที่ 1 / 2567 เนื่องจากอุปสงค์ภายนอกอ่อนแอจากผู้บริโภคยังคงระมัดระวังและการลงทุนภายในประเทศถูกระงับด้วยต้นทุนการกู้ยืมที่สูง

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเยอรมนีประสบปัญหาอย่างมากนับตั้งแต่สงครามรัสเซีย-ยูเครนในปี 2565 ทําให้ต้นทุนพลังงานสูงขึ้น รวมทั้งขณะนี้เศรษฐกิจของเยอรมนีซึ่งพึ่งพาภาคอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมเป็นหลักไม่มีการเติบโตหรือเติบโตแบบติดลบมาสี่ไตรมาสแล้ว ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งยูโรโซน

รายงานจากธนาคารกลาง เผยว่า "เศรษฐกิจเยอรมนียังไม่ฟื้นตัว" พร้อมเสริมว่า

"ไตรมาสแรกของปี 2567 ผลผลิตทางเศรษฐกิจอาจลดลงเล็กน้อยอีกครั้ง ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น หมายความว่าจีดีพีจะลดลงติดต่อกันสองไตรมาสและเข้าสู่สภาวะถดถอยทางเทคนิค”

ผลการดําเนินงานทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอนี้ทําให้เกิดคําถามเกี่ยวกับความยั่งยืนของรูปแบบเศรษฐกิจของเยอรมัน และนักวิชาการส่วนหนึ่งโต้แย้งว่าอุตสาหกรรมหนักที่พึ่งพาพลังงานส่วนใหญ่กําลังถูกกําหนดราคาจากตลาดต่างประเทศ​ ซึ่งอาจจำเป็นต้องหาเครื่องจักรทางเศรษฐกิจใหม่หรือไม่ ท่ามกลางอุปสงค์ภาคอุตสาหกรรมต่างประเทศที่และคําสั่งซื้อมีแนวโน้มลดลง

ด้านบทวิเคราะห์ของรอยเตอร์ส เผยว่า สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ธนาคารกลางยุโรปผลักดันอัตราดอกเบี้ยให้สูงเป็นประวัติการณ์เพื่อต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อ

นอกจากนี้ อัตราการขยายตัวของค่าแรงเพิ่มขึ้นเล็กน้อยยังนำไปสู่การนัดหยุดงานในภาคส่วนสําคัญ เช่น การขนส่ง ทั้งหมดอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตในไตรมาสนี้เช่นกัน

อ้างอิง

Reuters