ค่าเงินบาทวันนี้ 21 ก.พ. 67 ‘แข็งค่า‘ จากดอลลาร์ย่อตัว-แรงขายทองทำกำไร
ค่าเงินบาทวันนี้ 21 ก.พ. 67 เปิดตลาด “แข็งค่า”ที่ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้เงินดอลลาร์บอนด์ยีลด์สหรัฐ 10 ปี ย่อตัว ผสานแรงทยอยขายทองคำทำกำไรตามราคารีบาวด์ จับตาแรงกดดันทางการเมือง มองกรอบเงินบาทวันนี้ อยู่ที่ระดับ 35.90-36.15 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า "ค่าเงินบาทวันนี้" ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.07 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.90-36.15 บาทต่อดอลลาร์
โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทได้ทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง (แกว่งตัวในช่วง 35.95-36.09 บาทต่อดอลลาร์) ตามจังหวะการย่อตัวลงบ้างของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่หนุนให้ราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นได้ ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนได้ทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นบ้างของเงินบาท
แนวโน้มค่าเงินบาท
สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เรายังคงมุมมองเดิมว่า ปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่านั้นยังมีอยู่ เพียงแต่ว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าลงของเงินบาทนั้นได้แผ่วลงชัดเจน (เราคง Call Short-term peak เงินบาท 36.50 บาทต่อดอลลาร์ ที่ได้ประเมินไว้ ณ วันที่ 16 กุมภาพันธ์) สะท้อนผ่านการทยอยกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินบาทอย่างต่อเนื่องเข้าใกล้โซนแนวรับ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ หลังจากที่เงินบาทยังไม่สามารถอ่อนค่าทะลุระดับ 36.20 บาทต่อดอลลาร์ไปได้
อย่างไรก็ดี เงินบาทก็ยังขาดปัจจัยหนุนฝั่งแข็งค่าที่ชัดเจน ทำให้การเคลื่อนไหวของเงินบาทในช่วงนี้ อาจมีลักษณะ Sideways Down (แกว่งตัวในกรอบ แต่ก็มีโอกาสแข็งค่าขึ้นบ้าง) ซึ่งต้องจับตาว่า เงินบาทจะเผชิญปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่าเพิ่มเติม เช่น แรงกดดันจากทางการเมือง เพื่อเร่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทยรีบลดดอกเบี้ย หรือ โฟลว์ขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ หรือไม่ โดยเบื้องต้นเราประเมินว่า เงินบาทอาจยังไม่สามารถแข็งค่าขึ้นผ่านโซนแนวรับ 35.80-35.90 บาทต่อดอลลาร์ ไปได้ง่าย หากไม่มีปัจจัยหนุนการแข็งค่าใหม่ๆ ที่ชัดเจน
อนึ่ง เรามองว่า ควรระวังความผันผวนของตลาดค่าเงินในช่วงผู้เล่นในตลาดทยอยรับรู้ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก ทั้ง เฟด และ ECB นอกจากนี้ การตอบสนองของผู้เล่นในตลาดต่อรายงานผลประกอบการของ Nvidia ที่สามารถส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงิน ก็อาจสร้างความผันผวนให้กับตลาดค่าเงินได้ โดยในกรณีที่ ตลาดเปิดรับความเสี่ยงต่อเนื่อง ก็จะทำให้เงินดอลลาร์ย่อตัวลงต่อได้ ในทางกลับกัน หากตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ก็จะสามารถหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น จากความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ในระยะสั้น
เราขอเน้นย้ำว่า ในช่วงนี้ ความผันผวนของเงินบาทนั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) อย่างเห็นได้ชัด ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ กลับมาอยู่ในบรรยากาศปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) สอดคล้องกับสัญญาณการปรับตัวลดลงของสัญญาฟิวเจอร์ส ท่ามกลางแรงกดดันจากการเทขายหุ้นกลุ่ม Semiconductor เป็นหลัก โดยเฉพาะ Nvidia -4.4% เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างไม่แน่ใจว่า รายงานผลประกอบการของ Nvidia ในช่วงหลังตลาดปิดทำการวันพุธนี้ จะส่งผลให้ราคาหุ้น Nvidia ปรับตัวขึ้นต่อได้หรือไม่ ทำให้ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะขายทำกำไรหุ้นกลุ่มดังกล่าวออกมาก่อน ส่งผลให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ลดลง -0.92% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.60%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาย่อลง -0.10% กดดันโดยแรงขายหุ้นกลุ่ม Semiconductor อาทิ ASML -2.5% นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดต่างก็ขายทำกำไรหุ้นกลุ่ม Healthcare ซึ่งปรับตัวขึ้นได้ดีก่อนหน้า ขณะเดียวกัน การปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันดิบจากความกังวลแนวโน้มอุปสงค์ความต้องการใช้น้ำมัน ก็กดดันราคาหุ้นกลุ่มพลังงานเช่นกัน
ในฝั่งตลาดบอนด์ บรรยากาศปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้กดดันให้ โดยรวม บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีจังหวะย่อตัวลงบ้างและยังคงแกว่งตัวในกรอบ 4.20%-4.30% สอดคล้องกับมุมมองของเราที่ประเมินว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจแกว่งตัวในกรอบไปก่อน เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของสหรัฐฯ รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ในโซนเหนือกว่า 4.20% ถือเป็นระดับที่น่าสนใจ และนักลงทุนสามารถทยอยเพิ่มสถานะการลงทุนได้ หรือนักลงทุนอาจรอจังหวะ Buy on Dip ก็ได้เช่นกัน โดย นักลงทุนอาจใช้กองทุนรวมตราสารหนี้ต่างประเทศ หรือ ETF อย่าง IEF (iShares 7-10 Year Treasury Bond ETF) รวมถึงตราสารที่มี IEF เป็น underlying เพื่อเป็น proxy ในการลงทุนตามมุมมองดังกล่าวได้
ทางด้านตลาดค่าเงิน เนื่องจากเงินดอลลาร์ยังขาดปัจจัยหนุนใหม่ๆ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนเริ่มทยอยลดสถานะ Long USD ลงบ้าง กดดันให้เงินดอลลาร์มีจังหวะย่อตัวลงเล็กน้อย ทว่าภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็ยังพอช่วยพยุงเงินดอลลาร์อยู่ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 104 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 103.8-104.2 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะย่อตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี รวมถึงบรรยากาศปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้หนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) สามารถรีบาวด์ขึ้น เข้าใกล้โซนแนวต้าน 2,040 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนได้ทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำออกมาบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด รวมถึงรายงานการประชุม FOMC ล่าสุด (รับรู้ในช่วง 02.00 น. เช้าวันพฤหัสฯ ตามเวลาประเทศไทย) เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดก็จะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และรายงานการประชุม ECB ล่าสุด เช่นกัน โดยการปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยของ ECB เทียบกับเฟด จะส่งผลต่อทิศทางเงินยูโร (EUR) ได้พอสมควร
และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว ไฮไลท์สำคัญ จะอยู่ที่รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งผู้เล่นในตลาดจะให้ความสนใจรายงานผลประกอบการของ Nvidia เป็นพิเศษ และการตอบสนองของราคาหุ้น Nvidia ต่อรายงานผลกำไร ก็จะส่งผลต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้