ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ส่องหนี้เสีย ‘เช่าซื้อ’ ระบบแบงก์ ปี67 พุ่ง 2.66 หมื่นล้าน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ส่องสินเชื่ิอเช่าซื้อ ของระบบแบงก์ กลับมาเติบโตในแดนบวก 1.5 % ตามแรงหนุนจากยอดขายรถใหม่ แต่ก็ยังต่ากว่าช่วง 5 ปีก่อน ขณะที่หนี้เสียขาขึ้นต่อเนื่อง คาดแตะ 2.66หมื่นล้าน หรือ 2.22%
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า สัดส่วนสินเชื่อเช่าซื้อของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ที่สุดในตลาดในปัจจุบัน อยู่ที่ประมาณ 60-65 % ของสินเชื่อเช่าซื้อรวมทั้งตลาด
ขณะที่ผู้ให้บริการสินเชื่อของบริษัทรถยนต์และผู้ให้บริการอื่นที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน มีสัดส่วนรวมกันอยู่ที่ประมาณร้อยละ 35-40 ของสินเชื่อเช่าซื้อรวมทั้งตลาด ซึ่งสัดส่วนดังกล่าว แม้จะแปรผันบ้างตามสภาพตลาดและนโยบายการรุกตลาดสินเชื่อรถมือหนึ่งของผู้ประกอบการ แต่ตลาดหลักก็ยังอยู่ที่ธนาคารพาณิชย์ สอดคล้องกับสาขาและฐานลูกค้าที่ใหญ่กว่า
เมื่อพิจารณาในมิติของการจำแนกสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ตามประเภทรถใหม่และรถมือสองนั้น คาดว่า สัดส่วนสินเชื่อสำหรับรถใหม่และรถมือสองจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 80 และร้อยะ 20 ตามลำดับ ซึ่งผู้เล่นหลักในตลาดรถมือสองจะเป็นผู้ให้บริการกลุ่มที่ไม่ใช่สถาบันการเงินเป็นหลัก โดยเฉพาะนอนแบงก์และเต้นท์รถ ขณะที่ ผู้ให้บริการกลุ่มธนาคารพาณิชย์จะมีส่วนผสมของพอร์ตรถมือสองค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่และขนาดกลาง
โดยมองว่าปี 2567 อานิสงส์จากการเร่งตัวขึ้นของยอดขายรถใหม่ (คาดการณ์ที่ 8.0 แสนคัน เทียบกับ 7.76 แสนคันในปี 2566) จะมีผลเหนืออัตราการตัดขายหนี้ปี 2567 ที่คาดว่าจะมีระดับที่ใกล้เคียงกับปี 2566 สุดท้ายแล้ว จึงทำให้มีโอกาสเห็นยอดคงค้างสินเชื่อเช่าซื้อที่พลิกกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 1.5 สู่ระดับ 1.197 ล้านล้านบาทได้
อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง กอปรกับปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงและปัญหาอำนาจซื้อ จึงทำให้อัตราการเติบโตของสินเชื่อเช่าซื้อข้างต้น ยังถือว่าเป็นไปอย่างจำกัด โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับช่วง 5 ปีก่อนโควิดที่เห็นอัตราการขยายตัวที่กว่าร้อยละ 6.0 ต่อปี
สถานการณ์หนี้เสียสินเชื่อเช่าซื้อยังเป็นประเด็นที่ต้องเฝ้าระวัง โดยจากฐานข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า NPLs ของสินเชื่อเช่าซื้อฯ ในระบบธนาคารพาณิชย์ขยับขึ้นจากระดับ 2.23 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2565 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.89 ต่อสินเชื่อเช่าซื้อโดยรวม มาที่ 2.51 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.13 ต่อ
“แต่เศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง กดดันการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อให้ยังอยู่ระดับต่ำกว่าก่อนโควิด และทำให้สถานการณ์คุณภาพหนี้ยังน่ากังวล”
สำหรับในปี 2567 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ยอดคงค้าง NPLs จะขยับขึ้นต่อเนื่องจาก 2.51 หมื่นล้านบาท มาที่ 2.66 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการเพิ่มในอัตราที่ชะลอลงติดต่อกันเป็นปีที่สอง แม้ว่าสินเชื่อ Stage 2 จะอยู่ในระดับค่อนข้างสูงก็ตาม
ทั้งนี้ เนื่องจากมีมุมมองว่าผู้ให้บริการจะเน้นหนักกับการปรับโครงสร้างหนี้มากขึ้น ตามแนวนโยบายของทางการ และมีการตัดขายหนี้เสียต่อเนื่องและรวดเร็ว นอกจากนี้ พฤติกรรมการชำระหนี้ของลูกหนี้ในจังหวะที่มีรายได้เข้ามาเพื่อรักษารถไม่ให้ถูกยึด ก็ทำให้สถานะหนี้ยังไม่ไหลสู่ Stage 3 (NPLs) อย่างรวดเร็วเช่นกัน
ปัจจัยต่างๆ ดังกล่าว เมื่อผนวกกับฐานสินเชื่อที่ใหญ่ขึ้น คาดว่าจะทำให้สัดส่วน NPLs ต่อสินเชื่อเช่าซื้อรวมของระบบแบงก์ขยับขึ้นไปที่ร้อยละ 2.22 ต่อสินเชื่อเช่าซื้อโดยรวมในปี 2567 จากร้อยละ 2.13 ในปี 2566