LHFG ชูแผน 5 ปี ยกระดับสู่ 'ธนาคารขนากลาง'

LHFG ชูแผน 5 ปี ยกระดับสู่ 'ธนาคารขนากลาง'

“แอล เอช” ตั้งเป้าปี 67 ปล่อยสินเชื่อใหม่โต 8-10% แตะ2 หมื่นล้าน รุกสินเชื่อรายย่อย-เอสเอ็มอี มีผลตอบแทนสูง หันกลับมาสร้างรายได้ค่าฟีเป็นบวก รักษาระดับ NIM คุมหนี้เสียไม่เกิน 3% พร้อมเดินหน้าแผนยกระดับเป็นธนาคารขนาดกลางในปี 73 เติบโตยั่งยืน

นายฉี ชิง-ฟู่ กรรมการผู้จัดการ บริษัทแอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)หรือ LHFG  เปิดเผยว่า เป้าหมายทางธุรกิจของธนาคารในปีนี้ว่า ธนาคารตั้งเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อที่ระดับ 8-10% หรือคิดเป็นสินเชื่อปล่อยใหม่ 20,000 ล้านบาท จากยอดคงค้าง ณ สิ้นปี 2566 ที่ 2.5 แสนล้านบาท โดยกลุ่มสินเชื่อรายย่อยเติบโต 20% กลุ่มธุรกิจรายใหญ่ และเอสเอ็มอีเติบโต 10%  เน้นเติบโตในสินเชื่อรายย่อย และเอสเอ็มอี ที่มีผลตอบแทนสูง 

รวมทั้งกลับมาสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมให้เป็นบวกจากเดิมที่ติดลบหลังจากสถานการณ์โควิดฯผ่านไปและเศรษฐกิจโดยรวมกลับมาฟื้นตัว ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มเทรดไฟแนนซ์ กลุ่มเวลธ์ เป็นต้น และการควบคุม Cost to Income เพื่อรักษาระดับระดับ NIM ไม่ว่าจะเป็นการนำ Digital , AI เข้ามาใช้   

รวมถึงการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมเพื่อให้ Cross Sale ได้เพิ่มขึ้น และด้านคุณภาพหนี้ตั้งเป้าหมายให้อยู่ในระดับไม่เกิน 3% จากปัจจุบันที่อยู่ในระดับ 2.6%ซึ่งก็เป็นไปตามการเน้นเติบโตในกลุ่มรายย่อยและเอสเอ็มอีต่อเนื่อง

 

นายฉี กล่าวว่า  ทิศทางการดำเนินธุรกิจของธนาคารนั้นยังยึดหลักแผน 5 ปีเหมือนเดิม โดยเน้น 6 ประเด็นในการกำหนดทิศทางของธนาคารในอนาคตได้แก่ การเพิ่ม NIM โดยรักษา Cost to Income , การยกระดับเป็นขนาดกลางในปี 2573 โดยการขยายฐานลูกค้า การนำดิจิทัล แพลตฟอร์มเข้ามาใช้ และการหาพันธมิตรรายใหญ่มาเพิ่มเติม ,การเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียมหลังจากเศรษฐกิจฟื้นตัวทั้งในส่วนของเทรดไฟแนนซ์ FX และกลุ่มเวลธ์ , การ Cross Sale ระหว่างผลิตภัณฑ์ ,การหาพันธมิตรเพิ่มเติม และการเติบโตอย่างยั่งยืน(ESG)ทั้งในส่วนขององค์กรและลูกค้า พร้อมกันนั้น จะปรับสัดส่วนพอร์ตให้มีความสมดุลมากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายพอร์ตสินเชื่อรายย่อย ,สินเชื่อเอสเอ็มอี และสินเชื่อรายใหญ่ใกล้เคียงกันที่ 30-35% จากปัจจุบันที่สินเชื่อรายใหญ่มีสัดส่วนมากที่สุด

 "แม้ปัจจุบันกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะมีความเสี่ยงสูงอยู่ แต่เรายึดหลักการปล่อยกู้อย่างระมัดระวัง เติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป เลือกในกลุ่มที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง อย่าง พลังงานสะอาด เป็นต้น ขณะที่สินเชื่อรายย่อยปีก่อนสินเชื่อบ้านเราเติบโต 20% ปีนี้เราก็จะรักษาระดับเติบโตต่อไป ส่วนการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียม เรามีเครือข่ายแบงก์แม่ที่ไต้หวันที่จะช่วยหนุนธุรกิจเทรดไฟแนนซ์ได้เป็นอย่างดี ขณะที่การยกระดับเป็นธนาคารระดับกลางนั้น เราไม่มีแผนที่จะซื้อกิจการเข้ามา แต่จะเน้นโตตามธรรมชาติจากภายในของธนาคารเอง"

สำหรับผลประกอบการของธนาคารในปี 2566 ถือว่าเป็นปีที่ดีสำหรับธนาคาร โดยกลุ่มธุรกิจทางการเงินแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มีกำไรสุทธิ 2,096 ล้านบาท เติบโต ร้อยละ 32.8 เมื่อเทียบกับปี 2565 และธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มีกำไรสุทธิ 1,693 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 54.9 เมื่อเทียบกับปี 2565 ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ย เนื่องจากสินเชื่อที่เติบโตอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะจากสินเชื่อบ้าน โดยกลุ่มธุรกิจทางการเงินยังคงความสามารถในการทำกำไรที่ดีขึ้น และควบคุม NPL ให้อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 2.65 รวมทั้งได้ตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญอย่างระมัดระวังโดย NPL Coverage อยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 200 LH Bank ได้ดำเนินการตามแผนกลยุทธ์อย่างมีประสิทธิภาพในการเพิ่มสินเชื่อบ้าน การเพิ่มลูกค้าเงินฝากรายย่อยผ่านช่องทางดิจิทัลใหม่ๆ รวมถึงแอปพลิเคชัน LHB You และ Profita ที่ใช้งานง่ายและมีฟังก์ชันครบครัน

สินเชื่อรวมเติบโตได้ 8% นำโดยสินเชื่อรายย่อยเติบโตได้อย่างต่อเนื่องตามแนวทางของธนาคารที่ต้องการปรับพอร์ตสินเชื่อให้มีความสมดุลมากขึ้น จากเดิมที่เป็นกลุ่มสินเชื่อรายใหญ่มีสัดส่วนสูงสุด