แบงก์ชาติ เปิดผลสำรวจแบงก์รัฐ หนี้ท่วม- ให้บริการไม่เป็นธรรมอื้อ
ธปท.เปิดผลสอบแบงก์รัฐ พบหนี้เสีย-หนี้ค้างชำระอยู่ในระดับสูงเรียกเก็บค่าธรรมเนียมรายย่อยผิดหลักเกณฑ์ ด้าน สศค. ชี้หนี้เสียแบงก์รัฐพุ่ง 2.94 แสนล้านบาท
เสถียรภาพระบบการเงินของไทยในปัจจุบัน ถือว่า “อ่อนแอ” มาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ โควิด-19 มีลูกหนี้จำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ลากยาวมาจนถึงปัจจุบัน สะท้อนความเปราะบางของครัวเรือนไทยที่มีมากขึ้น
ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้สำรวจสถาบันการเงินเฉพาะกิจ หรือแบงก์รัฐ ปี 2566 และแนวทางการตรวจสอบปี 2567 โดยระบุว่า เสถียรภาพของระบบการเงินไทยในปัจจุบันพบว่าความสามารถในการชำระหนี้โดยรวมลดลง โดยเฉพาะครัวเรือน และธุรกิจบางกลุ่มยังเปราะบาง โดยเฉพาะลูกหนี้แบงก์รัฐ และลูกหนี้จากธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน หรือนอนแบงก์
ในส่วนของแบงก์รัฐ พบว่าคุณภาพรายย่อยน่าเป็นห่วง โดยหนี้เสียและหนี้ค้างชำระ แต่ไม่เกิน 90 วัน (SM) ยังอยู่ระดับสูง โดยหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของแบงก์รัฐ สิ้นปี 2566 ยังอยู่ระดับสูงที่ 4.25% และ SM อยู่ที่ 7.65% ถือว่าสูงกว่าอดีต
ลูกหนี้แบงก์รัฐขอความช่วยเหลือ 3.7 ล้านบัญชี
หากดูความคืบหน้า ในการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงิน ภายใต้มาตรการช่วยเหลือ สิ้นปีก่อนมียอดภาระหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือโดยรวมอยู่ที่ 3.52 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นลูกหนี้จากธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์ 1.89 ล้านล้านบาท ส่วนอีก 1.63 ล้านล้านบาท มาจากลูกหนี้แบงก์รัฐ
สอดคล้องกับจำนวนบัญชี ที่ขอรับความช่วยเหลือ โดยรวมอยู่ที่ 6.37 ล้านบัญชี ในจำนวนนี้เป็นลูกหนี้แบงก์รัฐมากที่สุดถึง 3.73 ล้านบัญชี
ส่วนลูกหนี้ด้อยคุณภาพแบงก์รัฐ ตั้งแต่ ปี 2565-2566 พบว่ามีจำนวนมากขึ้น หากดูจำนวนบัญชีลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หรือกลุ่มรหัส 21 จะเห็นว่าอยู่กับแบงก์รัฐถึง 70% และเป็นหนี้จากนอนแบงก์ 20% และธนาคารพาณิชย์ 10% จากลูกหนี้ ในรหัส 21 ทั้งหมด ที่มีประมาณ 3.72 แสนล้านบาท
สอดคล้องกับข้อมูลลูกหนี้ ในระบบของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือเครดิตบูโร ที่พบว่ากลุ่มลูกหนี้ SM ปัจจุบันอยู่ที่ 6.1 แสนล้านบาท มาจากหนี้เสียบ้านถึง 29% และในสินเชื่อบ้าน 68% หรือ 1.2 แสนล้านบาทเป็นลูกหนี้แบงก์รัฐ
ในส่วนของการตรวจสอบแบงก์เฉพาะกิจ ในปี 2566 จากฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ฝ่ายกำกับและตรวจสอบความเสี่ยงด้านไอที ฝ่ายคุ้มครองและตรวจสอบบริการทางการเงิน จากการตรวจสอบในด้านความเสี่ยงในธุรกรรมที่มีนัยสำคัญ
เช่น เงินกองทุน ความสามารถในการหารายได้ ประสิทธิภาพการดำเนินงาน ธรรมาภิบาลและการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ทางการ การดำเนินการตามพันธกิจ และการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรม โดยการจัดกลุ่ม เป็นเขียว เหลือง ส้ม แดง โดยระดับ สีส้ม และแดง ถือว่า มีระดับคะแนนในระดับ อ่อน และ อ่อนมาก
เก็บค่าฟีรายย่อยผิดหลักเกณฑ์ 4 แสนบัญชี
ผลสำรวจพบว่าแบงก์โดยรวม ยังมีความอ่อนแอด้านการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรม (Market conduct) โดยได้คะแนน เหลือง ส้ม สะท้อนถึงการให้บริการที่ไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ ที่ยังไม่เข้มงวดและรัดกุมเพียงพอ
ทั้งในด้านการบังคับขาย การขายไม่ตรงกับความต้องการลูกค้า การควบคุมการขายไม่ตรงจุด บทลงโทษ ไม่เข้มงวด ขณะที่การขอความยินยอมการเปิดเผยข้อมูลลูกค้า ยังไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และการบันทึกความยินยอมไม่ถูกต้องตามประสงค์ลูกค้า
ส่วนการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมสินเชื่อรายย่อย ยังไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ส่งผลกระทบต่อลูกค้า 4 แสนบัญชี หรือประมาณ 604 ล้านบาท และยังมีปัญหาจากการเปิดเผยค่าธรรมเนียมไม่เป็นปัจจุบัน ซึ่งต้องเร่งปรับปรุงค่าตอบแทน และการควบคุมคุณภาพการขาย การเยียวยาลูกค้ามากขึ้น
ธปท.เปิดไกด์ไลน์ตรวจแบงก์รัฐปี 67
สำหรับแนวทางการตรวจสอบแบงก์รัฐปี 2567 สิ่งที่ธปท.คาดหวังที่จะเห็นมากขึ้น คือ ฐานะการเงินเข้มแข็งและเงินกองทุนมั่นคง การบริหารจัดการหนี้ครบวงจร สอดคล้องกับศักยภาพที่แท้จริงของลูกหนี้ รวมถึงการกำกับและการติดตามเข้มงวดและยกระดับ three line of defense ขณะที่ระบบ IT ต้องรองรับการเปลี่ยนแปลง และป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ และแบงก์รัฐสามารถเป็นกลไกการส่งผ่านตามพันธกิจ
สิ่งที่ ธปท.โฟกัส คือ การยกระดับการกำกับแบงก์รัฐ (Oversight function) การเพิ่มการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลที่หลากหลายมากขึ้น และความพร้อมการปฏิบัติตาม TERS9 และการปล่อยสินเชื่ออย่างเป็นธรรมและรับผิดชอบตามเกณฑ์ธปท. (Responsible Lending)
แนวทางการกำกับและตรวจสอบของ ธปท.ยังให้ความสำคัญกับการดำเนินการตามพันธกิจและการให้สินเชื่อ ควบคู่กับการดูแลด้านสินเชื่อ และการกันเงินสำรอง และฐานะการเงิน รวมทั้งการติดตามการบริหารจัดการหนี้ โดยเฉพาะการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งเป็นหัวใจหลักที่ธปท.ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ร่วมกันระหว่างแบงก์รัฐ โครงการค้ำประกันสินเชื่อร่วมกันของแบงก์รัฐ และการใช้ระบบตรวจสอบภายใน
ในส่วนของการกำกับด้าน IT และการให้บริการทางการเงินที่ต้องผลักดันข้อสังเกตสำคัญให้สำเร็จ เช่น การโฆษณา เสนอขายผลิตภัณฑ์สินเชื่อ และการใช้ข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน ต้องไม่กระตุ้นการก่อหนี้เกินควร และไม่กระตุกพฤติกรรมลูกค้า ขณะที่การตรวจสอบเชิงรุก ต้องใช้เทคโนโลยีมากขึ้นในการแก้ปัญหา และขยายผลจากเรื่องร้องเรียน การสื่อสารกับผู้ใช้บริการใกล้ชิด และการสั่งการแบบ Proactive ติดตามการปรับปรุงการบริหารจัดการอย่างเข้มงวด
หนี้เสียแบงก์รัฐพุ่ง 2.94 แสนล้านบาท
รายงานข่าวจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ระบุ ผลประกอบการสถาบันการเงินของรัฐ ณ สิ้นเดือน ก.ย.2566 พบว่า โดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งในแง่การปล่อยสินเชื่อ เงินฝาก ผลกำไร ส่วนหนี้เสียปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่งผลยอดการกันสำรองหนี้สงสัยจะสูญปรับเพิ่มขึ้น ด้านหนี้ที่ถูกกล่าวถึงเป็นพิเศษอยู่ในระดับทรงตัวจากกลางปี 2566
ยอดการกันสำรองได้ปรับเพิ่มมาอยู่ที่ 263% ของหนี้เสีย ณ สิ้นปีงบประมาณ 2566 ขณะที่ เดือนก.ย.ปี 2565 มียอดการกันสำรองเพียง 194% ส่วนปี 2564 ยอดกันสำรองสูงถึง 296 % เพื่อรองรับความเสี่ยงในช่วงนั้น หลังจากนั้นได้ปรับลดลงในปี 2565 และกลับมาเพิ่มขึ้นในปี 2566 ในส่วนของหนี้เสีย ณ เดือนก.ย.2566 อยู่ที่ 2.94 แสนล้านบาท คิดเป็น 4.47% ของสินเชื่อคงค้าง ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนมิ.ย.2566 ซึ่งอยู่ที่ 4.44 %
ด้านการปล่อยสินเชื่อ ณ เดือนก.ย.2566 อยู่ที่ 5.95 ล้านล้านบาท ขยายตัว 5.22 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่วนเงินรับฝาก ณ ก.ย.2566 อยู่ที่ 6.03 ล้านล้านบาท ขยายตัวจากปีก่อนหน้า 3.54%
ส่วนสินเชื่อ SM แบงก์รัฐ ณ เดือน ก.ย.2566 อยู่ที่ 2.69 แสนล้านบาท หรือ 4.10 % ของสินเชื่อคงค้าง ลดลงเล็กน้อยจากเดือนมิ.ย.2566 ซึ่งอยู่ที่ 4.13 %
ด้านกำไรอยู่ที่ 4.9 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.97% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ส่งผลให้กำไรสะสมของแบงก์รัฐปรับตัวดีขึ้นกว่าหลายปีที่ผ่านมา ณ เดือนก.ย.2566 มีกำไรสะสม 3.86 แสนล้านบาท สูงกว่าปี 2565 และ 2564 ที่อยู่ที่ 3.48 แสนล้านบาท และ 3.23 แสนล้านบาท ตามลำดับ