ค่าเงินบาทวันนี้ 13 มี.ค. 67 ‘อ่อนค่า‘ CPI สหรัฐฯ ดีกว่าคาด-เฟดไม่รีบลดดบ.

ค่าเงินบาทวันนี้ 13 มี.ค. 67 ‘อ่อนค่า‘  CPI สหรัฐฯ ดีกว่าคาด-เฟดไม่รีบลดดบ.

ค่าเงินบาทวันนี้ 13 มี.ค. 67 เปิดตลาด “อ่อนค่า“ ที่ 35.73 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้หลังตลาดรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ดีกว่าคาด มองเฟดไม่รีบลดดอกเบี้ยนโยบายลงและอาจลดดอกเบี้ยเพียงราว 3 ครั้งในปีนี้มองกรอบเงินบาทวันนี้ 35.55-35.80 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETSธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทวันนี้ ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.73 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  35.57 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.55-35.80 บาทต่อดอลลาร์  

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนสูงในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ตามที่เราได้ประเมินไว้ (แกว่งตัวในช่วง 35.51-35.80 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทได้ผันผวนอ่อนค่าลงต่อเนื่อง 

ค่าเงินบาทวันนี้ 13 มี.ค. 67 ‘อ่อนค่า‘  CPI สหรัฐฯ ดีกว่าคาด-เฟดไม่รีบลดดบ.

ตามการพลิกกลับมาปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จากรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ที่ออกมา 3.2% สูงกว่าคาดเล็กน้อย (ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ชะลอลงสู่ระดับ 3.8% แต่สูงกว่าที่ตลาดคาดเล็กน้อย)

ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างมองว่า เฟด จะยิ่งไม่รีบปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงและเฟดอาจลดดอกเบี้ยเพียงราว 3 ครั้งในปีนี้ (ก่อนรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ผู้เล่นในตลาดเริ่มมองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้มากกว่า 3 ครั้ง) นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังได้กดดันเงินบาทเพิ่มเติม ผ่านการปรับตัวลดลงแรงราว -20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ของราคาทองคำ ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยเข้าซื้อทองคำในช่วงปรับฐานลงมาบ้าง ทั้งนี้ เงินบาทยังไม่ได้อ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านที่เราประเมินไว้ ตามแรงขายเงินดอลลาร์และสกุลเงินต่างประเทศของผู้เล่นในตลาดบางส่วน ส่วนเงินดอลลาร์ก็ย่อตัวลงบ้าง หลังตลาดหุ้นสหรัฐฯ กลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On)

แนวโน้มค่าเงินบาท

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทอาจแกว่งตัว sideways หลังพลิกกลับมาอ่อนค่าเร็วและแรง จากช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ เนื่องจากส่วนหนึ่ง ผู้เล่นในตลาดบางส่วน อาทิ ฝั่งผู้ส่งออกอาจรอจังหวะเงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงบ้าง ในการทยอยขายเงินดอลลาร์และสกุลเงินต่างประเทศอื่นๆ อาทิ เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) หลัง JPYTHB ได้ปรับตัวขึ้นเข้าสู่โซน 24 บาท/100 เยน นอกจากนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดอาจรอจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อื่นๆ ในช่วงปลายสัปดาห์ ทำให้เงินดอลลาร์ รวมถึงราคาทองคำก็อาจยังคงแกว่งตัวในกรอบ หลังมีการเคลื่อนไหวพอสมควรในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ ควรจับตาฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็กลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง ส่วนตลาดหุ้นจีนและตลาดหุ้นฮ่องกง ก็เริ่มกลับมาอยู่ในเทรนด์ขาขึ้น ทำให้ตลาดหุ้นเอเชียอาจอยู่ในบรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงได้เช่นกัน ซึ่งอาจทำให้นักลงทุนต่างชาติทยอยเข้าซื้อหุ้นไทยได้บ้าง ทำให้โดยรวมเรายังมองว่า เงินบาทอาจไม่ได้อ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 35.80 บาทต่อดอลลาร์ ที่เราประเมินไว้ 

ทั้งนี้ เงินบาทก็อาจยังไม่สามารถกลับมาแข็งค่าไปได้มาก เนื่องจากยังขาดปัจจัยสนับสนุนที่ชัดเจน ทำให้โซนแนวรับอาจยังอยู่ในช่วง 35.50 บาทต่อดอลลาร์ (แนวรับถัดไป 35.30 บาทต่อดอลลาร์)

เรายังขอเน้นย้ำว่า ในช่วงนี้ ความผันผวนของเงินบาทนั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) อย่างเห็นได้ชัด ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) อีกครั้ง หลังผู้เล่นในตลาดมองว่า อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อได้ ทำให้เฟดยังสามารถทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ (แม้ว่าจังหวะในการลดดอกเบี้ยยังมีความไม่แน่นอน) ทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมาเข้าซื้อหุ้นเทคฯ ใหญ่ ที่ปรับตัวลดลงในช่วงก่อนหน้า อาทิ Nvidia +7.2%, Meta +3.3% ส่งผลให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq รีบาวด์ขึ้นแรงกว่า +1.54% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +1.12% 

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นแรงกว่า +1.00% หนุนโดยแรงซื้อหุ้นกลุ่มธนาคาร หุ้นกลุ่มยานยนต์และหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม อาทิ HSBC +2.9%, BMW +2.7%, LVMH +1.0% ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากทั้งความหวังการทยอยลดดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางหลัก และความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลดีต่อหุ้นกลุ่มยานยนต์และกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม

ในฝั่งตลาดบอนด์ รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ที่ออกมาสูงกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมาเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 3 ครั้งในปีนี้ ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวขึ้น ใกล้ระดับ 4.20% อีกครั้ง สอดคล้องกับคำเตือนของเราว่า “ควรระวังความผันผวนของบอนด์ยีลด์ ที่อาจพลิกกลับมาปรับตัวสูงขึ้นได้ หากอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ไม่ได้ชะลอตัวลงตามที่ตลาดคาดหวัง” ซึ่งเราก็ยังคงคำเตือนดังกล่าวไว้ เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังไม่ได้ส่งสัญญาณชะลอตัวที่ชัดเจน จนทำให้เฟดต้องรีบลดดอกเบี้ย อย่างไรก็ดี Risk-Reward ของการเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวก็ยังคุ้มค่าอยู่ ทำให้เราคงมองว่า นักลงทุนสามารถทยอยเพิ่มสถานะการลงทุนได้ หรือนักลงทุนอาจรอจังหวะ Buy on Dip ก็ได้เช่นกัน (อาจเน้นทยอยเข้าซื้อในโซน บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เหนือระดับ 4.20%)

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นเร็วและแรง จากรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ที่ออกมาสูงกว่าคาดเล็กน้อย ทว่าผู้เล่นในตลาดยังคงทยอย Sell on Rally เงินดอลลาร์ ท่ามกลางบรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ และมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังเชื่อมั่นว่า เฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยได้ในปีนี้ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 102.9 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 102.7-103.2 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทำให้ผู้เล่นในตลาดเร่งเทขายทองคำออกมา กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) ปรับตัวลงแรงสู่โซน 2,160 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งผู้เล่นบางส่วนอาจทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะปรับฐาน และโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในย่อตัว ก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง

สำหรับวันนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าลุ้นอาจมีไม่มากนัก ทำให้การเคลื่อนไหวของตลาดการเงินอาจทรงตัว ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก เนื่องจากส่วนหนึ่งผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ในช่วงปลายสัปดาห์ อาทิ ยอดค้าปลีก (Retail Sales) และดัชนีราคาผู้ผลิต PPI 

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดต่างจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของ ECB