สำนักวิจัย แห่หั่น ‘จีดีพี‘ ปี67 ครึ่งแรกเศรษฐกิจส่อ ’ชะงักงัน’
สำนักวิจัยหั่น ‘จีดีีพี’ เซ่นศก.ทรุด ‘ซีไอเอ็มบีไทย‘ ชี้ครึ่งแรกเสี่ยงเข้าสู่ภาวะ‘ชะงักงัน’ พร้อมปรับจีดีพีต่ำสุด เหลือ 2.3% ขณะที่ EIC ชี้เศรษฐกิจเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน นำไปสู่ การลดจีดีพี ลดดอกเบี้ย ลดศักยภาพเศรษฐกิจไทยดิ่ง
เพิ่งเข้าสู่เดือนมี.ค. ยังไม่ทันจะ 3 เดือน สำหรับเศรษฐกิจไทยปี 2567 เหล่า “สำนักวิจัยเศรษฐกิจไทย” หรือศูนย์วิจัยจากธนาคารพาณิชย์ ก็ออกมาพาเหรดปรับ “จีดีพี” ลง สอดคล้องกับ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ที่ออกมาปรับจีดีพีไปแล้วก่อนหน้านี้ โดยคาดเติบโตเพียง 2.2-3.2% เดิมคาดโตราว 2.7-3.7%
แม้โดยรวมคาดการณ์ ว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้ฟื้นตัวขึ้นหากเทียบกับปี 2566 แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมาจาก “ฐานต่ำ” อีกทั้ง แรงส่งหลักๆ ของเศรษฐกิจไทย มาจากเครื่องจักรจาก “การท่องเที่ยว” ที่เติบโตขึ้นเท่านั้น สวนทางกับเครื่องจักรอื่นๆ ที่นับวันมีภาพชะลอตัวลง ท่ามกลางอุปสงค์ในประเทศที่ยังแผ่วต่อเนื่อง “หนี้ครัวเรือนสูง” ล้วนเป็นปัจจัยฉุดรั้งต่อเศรษฐกิจไทยทั้งสิ้น
อย่าง “SCB EIC” Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่เพิ่งปรับจีดีพีล่าสุด เหลือ 2.7% จากเดิม 3% จากเศรษฐกิจไทยมีอัตราการเติบโตช้า เปราะบาง และไม่แน่นอนมากขึ้น ทั้งยังเต็มไปด้วยปัญหาโครงสร้างทั้งในและต่างประเทศ ที่กระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“สมประวิณ มันประเสริฐ” รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCB EIC ฉายภาพเศรษฐกิจไทยวันนี้ว่า อยู่ท่ามกลาง “การเติบโตช้า เปราะบาง และไม่แน่นอน”
นำมาสู่ “3ลด” คือ “ลดแรก” ลดประมาณการจีดีพีไทย ปีนี้เหลือ 2.7% จาก 3.0% ตามศักยภาพการเติบโตที่ลดลง “ลดที่สอง” ศักยภาพของเศรษฐกิจไทย หรือ ที่เรียกว่า Potential Growth ของไทยลดลงต่อเนื่อง หากเทียบกับระดับก่อนโควิด-19 ที่เฉลี่ยของไทยอยู่ที่ 3.4% แต่หากคาดการณ์ในระยะยาว ตั้งแต่ปี 67-88 พบว่าศักยภาพเศรษฐกิจไทย จะลดลงเหลือเพียง 2.7% เท่านั้น
“ลดที่สาม” คาดนำไปสู่การลดดอกเบี้ยนโยบายลง 2 ครั้งในปีนี้ จาก 2.50% ต่อปี เหลือ 2.00% ซึ่งจะปรับครั้งแรกในการประชุมวันที่ 10 เมษายนนี้ และอีกครั้งในเดือนมิ.ย.
“การปรับจีพีดีของ SCB EIC จาก 3% เหลือ 2.7% สะท้อนอาการของเศรษฐกิจไทยทั้งไม่กลับมาฟื้นตัวเท่าที่เคยคาดการณ์ไว้ จากปัญหาเชิงโครงสร้าง การสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในภาคส่งออก ที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยฟื้นตัวช้าต่อเนื่อง ยังไม่รวมถึง ปัญหาจากภายนอก ที่มาจากความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ และการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่การผลิตโลก ซึ่งเหล่านี้เป็นความเสี่ยงที่จะซ้ำเติมให้เศรษฐกิจในประเทศโตช้าลงด้วย”
“การลดดอกเบี้ย” แม้จะไม่ช่วยแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างได้ แต่ช่วยบรรเทาภาระหนี้สูง โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจและครัวเรือนเปราะบางที่อาจได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยขาขึ้นมากกว่ากลุ่มอื่น รวมถึงช่วยเพิ่มปัจจัยบวกต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของไทยท่ามกลางแรงส่งภาครัฐที่ยังติดขัดในปีนี้ได้
ถัดมา “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ที่ออกมาปรับจีดีพีปีนี้เหลือเพียง 2.8% จากระดับเดิมที่ 3.1% จากหลายเครื่องจักรของเศรษฐกิจที่อ่อนแรงลง
“บุรินทร์ อดุลวัฒนะ” กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า แม้เศรษฐกิจไทยปี 2567 จะฟื้นตัว หากเทียบกับปี 2566 แต่ปีนี้ยังไม่ใช่ปีแห่งการเปิดแชมเปญ หรือควรดีใจ เพราะเศรษฐกิจไทยยังเต็มไปด้วยความเสี่ยง!
ทั้งจากอุปสงค์ในประเทศที่โมเมนตัมยังแผ่วลง ภาคการผลิตที่ยังหดตัวต่อเนื่อง หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง สะท้อนได้จากยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ยังหดตัวหลายเดือนติดต่อกัน
ไม่เพียงเท่านั้น เศรษฐกิจไทย ยังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้าง จากการขาดเครื่องจักรใหม่ๆ ขาด Growth Engine ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ให้เติบโตต่อเนื่องในระยะข้างหน้า เช่นเดียวกับ การลงทุนของไทย ถือว่าเติบโตต่ำต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะหากเทียบกับเวียดนาม อินโดนีเซีย ที่พบว่าการลงทุนของไทย ต่อจีดีพียังต่ำกว่าสองประเทศข้างต้นค่อนข้างมาก
หนำซ้ำภาคเกษตรของไทยเริ่มล้าหลัง เมื่อเทียบกับคู่แข่ง ทำให้ Productivity ในภาคเกษตรของไทยลดลงต่อเนื่อง หากเทียบกับคู่แข่ง เช่นเดียวกันรายได้ภาคเกษตรที่ต่ำกว่าเซกเตอร์อื่นๆ
ยิ่งไปกว่านั้น หากดูในแง่ “จีดีพีไทย” กำลังถูกแซง โดยคาดการณ์ว่า ในปี 2570 จีดีพีเวียดนามมีแนวโน้มจะ “แซง” ไทยได้บนการคาดการณ์ Real GDP ของเวียดนาม ที่คาดเติบโตปีละ 6% ขณะที่ไทยเติบโตเพียง 2.5% และมาเลเซีย 4% ดังนั้น หากประเทศไทยไม่หา Growth Engine ใหม่ และแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า อีก 3 ปี เศรษฐกิจเวียดนามแซงไทยแน่นอน
ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวอย่างอ่อนแรง บวกกับความเสี่ยงการเบิกจ่ายภาครัฐที่อาจมาช้า หรือเบิกจ่ายไม่ได้เต็มที่ ยังเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ มีโอกาสต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ที่ 2.8% ด้วย
ในมุมของ “ดอกเบี้ย” มองว่า ได้สิ้นสุดวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นไปแล้วที่ 2.5% และ ธปท. มีแนวโน้มจะลดดอกเบี้ยประมาณ 2 ครั้งในปี 2567 นี้ จากเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ
ทางรอดของเศรษฐกิจไทยคือ การมุ่งไปหาเครื่องจักรใหม่ๆ จากผลักดันให้ไทย เป็นศูนย์กลางการผลิต EV ศูนย์กลางด้าน Data Center เพื่อดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติในการลงทุนรูปแบบอื่นๆต้องมุ่งส่งเสริมให้เกิดพลังงานสะอาด เพื่อดึงดูดกิจกรรมเศรษฐกิจไทยเชิง Geen Economy ที่จะเป็นกุญแจสำคัญในการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ให้หลุดพ้นจาก การเติบโตต่ำกว่าศักยภาพได้
เช่นเดียวกัน “ซีไอเอ็มบีไทย” ที่มองภาพเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรก ยังมีความเสี่ยงเข้าสู่ “ภาวะชะงักงัน” จากการใช้จ่ายของครัวเรือนที่อ่อนแอ การลงทุนภาคเอกชนที่ซึม การจ่ายเงินงบประมาณที่ล่าช้า
“อมรเทพ จาวะลา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย มองว่า การปรับจีดีพี ปี 2567 ลงเหลือ 2.3% จากเดิมมองไว้ที่ 3.1% ถือเป็นการปรับจีดีพีลงมาต่ำอีกหนึ่งปี ต่อเนื่องจากปี 2566 สะท้อนจาก 3 ปัจจัยหลักฉุดรั้ง ทั้งการบริโภคคนไทยซบเซา การลงทุนภาครัฐทรุดตัว และ การส่งออกฟื้นตัวช้า
วันนี้การบริโภคของคนไทยเผชิญความเสี่ยงมากกว่าที่คาด โดยครึ่งแรกของปี 2567 เริ่มเห็นสัญญาณอ่อนตัวของการใช้จ่ายของครัวเรือน โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวกับการใช้จ่ายโดยทั่วไปในการชีวิตประจำวัน
ในขณะที่ ภาคการเกษตรอ่อนแอจากการชะลอตัวของการจ้างงานในภาคการผลิต แม้ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าสุดของรัฐบาลจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในบริการ และสินค้าไม่คงทนเป็นการชั่วคราว แต่ก็น่าจะไม่เพียงพอที่จะชดเชยผลกระทบจากรายได้ที่อ่อนแอ เช่นเดียวกันการลงทุนภาครัฐ ที่ทรุดตัวหนักกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้า การใช้จ่ายงบต่างๆ ล่าช้า กระทบความเชื่อมั่นของเอกชน อาจทำให้เอกชนชะลอการลงทุน
หากมองไปข้างหน้า ครึ่งแรกของปี 2567 คาดว่าเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงภาวะชะงักงัน เนื่องจากการใช้จ่ายของครัวเรือนที่อ่อนแอ การลงทุนภาคเอกชนที่ซึม และการจ่ายเงินงบประมาณที่ล่าช้าได้
เหล่านี้นำมาสู่การคาดการณ์ว่า กนง.อาจลดดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้ โดยคาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะลดลงจาก 2.50% เป็น 2.00% ภายในสิ้นปี จากศักยภาพทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอกว่าที่คาดการณ์ไว้ การลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกน่าจะเกิดขึ้นในรอบการประชุมในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นการลดดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้ จากเดิมที่คาดจะเกิดขึ้นเดือนส.ค. เพื่อบรรเทาผลกระทบจากกำลังซื้อที่ต่ำ บวกกับงบที่เบิกจ่ายล่าช้า
“การลดดอกเบี้ย มองว่า กลับไม่ได้ ช่วยให้แก้ปัญหาที่ฝังลึกของเศรษฐกิจไทยได้ ดังนั้น สิ่งที่ต้องระวัง “น้ำในเขื่อนทะลัก” จากผลลัพธ์ของการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งเปรียบเสมือนการเปิดประตูให้น้ำไหลออกได้อย่างอิสระ และไม่สามารถควบคุมได้ จากผลของการลดดอกเบี้ยอาจมีผลข้างเคียงต่ออัตราแลกเปลี่ยน และกิจกรรมหรือเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอื่นอย่างไม่ตั้งใจ จนไม่สามารถควบคุมได้ เหมือนกับน้ำที่ไหลผ่านประตูที่เปิดออก และไม่สามารถย้อนกระแสน้ำให้ไหลกลับได้”
ไม่เพียง 3 ค่ายเศรษฐกิจที่ออกมาปรับจีดีพีเศรษฐกิจไทยลดลง แต่ก่อนหน้านี้ หลายสำนักวิจัยเศรษฐกิจ หรือศูนย์วิจัยจากธนาคารพาณิชย์ ได้ออกมาปรับ “จีดีพี” ก่อนหน้าแล้ว
เช่น สำนักวิจัยเศรษฐกิจเกียรตินาคินภัทร ที่ออกมาหั่นจีดีพีไทย ลดลงเหลือเพียง 2.6% จากเดิม 3.7% ตอกย้ำความไม่แน่นอน ที่มาจาก โครงการ Digital Wallet รวมทั้งภาคการผลิตที่อ่อนแอ และการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปรับลดลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19
เกียรตินาคินภัทรมองว่า ตัวเลขเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมาสะท้อนสถานการณ์ที่น่ากังวล คือ ภาคการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวติดกันห้าไตรมาส ซึ่งสะท้อนการสะสมสินค้าคงคลังจากความอ่อนแอของอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ และปัญหาความสามารถในการแข่งขันของไทยที่ลดลงต่อเนื่อง
เหล่านี้นำมาสู่การคาดการณ์ การลดดอกเบี้ยของกนง. ว่าอาจเกิดขึ้นได้ 2 ครั้งในปีนี้ และอีก 1ครั้งในปี 2568 ตอกย้ำอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยสูงกว่าที่คาดไว้ สวนทางเงินเฟ้อที่ต่ำกว่าที่ประเมินไว้
เช่นเดียวกัน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ที่ปรับจีดีพีลงมาเหลือ 2.6% จาก 3.1% ภายใต้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเชื่องช้า เผชิญความท้าทายรอบด้าน
สอดคล้องกับ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ที่ปรับจีดีพี เหลือเพียง 2.7% จาก 3% จากการส่งออกที่ฟื้นตัวได้จำกัด จากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักชะลอตัว ส่วนสำนักวิจัยกรุงศรีฯ ปรับ จีดีพีไทย มาอยู่ที่ 2.7% จากที่เคยคาดว่าจะขยายตัวที่ 3.4% โดยภาพรวมเศรษฐกิจไทยแม้ฟื้นตัวขึ้น แต่ยังโตต่ำ หากเทียบกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน