แบงก์-นอนแบงก์ เข้มปล่อยกู้รถ เรียกดาวน์30% ลดหนี้เสีย-ยึดรถ
สถานการณ์สินเชื่อเช่าซื้ออ่วม “แบงก์-นอนแบงก์” ชี้ยอดหนี้เสีย-รถยึด-คืนรถทะลัก “เคเคพี” คุมเข้มปล่อยกู้ เน้นกลุ่มรายได้เกิน 3 หมื่นบาทขึ้นไป “ทิสโก้”เพิ่มยอดดาวน์ 20-30% ลดขาดทุนรถยึด-คืนรถ “ทีทีบี” ชี้ลูกหนี้รถหนี้ท่วม ผ่อนไม่ไหวรถถูกยึด กดราคารถมือสองฮวบ
ภายใต้หนี้ครัวเรือนไทยในปี 2566 ที่ผ่านมายังคงไต่ระดับสูงต่อเนื่อง มาสู่ 16.2 ล้านล้านบาท หรือเกือบ 91% ต่อจีดีพี หากดูไส้ในพบว่าที่น่าห่วงต่อเนื่อง คือสินเชื่อที่มาจากการอุปโภคบริโภค การกู้มาเพื่อใช้จ่าย บริโภค และ และสินเชื่อบ้าน ที่พบว่า หนี้เสีย หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์ ที่สะท้อนให้เห็นปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งหนี้เสีย หนี้ค้างชำระ ที่เร่งตัวขึ้นต่อเนื่อง เหล่านี้นำไปสู่ การยึดรถและขาดทอดตลาดจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา
จากรายงานของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือเครดิตบูโร พบว่าสิ้นปี 2566 ยอดสินเชื่อรวมอยู่ที่ 13.68 ล้านล้านบาท เป็นสินเชื่อรถยนต์ 2.6 ล้านล้านบาท และเป็นหนี้เสีย 2.3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 28% เมื่อเทียบกับปี 2565 มีหนี้ค้างชำระที่ไม่เกิน 90 วัน หรือ SM อีก 2 แสนล้านบาท รวมทั้งสองกลุ่มมีหนี้ที่มีปัญหา และกำลังจะมีปัญหาที่รอระเบิดใหม่รวมเป็นเงินกว่า 4.6 แสนล้านบาท
คุมเข้มสินเชื่อรถ-เน้นรายได้เกิน 3 หมื่น
นายฟิลิป เชียง ชอง แทน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ระบุ ผลการดำเนินงานที่ลดลงในปี 2566 ส่วนหนึ่งมาจากการขาดทุนรถยึดในธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ จากราคารถยนต์ในช่วง 1-2 ปีก่อนหน้าที่อยู่ระดับสูง ไม่สอดคล้องกับปี 2566 ที่ราคาปรับลดลงมาก เมื่อเกิดปัญหายึดรถ และขายทอดตลาด ทำให้ธนาคารขาดทุนจากการขายรถยึด เพราะปัจจุบันราคารถปรับลดลงมาก
สำหรับสถานการณ์ปี 2567 ราคา Marker price หรือราคารถต่ำลง หากเทียบกับช่วง 1-2 ปี มาสู่ระดับปกติมากขึ้น การปล่อยสินเชื่อรถยนต์จึงไม่ได้อยู่ในระดับสูงมาก โดยประเมินว่าการยึดรถในปีนี้น่าจะลดลงเหลือ 3,500 คันตามเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ในไตรมาสแรกปีนี้ จากสิ้นปีที่ 4,600 คัน
อย่างไรก็ตาม เพื่อลดผลขาดทุนจากรถยึด และเพื่อให้สินเชื่อเช่าซื้อมีคุณภาพมากขึ้น ธนาคารจึงเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อใหม่ไปสู่กลุ่มที่มีศักยภาพมากขึ้น เช่นกลุ่มรายได้เกิน 30,000 บาทขึ้นไป และเพิ่มเงินดาวน์ในการขอสินเชื่อรถมากขึ้นสำหรับลูกค้าเสี่ยงสูง หรือประมาณ 20% (LTV) เพื่อลดผลขาดทุนจากการปล่อยสินเชื่อ จากเดิมที่มีการปล่อยกู้เต็ม 100% หรือให้วางเงินดาวน์เพียง 5-10% เท่านั้น
“ในช่วง 2 เดือนแรกปีนี้สถานการณ์รถยึดดีขึ้น แต่ยังคงต้องระมัดระวังในการปล่อยกู้และจับตาอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง และมุ่งดูแลรักษาคุณภาพสำหรับสินเชื่อใหม่ๆและระมัดระวังการเติบโตผ่านการคัดเลือกลูกค้าอย่างระมัดระวังมากขึ้น และให้ความช่วยเหลือลูกค้าผ่านการปรับโครงสร้าง ซึ่งจะช่วยลดปัญหารถยึดได้”
เพิ่มดาวน์ 30% สกัดขาดทุนรถยึด
นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ ระบุ พอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อ เป็นกลุ่มที่ธนาคารติดตามอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ทั้งในส่วนลูกค้าเก่าและสินเชื่อใหม่ ลูกค้าเก่าที่มีปัญหาจะดูแลใกล้ชิดและให้เข้าสู่การปรับโครงสร้างหนี้ หรือเข้าสู่โครงการ คืนรถจบหนี้ เพื่อลดภาระ และลดผลกระทบจากหนี้เสียในอนาคต
นอกจากปรับโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยลูกค้าโดยเร็วป้องกันปัญหารถยึด ธนาคารยังเพิ่มการวางดาวน์เพิ่มเป็น 20-30% เพื่อลดปัญหาการคืนรถ หรือการขาดทุนรถยึด จากเดิมที่อาจปล่อยกู้ 100% หรือให้วางดาวน์ต่ำกว่า 20% แนวทางนี้จะลดปัญหาการคืนรถและหนี้เสียได้
หนี้ครัวเรือนพุ่งฉุดสินเชื่อรถ
นายฐากร ปิยะพันธ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทยธนชาตจำกัด (มหาชน) หรือ TTB ระบุ ตลาดสินเชื่อรถยนต์ปีนี้มีความท้าทายมาก เพราะมีหลายๆปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงกว่าระดับ 90% ของจีดีพีไทย ซึ่งอาจทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ลดลง
โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์ โดยตลาดเริ่มเห็นสัญญาณตั้งแต่ปีที่แล้ว ซึ่งการอนุมัติสินเชื่อรถยนต์ของธนาคารลดลง
ส่วนปีนี้เริ่มเห็นลูกค้าผ่อนชำระยอดค่างวดรถไม่ไหวและนำรถมาคืน หรือจำเป็นต้องปรับโครงสร้างหนี้มากขึ้น และยังเห็นราคารถมือสองปรับตัวลงเร็ว เนื่องจากสถานการณ์ยึดรถเข้าสู่การประมูลเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ควบคู่กับเริ่มเห็นตลาดรถใหม่ราคาปรับลดลง หลังจากกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าหรืออีวีเข้าสู่ตลาดมากขึ้น
เป็นสาเหตุให้ราคารถใหม่ปรับตัวลดลง และยังถ่ายโอนสู่ตลาดรถมือสองทำให้ราคาลดลงด้วย
เมื่อสถานการณ์ตลาดรถมือสองมีความสุ่มเสี่ยง จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะกระทบต่อการปล่อยสินเชื่อของรถมือสอง แม้ธนาคารไม่ได้ปรับหลักเกณฑ์อนุมัติสินเชื่อใหม่ แต่พิจารณาภาระหนี้ต่อรายได้ของลูกค้าเป็นหลัก เพราะภาระหนี้ของลูกค้าที่มากขึ้นส่งผลให้การอนุมัติสินเชื่อรถยนต์น้อยลงในช่วงที่ผ่านมา ทำให้สินเชื่อรถยนต์ปีก่อนมียอดคงค้างทรงตัวที่ 401,000 ล้านบาท และคาดปีนี้จะเติบโตเพียง 1-2%
ปรับโครงสร้างหนี้แทนยึดรถ
ธนาคารยังมีความห่วงใยปัญหาหนี้สินของคนไทย ด้วยปัญหาเศรษฐกิจเรื้อรังที่ทำให้ปีที่ผ่านมามีผู้เป็นหนี้ค้างชำระระหว่าง 1-3 เดือนสูงขึ้น และยอดผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น ธนาคารจึงมีเป้าหมายบริหารจัดการความเสี่ยงของกลุ่มสินเชื่อรายย่อยอย่างต่อเนื่อง โดยควบคุมหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL รถยนต์ให้อยู่ที่ 1%
โดยเน้นให้สินเชื่อรถใหม่ คัดเลือกกลุ่มลูกค้าคุณภาพ และติดตามหนี้อย่างใกล้ชิดเพื่อให้ความช่วยเหลือลูกค้าปรับโครงสร้างหนี้
ปีนี้ตั้งเป้าช่วยลูกค้าสินเชื่อรถปรับโครงสร้างหนี้ 7,000-8,000 คันต่อเดือน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 5,000-6,000 คันต่อเดือน เพราะธนาคารไม่ต้องการยึดรถ แต่ต้องการช่วยลูกค้าปรับโครงสร้างหนี้มากกว่า
เกาะติดตลาดรถอีวีมือสอง
ส่วนการปล่อยสินเชื่อรถใหม่กลุ่มรถอีวีเริ่มมีข้อกังวลความเสี่ยงคุณภาพลูกค้ากลุ่มรถอีวีทั้งแบงก์และตลาด แม้ลูกค้าที่ซื้อรถอีวีและมาขอสินเชื่อรถอีวีในช่วงแรกนี้ยังเป็นลูกค้าคุณภาพดี ใช้รถอีวีเป็นรถคันที่สอง ใช้รถไม่มาก เป็นกลุ่มรายได้สูง สัดส่วนเงินดาวน์เฉลี่ย 30% หรือสูงถึง 50% แต่เมื่อพ้นช่วง 5-7 ปีขึ้นไป ราคารถอีวีใหม่และมือสองจะอยู่ที่เท่าใดนั้น ยังไม่สามารถระบุได้ แต่เริ่มมีข้อมูลเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี เพราะปัจจุบันรถอีวีมือสองทยอยเข้าสู่ตลาดแล้ว
แต่จะเป็น “รถปียังใหม่ ไมค์ยังน้อย” รถมีสภาพดี ทำให้ราคารถอีวีมือสองไม่ได้ลดลงมาก ถ้ามีรถมือสองมากขึ้นจะเริ่มเห็นราคาที่มีจุดกลับตลาดจะเป็นอย่างไร
คุมเข้มสินเชื่อรายใหม่สกัดหนี้เสีย
นายตัน คีท จิน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ระบุ กลยุทธ์สำหรับลูกค้ารายย่อยปีนี้จะมุ่งโตในสินเชื่อบ้านและสินเชื่อรถมากขึ้น คาดการณ์สินเชื่อรายย่อยเติบโต 5-10% เทียบกับสินเชื่อรายย่อยคงค้างรวมปีก่อนที่ 1.6 แสนล้านบาท
ภายใต้การตั้งเป้าการเติบโตสินเชื่อรถยนต์ ธนาคารต้องมองควบคู่กับการโตอย่างมีคุณภาพ และดูแลหนี้เสียให้อยู่ในระดับเหมาะสม กลุ่มเป้าหมายคือ กลุ่มรายได้ 3-5 หมื่นบาทขึ้นไป เพื่อลดความเสี่ยงหนี้เสียในอนาคต และอาจขอเพิ่มเงินดาวน์เป็น 10-15%
ส่วนการอนุมัติสินเชื่อรถปัจจุบันลดลง โดยมียอดอนุมัติสินเชื่อเฉลี่ยอยู่ที่ 40% สูงกว่าปีก่อน
ยอดยึดรถจักรยานยนต์โต 3 เท่า
ส่วนตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ ยังคงกังวลและมีคำถามว่า ยอดขายรถจักรยานยนต์ที่เพิ่มขึ้นมาจากกลุ่มใด เพราะหากดูการปล่อยสินเชื่อจากรายใหญ่นั้น มีเงื่อนไขเข้มงวด ตั้งแต่ตรวจสอบเครดิตบูโร เครดิตสกอร์ การให้พนักงานลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติของลูกค้า ประกอบกับภาพรวมเศรษฐกิจชะลอตัว หนี้ครัวเรือนสูง แต่ยอดขายกลับโตสวนทาง
ปัจจุบันตัวเลขรถจักรยานยนต์ที่อยู่ในลานประมูลเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าตัว หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 7,000 คันต่อรอบ ทำให้ราคารถจักรยานยนต์มือสองลดลงอย่างมาก ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการทั้งระบบ
นางสาวบุปผา ไชยพิณ นายกสมาคมธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ไทย ระบุ ปัจจัยหลักมาจากสภาพเศรษฐกิจไทยที่ยังชะลอตัว หรือยังไม่มีมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อจากภาครัฐ ทำให้กลุ่มรากหญ้าในท้องถิ่นถูกกระทบทั้งรายได้
และความสามารถชำระหนี้ลดลง คาดว่าสถานการณ์จะกลับมาดีขึ้นหากช่วงปลายไตรมาส 2 รัฐบาลเดินหน้าการลงทุนโครงการชัดเจน นอกเหนือจากการสนับสนุนภาคเกษตร และท่องเที่ยวเติบโตแล้ว
คาดว่า ช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ปีนี้ จะมีการจ้างงานในโครงการลงทุนภาครัฐและเอกชนเพิ่มขึ้น
ทำให้กลุ่มฐานรากมีรายได้เพิ่มขึ้น ความสามารถชำระหนี้ดีขึ้น ยอดยึดรถจักรยานยนต์มีโอกาสชะลอตัว ทำให้ยอดยึดรถจักรยานยนต์ปีนี้น่าจะทรงตัวจากปีก่อน