เปิดผลสำรวจการเข้าถึงบริการทางการเงินของคนไทย
การเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial inclusion) เป็นหนึ่งในเป้าหมายด้านความยั่งยืนทางการเงินที่ทั่วโลกผลักดัน
บทความนี้ผู้เขียนจะมาเปิดรายงานผลสำรวจการเข้าถึงบริการทางการเงินภาคครัวเรือนไทยล่าสุดปี 2565 ที่แบงก์ชาติร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจกลุ่มครัวเรือนตัวอย่างกว่าหมื่นครัวเรือนทั่วประเทศ โดยการสำรวจนี้เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่แบงก์ชาติใช้ติดตามพัฒนาการในการเข้าถึงบริการทางการเงินของครัวเรือนไทย
ภาพรวมปี 2565 ครัวเรือนไทยมีระดับการเข้าถึงบริการทางการเงินที่ 97% เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่ 95% ซึ่งอาจสะท้อนว่าครัวเรือนไทยเข้าถึงบริการทางการเงินได้ดี แต่ยังมีประเด็นท้าทายอยู่
ทั้งนี้ แบงก์ชาติอ้างอิงกรอบของธนาคารโลกในการจัดกลุ่มการเข้าถึงของครัวเรือนเป็น 3 กลุ่ม
1.กลุ่มที่เข้าถึงผู้ให้บริการทางการเงินในระบบ แต่อาจยังได้รับบริการที่ไม่เพียงพอ (underserved)
2.กลุ่มที่เข้าไม่ถึงผู้ให้บริการในระบบเพราะติดอุปสรรค (unserved) อาทิ อยากกู้เงินแต่ฐานะการเงินไม่ดี หรือกู้ได้แต่กับผู้ให้บริการนอกระบบเท่านั้น และ
3.กลุ่มที่ไม่ได้ใช้บริการเพราะไม่จำเป็น ดังนั้น ระดับการเข้าถึงบริการทางการเงินในภาพรวมที่ 97% ใช้บริการกับผู้ให้บริการในระบบอย่างน้อย 1 จาก 10 บริการที่สำรวจ (10 บริการที่สำรวจ ประกอบด้วย เงินฝาก สินเชื่อ(ไม่รวมบัตรเครดิต) โอนเงิน ชำระเงิน บัตรเครดิต ประกันชีวิต ประกันอื่นๆ กองทุนรวม ตราสารการลงทุนภาครัฐ ตราสารการลงทุนภาคเอกชน )
แต่ยังพบว่า ครัวเรือนไทยใช้บริการทางการเงินกระจุกตัวอยู่เพียงบริการพื้นฐานในชีวิตประจำวันอย่างเงินฝาก โอนเงิน ชำระเงินและสินเชื่อ ส่วนบริการที่มีความซับซ้อนขึ้นอย่างผลิตภัณฑ์ลงทุนและประกันยังใช้ในระดับต่ำ
เมื่อเจาะลึกลงไปในแต่ละบริการพื้นฐาน 4 บริการยังพบประเด็นที่น่ากังวล
ด้านเงินฝาก - แม้ครัวเรือนไทยจะมีบัญชีเงินฝากกับผู้ให้บริการในระบบอย่างธนาคารพาณิชย์แล้ว แต่เงินที่ออมในบัญชียังไม่เพียงพอรองรับการใช้จ่ายหากต้องหยุดงานกะทันหันหรือเกษียณอายุ โดยเฉพาะการก้าวสู่สังคมผู้สูงวัย
โดย 2 ใน 3 ของครัวเรือนที่มีบัญชีเงินฝากตอบว่ามีเงินออมเพื่อใช้จ่ายหากต้องหยุดงานกะทันหันน้อยกว่า 3 เดือน หรือไม่แน่ใจสถานะเงินออมของตัวเอง และมีเพียง 1 ใน 4 ของครัวเรือนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปและมีบัญชีเงินฝากตอบว่าสามารถออมได้ตามแผนสำหรับยามชรา
ด้านสินเชื่อ - ระดับการเข้าถึงและใช้สินเชื่อจะต่ำกว่าบริการพื้นฐานอื่น โดยครัวเรือนที่สำรวจใช้สินเชื่อกับผู้ให้บริการที่ไม่ใช่ธนาคารเป็นหลัก เช่น กองทุนหมู่บ้าน บริษัทสินเชื่อรายย่อย บริษัทลิสซิ่ง/เช่าซื้อ เป็นต้น
และปัญหาสำคัญที่พบกับผู้ให้บริการสินเชื่อคือ ผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่ตอบโจทย์ ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องเงื่อนไขหรือขั้นตอนที่ยุ่งยากที่ทำให้ครัวเรือนบางส่วนหันไปใช้หนี้นอกระบบเพราะได้เงินเร็ว ไม่ต้องใช้หลักประกันหรือเอกสารรายได้
กลุ่มที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อกับผู้ให้บริการในระบบ ได้แก่ กลุ่มลูกจ้างประจำที่มีรายได้น้อยและกลุ่มประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งเป็นเพราะฐานะการเงินไม่ดี/รายได้ไม่เพียงพอ
ด้านการโอนเงินและด้านการชำระเงิน - เห็นพัฒนาการทั้งระดับการเข้าถึงและการใช้บริการกับผู้ให้บริการที่มีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งธนาคาร ผู้ให้บริการ e-money และผู้ให้บริการในลักษณะตัวแทน (banking agent) อาทิ ไปรษณีย์ ร้านสะดวกซื้อ โดยกลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการดังกล่าว คือ กลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มรายได้น้อยซึ่งให้เหตุผลว่าไม่มีความรู้ความเข้าใจ
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังมีมิติช่องทางการใช้บริการ คือ
1.สาขาธนาคารและตู้ ATM ยังเป็นช่องทางหลักในบริการฝาก-ถอนเงินและสินเชื่อ
2.ผู้ให้บริการในลักษณะตัวแทนเป็นหลักด้านบริการชำระเงิน โดยเฉพาะในพื้นที่นอกเมือง แต่ยังมีปัญหาด้านคุณภาพการให้บริการและค่าธรรมเนียมสูง และ
3. ช่องทาง digital (Internet หรือ Mobile Banking) มีสัดส่วนการใช้เพิ่มขึ้นในทุกบริการโดยเฉพาะการโอนเงินและชำระเงิน
ทั้งนี้ แม้ว่าจะเห็นการปรับตัวและใช้บริการผ่านช่องทาง digital (digital adoption) ที่เพิ่มขึ้นแต่ยังมีกลุ่มที่ยังต้องพึ่งพาช่องทาง non-digital (กลุ่มรายได้น้อยและผู้สูงอายุ) ซึ่งต้องดูแลให้สามารถทยอยปรับตัวได้ต่อไป
จะเห็นได้ว่า การเข้าถึงบริการทางการเงินที่ยั่งยืนจำเป็นต้องพิจารณาหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็น ระดับการเข้าถึงบริการที่มีความหลากหลายทั้งผู้ให้บริการและช่องทางการใช้บริการ ความรู้ความเข้าใจในบริการที่ซับซ้อน
ประกอบกับคุณภาพในการเข้าถึงบริการที่จะส่งเสริมสุขภาพทางการเงินที่ดี เช่น ความสามารถในการกู้และชำระหนี้ได้ ไม่ติดกับดักหนี้ การมีบัญชีเงินฝากและสามารถออมเงินได้เพียงพอในกรณีฉุกเฉินหรือออมได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ เป็นต้น
ทุกภาคส่วนสามารถช่วยสนับสนุนการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างยั่งยืนได้ โดยปัจจุบันแบงก์ชาติมีหลายโครงการที่ช่วยเรื่องนี้ อาทิ การเปิดให้มีผู้เล่นใหม่อย่างธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual bank) ที่ใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาแข่งขันพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการมากขึ้น
การผลักดันให้เกิดกลไกที่ประชาชนสามารถใช้สิทธิส่งข้อมูลที่มีกับผู้ให้บริการต่างๆ (Open data) เช่น Bank statement ประวัติการชำระค่าสาธารณูปโภค เป็นต้น เพื่อรับบริการและคำแนะนำทางการเงินที่เหมาะสมกับตัวเอง
ควบคู่กับมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินผ่านหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่บังคับใช้กับผู้ให้บริการทางการเงิน อาทิ การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ การแก้หนี้อย่างยั่งยืน การจัดการปัญหาการทุจริตและหลอกลวง ตลอดจนการส่งเสริมความรู้ทางการเงินและการเงินดิจิทัลให้แก่ประชาชน อันจะมีส่วนช่วยให้เกิดการเข้าถึงบริการทางการเงินที่ทั่วถึง เท่าเทียม อย่างยั่งยืนของคนไทย...
สแกน QR Code เพื่ออ่านรายงานผลสำรวจการเข้าถึงบริการทางการเงินภาคครัวเรือนฉบับเต็ม
*บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่สังกัด
ปวริศา ศุขะพันธุ์ ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธปท.