JCB ตั้งเป้าโกยลูกค้า รายได้ 5 หมื่นต่อเดือน เข้าพอร์ต 30% ใน3ปี
JCB เดินหน้าเพิ่มฐานลูกค้ากลุ่มรายได้สูง เกิน 5 หมื่นบาทเข้าพอร์ต ตั้งเป้า 3ปี กลุ่มลูกค้าบัตร Ulitimate เพิ่มเป็น 30% ชี้ปัจจุบัน เจซีบี ไม่ได้เก็บค่าธรรมเนียมรูดต่างประเทศ 1% แต่ขอรอดูความชัดเจนธปท.ก่อนเก็บค่าฟีมีผลบังคับใช้
นายทาเคชิ ฟูจิอิ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจซีบี อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า แนวโน้มการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต JCB มีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หากเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยคาดว่า ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรปีนี้ น่าจะเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 20% หากเทียบกับ ยอดใช้จ่ายผ่านบัตร JCB ที่เติบโตได้ที่ 23%
ยอดการเติบโตของผู้ใช้บัตร JCB มาจากทั้งฐานลูกค้าบัตรเครดิตในประเทศ ที่มีการใช้จ่ายมากขึ้น โดย 3 อันดับแรกที่มีการใช้จ่ายผ่านบัตรมากที่สุด ได้แก่ การใช้จ่ายที่ปั้มน้ำมัน ร้านค้าออนไลน์ และร้านอาหาร ขณะที่ต่างประเทศ เริ่มเห็นยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น ที่คนไทยใช้บัตร JCB เป็นบัตรหลักมากขึ้น
“จุดแข็งของบัตร JCB คือเป็นบัตรสัญชาติญี่ปุ่นเพียงหนึ่งเดียวในประเทศไทย ทำให้เราได้รับความนิยมอย่างมาก จากผู้ใช้บัตรในต่างประเทศ โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปญี่ปุ่น ทำให้ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเติบโตขึ้นมาก ดังนั้นมองว่าจากจุดแข็งตรงนี้ จะทำให้ JCB สามารถเข้ามาเจาะตลาดบัตรเครดิตมากขึ้นในระยะข้างหน้า”
สำหรับการเติบโตในระยะข้างหน้า บริษัทจะเน้นเจาะกลุ่มเป้าหมาย กลุ่มที่มีรายได้เกิน 50,000 บาทมากขึ้น หรือ บัตร Uitimate Experience โดยตั้งเป้าใน3ปี สัดส่วนลูกค้าบัตร Uitimate หรือกลุ่ม 50,000 บาทขึ้นไป จะมีสัดส่วนในพอร์ตเป็น 30% ของฐานบัตรทั้งหมด
โดยการเพิ่มฐานลูกค้า ที่มีรายได้สูงเข้ามาในพอร์ตมากขึ้น บริษัทมองว่าต้องทำสองสิ่งพร้อมกัน ทั้งการเพิ่มจำนวนผู้ถือบัตร Uitimate Experience จากผู้ออกบัตรมากขึ้น และการหาพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อเพิ่มยอดการออกบัตรให้เพิ่มขึ้นด้วย
ทั้งนี้ ปัจจุบัน บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจา เพื่อหาพันธมิตรบัตรใหม่ ซึ่งเป็นสถาบันการเงิน ที่คาดว่า จะเห็นการจับมือรายใหม่ได้ภายในปีนี้ เพื่อเพิ่มฐานผู้ออกบัตรให้มากขึ้น
ทั้งนี้ ปัจจุบัน บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจา เพื่อหาพันธมิตรบัตรใหม่ ซึ่งเป็นสถาบันการเงิน ที่คาดว่า จะเห็นการจับมือรายใหม่ได้ภายในปีนี้ เพื่อเพิ่มฐานผู้ออกบัตรให้มากขึ้น
ในส่วนของการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการแปลงสกุลเงินต่างประเทศเป็นสกุลเงินบาท Dynamic Currency Conversion Fee (DCC Fee) ที่จะมีการเรียกเก็บ 1%
ซึ่ง ปัจจุบันบริษัทไม่ได้มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากลูกค้า ดังนั้น การประกาศของสถาบันการเงิน ในการเก็บค่าธรรมเนียม 1% ในวันที่ 1พ.ค.นี้ ส่วนนี้จะมาจากสถาบันการเงิน ผู้ออกบัตร
ดังนั้นบริษัทกำลังพิจารณาเช่นเดียวกันว่า จะมีการเก็บค่าธรรมเนียมหรือไม่ หรือมีผลกระทบต่อลูกค้าหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้ ต้องรอความชัดเจนจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ภายหลังมีการหารือกับผู้ออกบัตรแล้ว
“ปกติเราไม่ได้เก็บจากลูกค้าเรา ส่วนในระยะข้างหน้าจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมส่วนนี้หรือไม่ ต้องแล้วแต่ธนาคารผู้ออกบัตรที่เป็นพันธมิตรกับเรา แต่เรากำลังพิจารณาอย่างรอบด้านจริงๆ ว่าหากจ่ายแล้วกระทบต่อลูกค้ามากน้อยแค่ไหน อยากดูผลกระทบก่อน และวันนี้ธปท.อยู่ในชั้นของการพูดคุยกับทั้งวีซ่า และมาสเตอร์การ์ด รวมถึงแบงก์ต่างๆ ซี่งยังไม่มีข้อสรุปออกมา ดังนั้นขอดูความชัดเจนก่อน”