ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank)
ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา หรือที่ภาษาอังกฤษ เรียกว่า Virtual Bank คือธนาคารที่ใช้เทคโนโลยีในการให้บริการ ไม่มีสาขาที่เป็นกายภาพให้เราเดินไปใช้บริการ
ช่วงนี้เราจะเห็นข่าวคราวต่างๆเกี่ยวกับการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะให้ผู้สนใจยื่นใบอนุญาตขอเปิดธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา หรือที่ภาษาอังกฤษ เรียกว่า Virtual Bank ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้ยื่นคำขอในปีนี้ และผู้ได้รับใบอนุญาตน่าจะเปิดดำเนินการได้ในปีหน้า คือ ปี 2568
ในสัปดาห์นี้ดิฉันจึงจะขอเล่าถึงธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาอย่างย่อๆพอให้ท่านได้ทำความเข้าใจ และเตรียมตัวเลือกใช้บริการหากเห็นว่าเหมาะสม
คำว่า “ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา” หรือ Virtual Bank คือธนาคารที่ใช้เทคโนโลยีในการให้บริการ ไม่มีสาขาที่เป็นกายภาพให้เราเดินไปใช้บริการ บางครั้งคนทั่วไปก็ใช้คำนี้สลับกับ ธนาคารดิจิทัล เพราะใช้เทคโนโลยีเหมือนกัน แต่ธนาคารดิจิทัล อาจจะเป็นหนึ่งในวิธีการให้บริการของธนาคารพาณิชย์ทั่วไป เพื่อเสริมกับการให้บริการในสาขาที่ทำอยู่
การเกิดขึ้นของธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา มีสมาร์ทโฟน เป็นตัวช่วย และมีความเร็วของอินเตอร์เน็ต 4G และ 5G เป็นตัวเร่งให้เกิด โดยเฉพาะหวังยุคโควิดที่คนคุ้นชินกับการทำธุรกรรมออนไลน์มากกว่าแต่เดิม
S&P Financial Services ได้แบ่งกลุ่มประเทศลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา เป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มที่ยังไม่เคยใช้ หรือเข้าไม่ถึงบริการของธนาคารพาณิชย์ (Underbanked) กับกลุ่มที่ ใช้บริการธนาคารพาณิชย์เยอะมากเกินไปแล้ว (Overbanked)
สองกลุ่มนี้แตกต่างกันอย่างไร กลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงบริการของธนาคารพาณิชย์ (Underbanked) ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งอาจจะเข้าไม่ถึงเพราะการคมนาคมลำบาก หรือจำนวนประชากรไม่หนาแน่นพอที่จะจูงใจให้ธนาคารพาณิชย์ไปเปิดสาขาเพื่อให้บริการ ซึ่งมองว่าตลาดที่มีลูกค้ากลุ่มนี้จำนวนมากคือประเทศกำลังพัฒนา และที่มีศักยภาพคือ เอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะประเทศที่มีจำนวนประชากรสูง และประเทศที่ประชากรยังใช้บริการธนาคารพาณิชย์ในสัดส่วนที่น้อย เช่น อินโดนีเซีย อินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ เวียดนาม ฟิลิปปินส์
สำหรับกลุ่มที่ใช้บริการธนาคารพาณิชย์เยอะมากเกินไปแล้ว (Overbanked) ส่วนใหญ่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว โดยสามารถให้ความสะดวกกับลูกค้าด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า และยังสามารถดึงดูดคนรุ่นใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีได้อย่างคล่องแคล่วมาใช้บริการ จึงเป็นทางเลือกที่ลูกค้านิยม ประเทศ/เขตเศรษฐกิจในกลุ่มนี้ เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน อีกประการหนึ่งที่ทาง S&P ไม่ได้ระบุ แต่ดิฉันวิเคราะห์เองว่า ส่วนหนึ่งเนื่องจาก ประชากรสูงวัยของประเทศเหล่านี้ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นด้วย การเดินทางไปสาขาของธนาคารจึงไม่สะดวก การรับบริการทางดิจิทัล จึงเป็นทางเลือกที่นิยม
สำหรับประเทศไทยนั้น เราไม่มีปัญหาเรื่องสาขาของธนาคารไม่เพียงพอ ทั้งนี้ต้องให้เครดิตกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตั้งแต่สมัย ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นผู้ว่าการ เพราะธนาคารมีนโยบายอันยอดเยี่ยมที่ระบุว่า หากจะเปิดสาขาในย่านที่เจริญ (ธนาคารคิดว่าจะทำรายได้ได้ดี) ธปท. จะบังคับให้เปิดสาขาในชนบทที่ห่างไกลด้วย เป็นการบังคับให้ภาคเอกชนช่วยดึงความเจริญไปสู่ท้องถิ่น ถือเป็นกุศโลบายที่ยอดเยี่ยมมาก ดิฉันเข้าไปทำงานธนาคารพาณิชย์ ยังทันยุคนั้นค่ะ และเมื่อมีสาขาธนาคารพาณิชย์ครอบคลุมทั่วประเทศไทยแล้ว นโยบายบังคับนี้ก็หยุดไป นอกจากนี้ สมัยที่การให้สินเชื่อเกษตรยังเป็นที่หวาดกลัวของธนาคารพาณิชย์ ธปท.ก็มีข้อกำหนดให้มีสัดส่วนสินเชื่อเกษตรต่อสินเชื่ออื่นๆนะคะ ภายหลัง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรได้รับหน้าที่นี้ไปแทน เงื่อนไขต่างๆพวกนี้ ถือเป็นเงื่อนไขที่ชาญฉลาดมากในการพัฒนาประเทศ ดังนั้น ประเทศไทยจึงมีผู้เข้าไม่ถึงระบบธนาคารพณิชย์เพราะการคมนาคมน้อย ดิฉันสังเกตว่าส่วนใหญ่เข้าไม่ถึง เพราะไม่มีเงินออมพอที่จะไปฝาก หรือไม่มีศักยภาพในการชำระคืนพอที่จะไปกู้ยืมมากกว่า ดิฉันเห็นว่าจะให้คนเข้าถึงระบบสถาบันการเงิน เราต้องยกระดับรายได้ของประชาชนค่ะ
ขอเล่าถึงตัวอย่างธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาในฮ่องกง ซึ่งหน่วยงานดูแลกำกับสถาบันการเงินของฮ่องกง หรือ Hong Kong Monetary Authority (HKMA) ให้ใบอนุญาตในปี 2562 จำนวน 8 แห่ง โดยข้อมูลที่จะนำเสนอต่อไปนี้มาจาก KPMG ฮ่องกง ซึ่งแบ่งกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาตามยุทธศาสตร์ที่ดำเนินการเป็น 4 กลุ่ม (บางธนาคารอาจมียุทธศาสตร์มากกว่าหนึ่งยุทธศาสตร์) คือ 1. กลุ่มที่มีเป้าหมายให้บริการลูกค้ามวลชนรายย่อย (Mass Retail) คือ ZA Bank, WeLab Bank, Mox Bank และ Ant Bank 2. กลุ่มที่มุ่งดูแลลูกค้า SMEs คือ PingAn One Connect Bank และ Airstar Bank
3. กลุ่มที่ทำการบริหารความมั่งคั่งและประกันภัย (Wealth Management & Insurance) ซึ่งมี 3 แห่งคือ Fusion Bank, WeLab Bank, ZA Bank และ Livi Bank และ 4. ธนาคารที่เน้นทำ Token Exchange คือแลกเปลี่ยนเงินดิจิทัลหรือ โทเค่น เป็นสกุลเงินปกติ ซึ่ง ZA Bank ได้ประกาศยุทธศาสตร์ชัดเจน ขอใบอนุญาตทำการรับแลกเงิน KPMG แนะนำว่าในอนาคต ธนาคารเหล่านี้จะสู้ได้ ต้องพัฒนาให้มีความแตกต่าง
จากข้อมูลที่ KPMG รวบรวมมา ตั้งแต่เริ่มดำเนินการมา 3 ปี (พ.ศ. 2563-2565) ธนาคารไร้สาขาทั้ง 8 แห่งของฮ่องกง ยังขาดทุนอยู่ค่ะ และเป็นที่น่าสังเกตว่า ยกเว้นผิงอันวันคอนเนค ธนาคารไร้สาขาเหล่านี้ สามารถระดมเงินฝากได้เยอะกว่าที่นำไปปล่อยสินเชื่อประมาณหนึ่งหรือเกินเท่าตัว ซึ่งถือว่ายังปล่อยสินเชื่อได้น้อย แต่ข้อมูลในปี 2566 พบว่าการขาดทุนของแต่ละธนาคารลดลง
กลลยุทธ์ที่ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาใช้กันคือ กลยุทธ์เบาตัวค่ะ มีสินทรัพย์ให้น้อยๆ และอาจร่วมให้กู้กับธนาคารพาณิชย์ปกติ เพื่อรับรายได้ค่าธรรมเนียม
ส่วนกลยุทธ์ที่ธนาคารพาณิชย์ปกติใช้ในการแข่งขันกับ ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา คือ พยายามปรับปรุงการให้บริการทางดิจิทัลมาสู้ โดยหวังว่า หากบริการดี ครบวงจร ลูกค้าก็จะไม่เปลี่ยนใจย้ายไปใช้บริการธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา
ดิฉันเป็นห่วงเรื่องการหลอกลวงผู้บริโภค ลำพังไม่มีธนาคารไร้สาขา ก็มีมนุษย์ที่คิดไม่ดี หลอกลวงเพื่อนมนุษย์ด้วยกันผ่านสื่อดิจิทัลมากมายเพียงนี้แล้ว หากมีธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาเกิดขึ้น ทำอย่างไรจะให้ผู้บริโภคและประชาชนทั่วไป สามารถแยกแยะออกได้ว่า ธนาคารนี้จริงหรือเป็นการหลอกลวง อันนี้เป็นโจทย์ที่ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทยและผู้ประกอบการที่จะยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจ ต้องแก้ให้ตก ป้องกันให้ได้ มิฉะนั้นโศกนาฏกรรมทางการเงินจะเกิดขึ้นซ้ำซาก ไม่มีวันจบสิ้น
สำหรับผู้มีความคิดเห็นอยากช่วยเสนอ ทางธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อหลักเกณฑ์การกำกับดูแล ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา ระหว่างวันที่ 19 มีนาคม ถึง วันที่ 17 เมษายน 2567 ดิฉันหวังว่าผู้มีความรู้ทางการเงินการธนาคาร และผู้มีความรู้ทางเทคโนโลยี จะช่วยกันแสดงความเห็นเพื่อประโยชน์และปิดจุดอ่อนหรือช่วงโหว่ที่อาจเกิดขึ้น เพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่ดีของเรานะคะ