การปิดจบหนี้เรื้อรัง … ทางเลือกที่รออยู่
หนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาที่หนักใจของทุกฝ่ายนะคะ ไม่เฉพาะลูกหนี้ที่กังวล แต่ยังรวมถึงภาครัฐที่พยายามแก้ปัญหา ด้านแบงก์ชาติเอง ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่สอดคล้องกับสถานการณ์มาโดยตลอด
ในปีนี้แบงก์ชาติออกมาตรการ เพื่อที่จะเห็นการปรับพฤติกรรมทั้งเจ้าหนี้ที่ต้องมีความรับผิดชอบและลูกหนี้มีวินัยกัน โดยบางเกณฑ์บังคับใช้แล้วตั้งแต่ต้นปี 2567 เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ ให้ลูกหนี้รายย่อยและ SMEs ที่มีปัญหาชำระหนี้ทั้งก่อนเป็นหนี้เสีย (non-NPL) และหลังเป็นหนี้เสีย (NPL) และมีการคุ้มครองสิทธิลูกหนี้ให้เป็นธรรมยิ่งขึ้น
เช่น ห้ามคิดค่าปรับไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกำหนด (prepayment fee) สำหรับสินเชื่อรายย่อย ยกเว้นกรณี refinance สินเชื่อบ้านภายใน 3 ปีแรกที่ลูกหนี้ยังมีโอกาสได้ดอกเบี้ยต่ำอยู่ (teaser rate)
รวมทั้งด้านโฆษณาของผู้ให้บริการ ว่า 1. ต้องถูกต้องและชัดเจน 2. ครบถ้วนและเปรียบเทียบได้ และ 3. ไม่กระตุ้นการก่อหนี้เกินควร ดังที่ผู้เขียนเคยเล่าในฉบับก่อนๆ ค่ะ
พอเริ่ม 1 เมษายน ก็มีอีก 1 เกณฑ์ คือ การปิดจบหนี้เรื้อรัง ที่มีผลบังคับใช้ โดยผู้ให้บริการทางการเงินต้องแจ้งเตือนลูกหนี้เรื้อรัง และเสนอทางเลือกปิดจบหนี้เรื้อรังให้แก่กลุ่มเปราะบางที่มีการจ่ายดอกเบี้ยมากกว่าชำระเงินต้นแล้วเป็นเวลานานกว่า 5 ปี
เพื่อที่กลุ่มนี้จะมีทางเลือกในการพิจารณาว่าจะสมัครเข้าร่วม (opt-in) โครงการปิดจบหนี้เรื้อรังหรือไม่นะคะ
ลูกหนี้แบบใด ที่เข้าข่ายหนี้เรื้อรังตามโครงการนี้บ้าง
ลูกหนี้ที่เข้าข่าย 3 องค์ประกอบนี้
(1) ลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ประเภทวงเงินหมุนเวียน ที่ไม่มีกำหนดเวลาปิดจบหนี้ เช่น บัตรกดเงินสด
(2) ยังไม่เป็นหนี้เสีย (non-NPL) และ
(3) มีการจ่ายดอกเบี้ยรวมมากกว่าเงินต้นที่ชำระมาทั้งหมดเป็นระยะเวลานาน
ประเภทลูกหนี้เรื้อรังตามโครงการนี้ มีอะไรบ้าง
มี 2 กลุ่ม คือ
1. ลูกหนี้ที่เริ่มมีปัญหาหนี้เรื้อรัง (general PD) คือ ลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ประเภทวงเงินหมุนเวียน ที่จ่ายดอกเบี้ยรวมมากกว่าเงินต้นรวม มาแล้ว 3 ปี แต่ไม่ถึง 5 ปี โดยยังไม่เป็นหนี้เสีย
2. ลูกหนี้ที่เป็นหนี้เรื้อรัง (severe PD) คือ ลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ประเภทวงเงินหมุนเวียน ที่ยังไม่เป็นหนี้เสีย และมีการจ่ายดอกเบี้ยรวมมากกว่าเงินต้นรวม มาแล้วนานถึง 5 ปี และเป็นกลุ่มเปราะบาง คือ มีรายได้ต่อเดือนน้อยกว่า 20,000 บาทกรณีลูกหนี้สถาบันการเงินและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน หรือน้อยกว่า 10,000 บาทกรณีลูกหนี้ non-bank
ทั้งนี้ การที่แบงก์ชาติกำหนดเกณฑ์รายได้ เพื่อมุ่งให้ความช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มที่เดือดร้อนที่สุดก่อน โดยพิจารณาความเรื้อรังและรายได้ที่ไม่สูงมากของลูกหนี้
เมื่อเข้าข่ายลูกหนี้เรื้อรังแล้ว จะได้รับการแจ้งเตือน อย่างไร
1. ความถี่การแจ้งเตือนจากเจ้าหนี้ – อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ผ่านช่องทางที่ผู้ให้บริการใช้สื่อสารกับลูกหนี้ โดยการเตือนครั้งแรก ให้ดำเนินการภายใน เม.ย. 67
2. ช่องทางการแจ้งเตือน
- ลูกหนี้เริ่มเรื้อรัง (general PD) จะได้รับการเตือน อย่างน้อย 1 ช่องทาง
- ลูกหนี้เรื้อรัง (severe PD) จะได้รับการเตือน อย่างน้อย 2 ช่องทาง คือ
1) จดหมาย หรือ อีเมล
2) SMS หรือ Line หรือ Mobile application
มาตรการปิดจบหนี้เรื้อรัง มีอะไรบ้าง
1. ลูกหนี้เริ่มเรื้อรัง (general PD) – จะได้รับการแจ้งเตือน ซึ่งสามารถติดต่อเจ้าหนี้หากประสงค์จะปิดจบหนี้เร็วขึ้นได้ โดยสถาบันการเงินต้องให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสมเป็นรายกรณี
2. ลูกหนี้เรื้อรัง (severe PD) – นอกจากการแจ้งเตือนแล้ว จะได้รับข้อเสนอแนวทางปิดจบหนี้ ซึ่งลูกหนี้สามารถพิจารณาว่าจะสมัคร (opt-in) เข้าร่วมโครงการหรือไม่
ประโยชน์ที่ลูกหนี้เรื้อรังจะได้รับ
1. อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงไม่เกิน 15% ต่อปี ลดลงจากเดิมที่ 25% ต่อปี
2. ปิดจบหนี้ได้ภายใน 5 ปี
3. เงื่อนไขผ่อนไหว โดยเงินผ่อนชำระค่างวดใกล้เคียงเดิม อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงจึงนำไปตัดชำระเงินต้นได้มากขึ้น ทำให้ปิดจบหนี้ได้เร็ว
3 เรื่องที่ลูกหนี้เรื้อรังต้องรู้ ก่อนเข้าร่วมมาตรการปิดจบหนี้
1. ได้รับสิทธิ 1 ครั้ง ต่อ 1 บัญชีสินเชื่อ
2. มีการรายงานประวัติข้อมูลเครดิต (NCB) ว่าได้เข้าร่วมมาตรการดังกล่าว
3. ต้องปิดวงเงินของสินเชื่อที่เข้าร่วม โดยเปลี่ยนเป็นสินเชื่อที่ผ่อนชำระเป็นงวด (installment loan) เพื่อให้สามารถปิดจบหนี้ได้จริง แต่อาจได้รับวงเงินเฉพาะกรณีฉุกเฉินเท่านั้น
หากลูกหนี้ต้องการทราบสถานะของตนเอง สามารถติดต่อสาขา หรือ call center ของผู้ให้บริการเพื่อตรวจสอบสถานะ และสอบถามรายละเอียดการเข้าร่วมมาตรการแก้หนี้เรื้อรังได้
สำหรับช่องทางปรึกษาปัญหาหนี้และแก้หนี้ ทางแบงก์ชาติได้ร่วมกับผู้ให้บริการทางการเงิน จัดทำเบอร์ต่อ 99 เพื่ออำนวยความสะดวก โดยลูกหนี้ที่ต้องการปรึกษาปัญหาหนี้และแก้หนี้ สามารถโทรสายตรงไปยังเบอร์ของผู้ให้บริการและกดเบอร์ต่อ 99 ได้ค่ะ (เว้นเพียงผู้ให้บริการบางรายที่ยังอยู่ระหว่างปรับระบบ)
ทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องการแก้หนี้ยั่งยืน ที่มุ่งหวังจะเห็นผู้ให้บริการทางการเงิน ดำเนินการ
1) ช่วยเหลือลูกหนี้ต่อเนื่อง ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้
2) ช่วยลูกหนี้เรื้อรังกลุ่มเปราะบางประเภทสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ที่มีวงเงินหมุนเวียน เช่น บัตรกดเงินสด และมีการจ่ายดอกเบี้ยรวมมากกว่าเงินต้นรวม มาแล้วนานถึง 5 ปี โดยยังไม่เป็นหนี้เสีย ให้สามารถปิดจบหนี้ได้ และ
3) ให้บริการในลักษณะที่คุ้มครองสิทธิลูกหนี้ ให้เป็นธรรมยิ่งขึ้น โดยแบงก์ชาติจะกำกับตรวจสอบสถาบันการเงินอย่างเข้มงวดในหลายช่องทาง ทั้งสุ่มตรวจสอบการปฏิบัติจริง และติดตามตรวจสอบผ่านช่องทางต่างๆ
เช่น social listening และเรื่องร้องเรียนที่มายังแบงก์ชาติผ่านเบอร์โทร 1213 โดยจะสั่งการให้แก้ไขหากพบเห็นการไม่ปฏิบัติจริง รวมทั้งมีบทลงโทษ เช่น downgrade rating ซึ่งจะกระทบขอบเขตการทำธุรกิจของผู้ให้บริการทางการเงิน และมีบทลงโทษทางกฎหมาย รวมทั้งเปิดเผยข้อมูลการถูกเปรียบเทียบปรับหรือถูกกล่าวโทษด้วย
ความสำเร็จของการแก้หนี้ยั่งยืน คงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่เฉพาะแบงก์ชาติ แต่รวมถึงภาครัฐ ผู้ให้บริการทางการเงิน และที่สำคัญคือ ลูกหนี้ ค่ะ ผู้เขียนขอส่งกำลังใจแก่ลูกหนี้ในการแก้ไขปัญหาหนี้กันด้วยนะคะ
บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด
คอลัมน์ “แจงสี่เบี้ย”
ดร.พรเพ็ญ สดศรีชัย
ธนาคารแห่งประเทศไทย