FED เตรียมลดดอกเบี้ย ตลาดจะสดใสไร้ความเสี่ยง จริงหรือ ?
ทิศทางข้างหน้าจะสนับสนุนบรรยากาศการลงทุน เนื่องจากเศรษฐกิจยังคงเติบโตได้ดี และธนาคารกลางหลายประเทศเตรียมลดดอกเบี้ย แต่นักลงทุนก็ไม่ควรประมาท เพราะยังมีหลายปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้
ในช่วงวันหยุดสงกรานต์ หลายหน่วยงานมักรณรงค์ให้ผู้ใช้รถใช้ถนนขับขี่อย่างปลอดภัยเพื่อลดอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลแห่งความสุขนี้ สำหรับเส้นทางการลงทุนก็เช่นเดียวกัน เชื่อว่าตั้งแต่ต้นปี สินทรัพย์ลงทุนได้สร้างความสุขให้กับนักลงทุนไม่มากก็น้อย เพราะตลาดหุ้นทั่วโลกให้ผลตอบแทนราวๆ +7% และแม้ทิศทางข้างหน้าจะสนับสนุนบรรยากาศการลงทุน เนื่องจากเศรษฐกิจยังคงเติบโตได้ดี และธนาคารกลางหลายประเทศเตรียมลดดอกเบี้ย แต่นักลงทุนก็ไม่ควรประมาท เพราะยังมีหลายปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เช่น
1. ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ถือเป็นสิ่งที่คาดการณ์ไม่ได้แต่มักสร้างความผันผวนให้ตลาดทุนทั่วโลก และในช่วงที่เหลือของปีนี้นอกจากจะต้องจับตาการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่อาจทำให้ความขัดแย้งกับจีนรุนแรงขึ้นแล้ว ยังมีสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ดำเนินอยู่ด้วย
2. แม้ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะออกมาในเกณฑ์แข็งแกร่ง แต่บอนด์ยีลด์ระยะสั้นยังสูงกว่าระยะยาว (Inverted yield curve) ซึ่งมักใช้เป็นตัวบ่งชี้ถึงความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ว่ายังไม่หมดไป นอกจากนั้น ยังมีความเสี่ยงที่เงินเฟ้ออาจจะเร่งตัวขึ้นอีกครั้ง ซึ่งจะทำให้ FED ลดดอกเบี้ยช้ากว่าหรือน้อยกว่าที่ตลาดคาด
3. ความเสี่ยงด้านการผิดนัดชำระหนี้ หลังจากที่อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นมากในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา ย่อมเพิ่มภาระทางการเงินให้แก่ผู้กู้ยืม ซึ่งถ้าหากการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ก็อาจจะเพิ่มความเสี่ยงในระบบสถาบันการเงินได้
4. หลังจากการล็อคดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป กระทบต่ออัตราการเช่าห้างสรรพสินค้าและออฟฟิศและยังถูกซ้ำเติมด้วยดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ซึ่งอาจกระทบสภาพคล่องของสถาบันการเงินขนาดเล็กๆ ที่อาจจะมีการปล่อยกู้กระจุกตัวในภาคอสังหาฯ ดังกล่าว
5. ตั้งแต่ปี 2023 หุ้นกลุ่มเทคฯ ยักษ์ใหญ่ไม่กี่บริษัทเป็นตัวขับเคลื่อนตลาดหุ้นสหรัฐฯ ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นแล้วในช่วงวิกฤต Dot-com ปี 2000 และช่วงต้นทศวรรษ 1930s ราคาหุ้นกลุ่มเทคฯ จึงมีโอกาสปรับฐาน หากกำไรเติบโตน้อยกว่าที่ตลาดคาด หรือ FED ลดดอกเบี้ยช้ากว่าที่คาด
6. แม้ว่าธนาคารจะมีความระมัดระวังมากขึ้นหลังวิกฤต Hamburger จากกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดมากขึ้น แต่สถาบันการเงินขนาดเล็กที่ไม่ใช่ธนาคาร รวมทั้งกลุ่มกองทุน เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญ หรือกองทุนเฮดจ์ฟันด์ ที่มีกลไกการจัดการความเสี่ยงที่เข้มงวดน้อยกว่าและสามารถปล่อยกู้ให้แก่บริษัทที่อาจมีความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้มากกว่า อาจนำมาซึ่งความเสี่ยงต่อระบบการเงินได้
7. จากการใช้นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ระดับหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ อยู่ในระดับสูงมากที่ 160% ของ GDP อาจจะสร้างความผันผวนต่อตลาดตราสารหนี้
8. เราผ่านเหตุการณ์โรคระบาดโควิด-19 มาแล้วกว่า 4 ปี และจากการศึกษาพบว่ามีโอกาส 2% ที่จะเกิดโรคระบาดในลักษณะคล้ายกัน นอกจากนั้นยังมีความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติอื่นๆ ที่มีโอกาสเกิดขึ้น เช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วม ซึ่งเป็นผลของการกระทำของมนุษย์ที่ทำให้เกิดภาวะโลกรวน
แม้ความเสี่ยงข้างต้นจะมีโอกาสต่ำที่จะเกิดขึ้น แต่ก็เป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องจับตา และการจัดการความเสี่ยงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้มีผลกระทบจำกัดต่อพอร์ตลงทุนโดยรวม จึงควรจัดสรรเงินลงทุนส่วนใหญ่ 50-70% ลงทุนในกองทุนผสมที่กระจายลงทุนในหลายสินทรัพย์ ทั้งพันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้บริษัทเอกชน หุ้นประเทศพัฒนาแล้ว หุ้นประเทศกำลังพัฒนา ตลอดจนสินค้าโภคภัณฑ์ โดยมีผู้จัดการกองทุนผู้เชี่ยวชาญคอยจัดสรรสัดส่วนให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจและตลาด ณ ขณะนั้น สำหรับเงินลงทุนส่วนที่เหลือกระจายลงทุนในกองทุนหุ้นและตราสารหนี้เพื่อเพิ่มผลตอบแทน แต่ด้วยกองทุนหุ้น โดยเฉพาะประเทศตลาดเกิดใหม่อย่างเวียดนามและอินเดีย แม้จะมีศักยภาพการเติบโตที่โดดเด่นมาก แต่ก็มีความผันผวนค่อนข้างสูง จึงแนะนำสัดส่วนลงทุนตามความเสี่ยงที่รับได้ และเสริมพอร์ตลงทุนด้วยสินทรัพย์นอกตลาดเพื่อกระจายความเสี่ยงออกจากบริษัทจดทะเบียน
แม้ภาพรวมเศรษฐกิจและตลาดทุนจะดูสดใส แต่ยังมีความเสี่ยงในระยะข้างหน้า การกระจายการลงทุนจึงเป็นหัวใจสำคัญสำหรับการสร้างขุมทรัพย์ เพราะการบริหารความเสี่ยงเพื่อจำกัดผลขาดทุน มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการสร้างผลตอบแทน