BBL เปิดกำไรไตรมาสแรกหมื่นล้าน โต 18% ด้านสำรองยังสูง 8.5 พันล้านบาท

BBL เปิดกำไรไตรมาสแรกหมื่นล้าน โต 18% ด้านสำรองยังสูง 8.5 พันล้านบาท

แบงก์กรุงเทพ เปิดกำไรโค้งแรกหมื่นล้าน เติบโต 18% จากค่าใช้จ่ายแบงก์ลดลง รายได้จากการลงทุน ธุรกิจประกัน ค่าธรรมเนียมเติบโตต่อเนื่อง ด้านสำรองยังสูง 8.5 พันล้านบาท เพื่อรองรับความเสี่ยงเพิ่ม

ธนาคารกรุงเทพรายงานกำไรสุทธิสำหรับไตรมาส 1 ปี 2567 จำนวน 10,524 ล้านบาท ธนาคารกรุงเทพ และบริษัทย่อยรายงานกำไรสุทธิสำหรับไตรมาส 1 ปี 2567 จำนวน 10,524 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.7 จากไตรมาส 4 ปีก่อน

โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลง จากค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเงินรับฝากเพิ่มขึ้นตามการทยอยปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินรับฝากเมื่อครบกำหนด ส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ร้อยละ 3.06 

ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจากรายได้จากการลงทุน ประกอบกับรายได้ค่าธรรมเนียม และบริการสุทธิจากบริการประกันผ่านธนาคาร และกองทุนรวมเติบโตดีจากไตรมาสก่อน  สำหรับค่าใช้จ่าย
จากการดำเนินงานลดลง

โดยมีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ร้อยละ 47.1  ทั้งนี้ ธนาคารพิจารณาตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 8,582 ล้านบาท ภายใต้หลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า

ธนาคารกรุงเทพยังคงดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง และรอบคอบ พร้อมทั้งรักษาเสถียรภาพฐานะการเงิน สภาพคล่อง และเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อการเติบโตอย่างมั่นคง และยั่งยืน 
ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2567 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,736,427 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 
จากสิ้นปีก่อน จากสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ และสินเชื่อลูกค้ากิจการต่างประเทศ  

สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อรวมยังคงอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ที่ร้อยละ 3.0  ทั้งนี้ จากการที่ธนาคารยึดหลักการตั้งสำรองด้วยความระมัดระวัง และรอบคอบอย่างต่อเนื่อง ทำให้อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ร้อยละ 291.7

ธนาคารมีเงินรับฝาก ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2567 จำนวน 3,198,332 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียง
กับสิ้นปีก่อน และมีอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากอยู่ที่ร้อยละ 85.6  

ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคาร และบริษัทย่อยอยู่ที่ร้อยละ 19.7 ร้อยละ 16.3 และร้อยละ 15.6 ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์