กรุงไทย กำไรไตรมาสแรก 1.1หมื่นล้าน โต 10% รายได้จากการดำเนินงานหนุน
ธนาคารกรุงไทย โชว์ ไตรมาส 1 กำไรสุทธิ 1.1หมื่นล้าเพิ่มขึ้น 10% จากรายได้จากการดำเนินงานเติบโตอย่างยั่งยืน ขณะที่สินเชื่อขยายตัวอย่างสมดุล บริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างระมัดระวังและยืดหยุ่น รักษา Coverage Ratio ในระดับสูง รองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปี 2567 ขับเคลื่อนโดยการทยอยฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงเติบโตได้ต่ำลง และเติบโตต่ำกว่าศักยภาพ จากปัญหาเชิงโครงสร้างที่กระทบต่อการผลิตและการส่งออก ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีการขยายวงและต่อเนื่อง และสภาวะภูมิอากาศแปรปรวน
รวมถึงแรงกดดันจากภาระหนี้ครัวเรือนในระดับสูง ขณะที่ธุรกิจ SME บางส่วนเปราะบางและขาดความยืดหยุ่นจึงฟื้นตัวได้ช้า ธนาคารกรุงไทย มุ่งเน้นการเติบโตแบบยั่งยืนพร้อมบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างระมัดระวังและยืดหยุ่นอย่างต่อเนื่อง โดยรักษา Coverage Ratio ในระดับสูง เพื่อรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาหนี้
โดยเฉพาะการช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มเปราะบางที่มีภาระหนี้สูง โดยพัฒนารูปแบบการช่วยเหลือที่สามารถก้าวข้ามข้อจำกัดและอุปสรรคในเชิงระบบ เพื่อให้ความช่วยเหลือได้อย่างตรงจุด สนับสนุนให้กู้เท่าที่จำเป็นและผ่อนชำระไหว โดยยึดมั่นในแนวทางการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending)
ด้านไตรมาสที่ 1/2567 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 11,079 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์อย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งขับเคลื่อน “นวัตกรรมสร้างคุณค่า ตอบโจทย์ลูกค้า สู่ความยั่งยืน”
ส่งผลให้รายได้รวมจากการดำเนินงานขยายตัวร้อยละ 15.4 จากพอร์ตสินเชื่อที่เติบโตอย่างระมัดระวัง เพื่อรักษาสมดุลด้านความเสี่ยงและผลตอบแทนที่มุ่งเน้นคุณภาพ รวมถึงการขยายตัวของรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิและรายได้จากการดำเนินงานอื่นๆ
ธนาคารยังคงมุ่งเน้นการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในองค์รวมอย่างมีประสิทธิภาพ Cost to Income ratio เท่ากับร้อยละ 43.6 โดยค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่นๆ ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากบริหารจัดการทรัพย์สินรอการขายอย่างระมัดระวัง
โดยธนาคารตั้งค่าเผื่อด้อยค่าทรัพย์สินรอการขายตามศักยภาพของทรัพย์สินอย่างเหมาะสมในไตรมาสที่ 1/2567 และยังคงให้ความสำคัญกับการขยายการลงทุนเกี่ยวกับเทคโนโลยีและดิจิทัลเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ครอบคลุมลูกค้าในทุกภาคส่วนและเพื่อพร้อมรับการเติบโตของอุตสาหกรรม การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและนวัตกรรมในอนาคต
ทั้งนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระดับที่เหมาะสม ยังคงรักษา Coverage ratio ในระดับสูงคงที่ประมาณร้อยละ 181 ซึ่งเป็นระดับเดียวกันกับเมื่อสิ้นปี 2566 พร้อมทั้งบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างยืดหยุ่นและระมัดระวังต่อเนื่อง
โดยมี สินเชื่อด้อยคุณภาพเท่ากับ 98,815 ล้านบาท ลดลงจาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 และอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม (NPLs Ratio) เท่ากับร้อยละ 3.14 เทียบกับไตรมาส 4/2566 กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เพิ่มขึ้น ร้อยละ 81.3
โดยหลักจากการตั้งสำรองลดลง ร้อยละ 38.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา จากการที่ธนาคารได้ตั้งสำรองสำหรับลูกค้ารายใหญ่รายหนึ่งและกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกันที่มีแนวโน้มของคุณภาพสินเชื่อที่เสื่อมค่าลงในไตรมาสที่ 4/2566 ทั้งนี้ รายได้รวมจากการดำเนินงานที่ขยายตัวร้อยละ 2.8 โดยมี Cost to Income ratio ลดลงจากร้อยละ 44.8 ในไตรมาส 4/2566 เป็นร้อยละ 43.6 ในไตรมาสนี้ จากการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในองค์รวมอย่างมีประสิทธิภาพ
ธนาคารยังคงรักษา Coverage ratio ในระดับสูงที่ร้อยละ 181.8 เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 ธนาคารมีเงินกองทุนชั้นที่ 1 ร้อยละ 17.33 ของสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยง และมีเงินกองทุนทั้งสิ้น ร้อยละ 20.50 ของสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยงซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
รวมถึงมีสภาพคล่องในระดับที่เพียงพอโดยรักษาระดับของ Liquidity Coverage ratio (LCR) อย่างต่อเนื่อง สูงกว่าเกณฑ์ที่ธปท.กำหนด
ในวันที่ 25 มกราคม 2567 บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ S&P Global Ratings ได้ประกาศปรับแนวโน้ม (outlook) ของธนาคารเป็น Positive (จากระดับ คงที่ หรือ Stable)
ในขณะที่คงอันดับความน่าเชื่อถือระดับสากลของธนาคาร ที่ BBB- จากพัฒนาการของธนาคารที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในด้านความสามารถในการทำกำไร (profitability) และการปรับปรุงและดูแลด้านการบริหารจัดการความเสี่ยง (asset quality management)
ธนาคาร เดินหน้าช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มให้มีสุขภาพทางการเงินที่ดี เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยล่าสุด ได้ออกโครงการ “สินเชื่อรวมหนี้ข้าราชการยั่งยืน” เพิ่มเติมจากมาตรการช่วยเหลือข้าราชการที่ทำต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือข้าราชการที่มีภาระหนี้สูง เงินเดือนถูกหักไปใช้หนี้จนเกือบหมด มีเงินเหลือใช้ในแต่ละเดือนไม่ถึง 30% ไม่เพียงพอดำรงชีพ ทำให้ต้องไปกู้เพิ่มอยู่ในวงจรหนี้ไม่จบไม่สิ้น จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือเร่งด่วน
ตามนโยบายของท่านนายกรัฐมนตรี โดยโครงการนี้มุ่งลดภาระทางการเงิน เพิ่มความสามารถในการดำรงชีพของข้าราชการอย่างเหมาะสม โดยมีจุดเด่นคือ สามารถรวมหนี้รายย่อยทุกประเภทมาไว้ที่ธนาคารกรุงไทย อัตราดอกเบี้ยต่ำคงที่ตลอดอายุสัญญา ไม่ผันผวนตามทิศทางอัตราดอกเบี้ย และขยายเวลาชำระหนี้ ให้สามารถชำระหนี้ได้สูงสุดถึงอายุ 80 ปี เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับข้าราชการ
โดยธนาคารนำร่องจับมือกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น และบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ช่วยเหลือข้าราชการครู ลดภาระทางการเงิน ปิดจบหนี้เรื้อรังได้เร็วขึ้น และเสริมแกร่งความรู้ สร้างวินัยการเงิน เพื่อสุขภาพทางการเงินที่ดีอย่างยั่งยืน โดยธนาคารมีแผนต่อยอดขยายความร่วมมือกับ หน่วยงานราชการต้นสังกัดที่เกี่ยวข้อง
อาทิ กระทรวงการคลัง กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงกลาโหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมบัญชีกลาง และบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) รวมถึงสหกรณ์ที่ข้าราชการเป็นสมาชิกต่อไป
ในปี 2567 ธนาคารกรุงไทย มุ่งมั่นพัฒนาองค์กรด้วยนวัตกรรม ให้ก้าวนำการเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจยุคใหม่ ขับเคลื่อน “นวัตกรรม สร้างคุณค่า ตอบโจทย์ลูกค้า สู่ความยั่งยืน” และสนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยล่าสุด ได้จัดตั้งบริษัท กรุงไทยเวนเจอร์ส จำกัด (Krungthai Ventures) ภายใต้บริษัท กรุงไทยแอดไวซ์เซอรี่ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย เพื่อประกอบธุรกิจในรูปแบบร่วมลงทุน (Venture Capital) มุ่งเน้นการลงทุนที่สอดคล้องกับยุทธศาตร์ธนาคาร สร้างการเติบโตใหม่ๆ
และสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับประเทศ ต่อเนื่องจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ทันสมัย บนดิจิทัลแพลตฟอร์มที่ทุกคนเข้าถึงได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ทั้งแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT ที่มีผู้ใช้งาน 17.8 ล้านราย แอปฯเป๋าตัง 40 ล้านราย และแอปฯถุงเงิน 2 ล้านราย ช่วยให้คนไทยเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างสะดวก ทั่วถึง และเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางการเงิน และแหล่งเงินทุนในระบบ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยให้ดีขึ้นในทุกวัน