‘ท๊อป จิรายุส’ เผยสื่อนอก จ่อบุกอาเซียน ดัน Bitkub เป็น Growth Engine ใหม่เศรษฐกิจไทย
“ท๊อป จิรายุส” เผย หลังจากเตรียมไอพีโอในตลาดหุ้นไทยปีหน้า พร้อมบุกอาเซียนแม้มีเจ้าตลาดในฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียอยู่แล้ว หวังดันบิทคับเป็นเครื่องจักรใหม่เศรษฐกิจไทย
สำนักข่าวนิกเคอิ เอเชีย รายงานวันนี้ (26 เม.ย.67) บทสัมภาษณ์ของนายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัดว่า เตรียมเสนอขายหุ้นต่อให้ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ในปี 2025 ซึ่งคาดการณ์ว่าจะช่วยผลักดันการขยายกิจการไปยังประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีเป้าหมายที่จะสร้าง “แชมป์ระดับภูมิภาค” เพื่อแข่งขันกับบริษัทอย่างคอยน์เบส (Coinbase) และไบแนนซ์ (Binance)
โดยบิทคับจะนำเงินที่ได้จากการไอพีโอแพลตฟอร์มซื้อขายแลกเปลี่ยนคริปโทเคอร์เรนซี ออนไลน์ซึ่งกำหนดไว้ในปลายปีหน้าเพื่อดึงดูดส่วนแบ่งการตลาดในภูมิภาคที่ยังไม่มีผู้เล่นมากนัก ซึ่งหน่วยงานกำกับดูแลยังคงอยู่ระหว่างการพัฒนากรอบการทำงานสำหรับสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งในกัมพูชา เวียดนาม และลาว
"อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์เป็นการแข่งขันที่ดุเดือดเพราะมีผู้ชนะที่ชัดเจนอยู่แล้ว เราจะมุ่งไปยังประเทศใหม่ๆ และเริ่มต้นทำงานกับหน่วยงานกำกับดูแลในท้องถิ่นตั้งแต่วันแรกเพื่อเป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความไว้วางใจ” นายจิรายุส กล่าว
นอกจากนี้ บิทคับมีปริมาณการซื้อขายประจำวันอยู่ที่ 44.5 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1,646.5 ล้านบาท) ซึ่งนำหน้า อินโดแด็กซ์ (Indodax) และ โทโคคริปโท (Tokocrypto) ของอินโดนีเซีย รวมทั้งคอยน์ดอทพีเอ็ช (Coins.ph) ของฟิลิปปินส์อย่างมาก แต่ในตลาดใหม่ บริษัทบิทคับวางแผนที่จะเติบโตนอกเหนือจากเรื่องปริมาณการซื้อขายและตัวอย่างการใช้งาน (Use Cases) ที่คำนึงถึงตลาดการโอนเงินข้ามประเทศสำหรับผู้อพยพ และชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงาน
“เราต้องการมุ่งเน้นไปที่ประเทศกำลังพัฒนาเพื่อที่เราจะก้าวกระโดดไปสู่อนาคตด้วยเทคโนโลยีล่าสุด” เขากล่าวกับนิกเคอิในการสัมภาษณ์ พร้อมเสริมว่า “สำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่ยังคงใช้ธุรกรรมด้วยเงินสด พวกเขาไม่มีระบบดั้งเดิม ดังนั้นจึงมีต้นทุนโอกาสที่ต่ำกว่ามากในการเปลี่ยนระบบ”
เขากล่าวต่อว่า การระดมทุนในประเทศไทยเป็น “ความสำคัญอันดับแรก” สำหรับบิทคับ และอยู่ในช่วงพิจารณาการระดมทุนคู่ขนานในฮ่องกงหรือสหรัฐอเมริกาในอนาคต
"ช่วงพีคเรามีเงินฝากของลูกค้าเกือบ 3 พันล้านดอลลาร์ หากเกิดอะไรขึ้นกับบิทคับ ไทยอาจเผชิญความเสี่ยงเชิงเศรษฐกิจได้"
พร้อมยอมรับว่าการไอพีโอจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สร้างความน่าเชื่อถือควบคู่ไปกับการระดมทุน "เรากำลังกลายเป็นบริษัทมหาชน ดังนั้นทุกคนจำเป็นต้องร่วมเป็นเจ้าของโครงสร้างพื้นฐานนี้ด้วยกัน"
เมื่อกลางปี 2023 นักวิเคราะห์ประเมินว่า ส่วนแบ่งการตลาดของบิทคับในประเทศไทยอยู่ที่ 75% แม้จะมีไบแนนซ์ซึ่งเป็นผู้นำระดับโลก เข้ามาในเดือนพ.ย. ทว่าท๊อปยังคงยืนยันว่า บิทคับครองส่วนแบ่งใน "ปริมาณการซื้อขายที่แท้จริง" หรือการซื้อขายที่ถูกต้องตามกฎหมายที่ 95%
"ลูกค้ามักต้องการผลิตภัณฑ์ที่ถูกกว่า ดีกว่า เร็วกว่า แต่ในด้านการเงิน เรายังมีปัจจัยที่สี่คือ ความไว้วางใจ" จิรายุส กล่าว พร้อมเสริมว่า "เราเลือกกลยุทธ์ที่ถูกต้องตั้งแต่วันแรก เราไม่ได้ขยายตัวเร็วเท่าไรนัก แต่หลายคนที่เข้ามาในตลาดพร้อมกันแล้วเผชิญข้อผิดพลาด ก็ออกไปจากตลาดจำนวนมากแล้ว"
จิรายุส เล่าให้ฟังว่า หุ้นของบิทคับจะกลายเป็นหุ้นตัวแทนสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย (Proxy Stock for Thailand's Digital Economy) ซึ่งแตกต่างจากอุตสาหกรรมเกษตรกรรม และการผลิตซึ่งเป็นสินค้าหลักของประเทศ
"ประเทศไทยติดอยู่กับ กับดักรายได้ปานกลาง เนื่องจากการพึ่งพาการค้าขายสินค้าแบบเดิม เรา [บิทคับ] จึงมีหน้าที่สร้างรายได้ประเภทใหม่ให้กับประเทศ โดยเป็นตัวแทนของบริการดิจิทัล และการค้าสีเขียว" เขากล่าว
ขณะที่ฝั่งกองทุนร่วมทุนของบิทคับจะยังคงลงทุนในสตาร์ตอัปของไทยต่อไป ขณะที่ธุรกิจแพลตฟอร์มซื้อขายแลกเปลี่ยนจะขยายกิจการไปต่างประเทศ "ผู้ที่ประสบความสำเร็จแล้วจะต้องเป็นผู้เสียสละเป็นผู้ให้ โดยการลงทุนในสตาร์ตอัปใหม่ๆ เพื่อสร้างระบบนิเวศสตาร์ตอัปขึ้นมาในอนาคต"
ด้านบทวิเคราะห์ของนิกเคอิ เผยว่า ประเทศไทยมียูนิคอร์นซึ่งเป็นสตาร์ตอัปที่มีมูลค่าประเมินขั้นต่ำ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพียงแค่ 3 บริษัทเท่านั้น ซึ่งตามหลังสิงคโปร์ และอินโดนีเซียอย่างมาก โดยบิทคับเคยมีมูลค่าประเมินอยู่ที่ 3.5 หมื่นล้านบาท (1 พันล้านดอลลาร์) ในช่วงเวลาที่อยู่ระหว่างการเจรจาการเข้าซื้อกิจการโดยธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ซึ่งเป็นธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของไทย แต่ดีลนี้ล่มในปี 2022 เมื่อราคามูลค่าของสกุลเงินดิจิทัลร่วงลง เผยให้เห็นปัญหาด้านสภาพคล่อง และธรรมาภิบาลทั่วทั้งอุตสาหกรรม และนำไปสู่การตรวจสอบโดยหน่วยงานกำกับดูแล
เขาเสริมว่า ดีลนี้มีจุดประสงค์เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับบิทคับสำหรับการขยายตัวในภูมิภาค แต่ไม่ได้ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานหรือแผนการไอพีโอของเรา
ทั้งนี้ บิทคับรายงานรายได้ล่าสุดที่ 2.8 พันล้านบาทในปี 2022 ลดลง 48% จากปีก่อนหน้า ท่ามกลางภาวะ "Crypto Winter" แต่บริษัทมีกำไรสุทธิ 342 ล้านบาท เนื่องจากสภาวะดังกล่าวส่งผลกระทบต่อซิปเม็กซ์ (Zipmex) คู่แข่งที่ใกล้เคียงที่สุดทำให้บิทคับมีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้น
"เราบริหารบริษัทด้วยกำไรจากเงินสดมาเป็นเวลา 4 ปีแล้ว เราไม่เหมือนกับสตาร์ตอัปอื่นๆ เราไม่อยากบริหารบริษัทด้วยการขาดทุน"
เขายังวิจารณ์แนวคิด "รวดเร็วเข้าไว้ พังค่อยว่ากัน" ที่มีอยู่ในวงการสตาร์ตอัป ซึ่งเป็นแนวคิดที่ทำให้ผู้นำระดับโลกอย่างไบแนนซ์และเอฟทีเอ็กซ์ (FTX) มีปัญหากับหน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลก
"ตอนนี้มีช่องโหว่ทางกฎระเบียบเปิดโอกาสให้ผู้เล่นที่ไม่ดีเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์" เขากล่าว "หน่วยงานกำกับดูแลทั้งหมดจำเป็นต้องพูดภาษาเดียวกัน และกำหนดมาตรฐานมาควบคุม"
ตลาดคริปโทฯ พัฒนาขึ้นตั้งแต่ไบแนนซ์บรรลุข้อตกลงยอมความกับหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐซึ่งยังอนุมัติกองทุนซื้อขายหลักทรัพย์ที่เทรดตามราคาบิตคอยน์ หรือ Bitcoin Spot Exchange-traded Funds ในช่วงต้นปีนี้ ส่งสัญญาณไฟเขียวให้นักลงทุนสถาบันเข้ามาลงทุน จึงดันราคาของบิตคอยน์เพิ่มขึ้น 126% จากปีก่อนหน้า
เมื่อถามว่า แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนแบบรวมศูนย์อย่างบิตคอยน์กำลังเผชิญกับภัยคุกคามจากระบบการแลกเปลี่ยนแบบกระจายศูนย์ซึ่งการทําธุรกรรมเกิดขึ้นโดยตรงระหว่างผู้ค้าหรือไม่ เขากล่าวว่า การแลกเปลี่ยนแบบกระจายศูนย์กำลัง "เติบโตเร็วขึ้นในขณะนี้เมื่อเทียบกับการแลกเปลี่ยนแบบรวมศูนย์ เรากําลังพูดถึงเงินก้อนโตที่มาจากนักลงทุนสถาบันที่เข้ามาในตลาด"
เขาเสริมว่า "เรากําลังพูดถึงเงินก้อนโตในตอนนี้ ไม่ใช่แค่เงินจากรายย่อยแต่ก่อนแล้ว”
อ้างอิง: Nikkei Asia
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์