นักเศรษฐศาสตร์ ห่วงศก.ทรุด แนะ ครม.ชุดใหม่ แก้ความเดือดร้อนปชช.เร่งด่วน

นักเศรษฐศาสตร์ ห่วงศก.ทรุด แนะ ครม.ชุดใหม่ แก้ความเดือดร้อนปชช.เร่งด่วน

“ซีไอเอ็มบีไทย” แนะงานเร่งด่วนไตรมาส 2 อัดงบประคองผู้เดือดร้อนจากเศรษฐกิจซบ ก่อนแจกดิจิทัลวอลเล็ต “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ชี้เรียกเชื่อมั่นต่างชาติ “ไพบูลย์” มองเป็นเรื่องดีชี้โจทย์เศรษฐกิจ หวังเร่งสร้างมูลค่าเพิ่ม บจ.ฟื้นตลาดหุ้นไทย

การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลังมีประกาศแต่งตั้งออกมาเมื่อวันที่ 28 เม.ย.2567 โดยมีตำแหน่งสำคัญที่จับตา คือ นายพิชัย ชุณหวชิร เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่จะมาช่วยงานด้านเศรษฐกิจ รวมถึงประเด็นที่หลายฝ่ายติดตาม คือ การเข้ามาช่วยผสาน “รอยร้าว” ระหว่างรัฐบาล และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ทุเลาลงได้ 

ในมุมของ “นักเศรษฐศาสตร์” มองว่า การปรับ ครม.ครั้งนี้ถือว่าหนุนมุมมองเชิงบวก และหนุนด้านความเชื่อมั่นในสายตาของต่างชาติได้มากขึ้นจากความชัดเจนของภาครัฐ และ ครม.ชุดใหม่ยังมาพร้อม “อาวุธ” คืองบประมาณภาครัฐปี 2567 ที่พร้อมใช้ทันทีที่จะเข้ามาช่วยให้โครงการต่างๆ เดินหน้าได้เต็มกำลังหลังจากนี้

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า การปรับ ครม.ครั้งนี้ถือเป็นเรื่องที่ดี โดยเฉพาะตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ทำให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้นและมีเวลาดำเนินโครงการได้เต็มที่ โดยเฉพาะโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่มีความชัดเจนขึ้น รวมถึงการสานต่อเรื่องการปรับขึ้นค่าแรง และการเดินหน้าโครงสร้างพื้นฐานตามนโยบายพรรคเพื่อไทยให้ถูกสานต่อได้ต่อเนื่อง

ดังนั้นการปรับ ครม.ครั้งนี้ โดยรวมถือเป็นจังหวะที่ดีในช่วงที่เพิ่งผ่านงบประมาณปี 2567 ทำให้มีงบประมาณที่พร้อมใช้จ่ายได้ทันที เหล่านี้ยิ่งช่วยเสริมความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลให้เพิ่มขึ้น

“การปรับ ครม.ครั้งนี้ โดยรวมจะช่วยเสริมความเชื่อมั่นให้มีมากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ นโยบายเศรษฐกิจต่างๆ ยังไม่สามารถทำได้มากนัก เพราะขาดงบประมาณ แม้จะใช้ความพยายาม หรือขอความร่วมมือเอกชน แต่หลังจากปรับครม.ใหม่ ทุกอย่างจะคล่องตัวมากขึ้น เหล่านี้สร้างความเชื่อมั่นได้มาก”

แนะอัดงบประคอง ‘คนเดือดร้อน’ ทันที

สำหรับโครงการที่มองว่าภาครัฐควรเดินหน้า คือการช่วยประคับประคองเศรษฐกิจที่ควรทำอย่างเร่งด่วน เพราะหากดูจากภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรก ที่จะออกมาเร็วๆนี้ ซีไอเอ็มบีไทย คาดว่าจะขยายตัวต่ำกว่า1% หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน 

ดังนั้นสิ่งที่คาดหวังคือ ภาครัฐควรแบ่งงบบางส่วนออกมาช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง เอสเอ็มอี และผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้มีเม็ดเงินเข้ามาช่วยลดค่าครองชีพเป็นการเร่งด่วน ก่อนที่มาตรการ “ดิจิทัลวอลเล็ต” จะเข้ามามีส่วนกระตุ้นในปลายปี เพราะมองว่าเม็ดเงินดังกล่าวมีความจำเป็นในการช่วยประคองเศรษฐกิจในช่วงที่ประชาชนได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วนในไตรมาส2ปีนี้

“สิ่งที่เราอยากเห็นคือ เรามองว่า เศรษฐกิจไทยเวลานี้ ต้องการทั้ง การประคอง และกระตุ้น วันนี้ เศรษฐกิจไทยอ่อนแอ ประชาชนกลุ่มหนึ่งได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า และรอไม่ไหว ดังนั้นอยากเห็นงบประมาณบางส่วนที่ออกมาเร่งด่วน และทันที เพื่อช่วยประคองระยะสั้น ไม่ว่าจะเป็นการแจกเงิน สร้างงาน หรือบรรเทาผลกระทบในรูปแบบต่างๆ ที่เป็นมาตรการระยะสั้น เน้นประคองให้คนฟื้นตัว และทำต่อเนื่องด้วยมาตรการระยะกลาง คือดิจิทัลวอลเล็ต เราไม่อยากเห็นการเอาเงินมารวมไว้ก้อนเดียวทั้งหมดแต่เราอยากเห็นการซอยงบ มาช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน”

ปรับ ครม.หนุนความเชื่อมั่น ‘ต่างชาติ’

นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า มองการปรับครม.ใหม่ครั้งนี้ น่าจะหนุนในด้านความเชื่อมั่นให้มากขึ้น โดยเฉพาะในมุมของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะตำแหน่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่จะสามารถทำงานได้เต็มที่มากขึ้น เพราะภาคการคลัง เป็นด้านที่ต้องใช้ทั้งรายละเอียด เวลาอย่างมาก เหล่านี้อาจช่วยหนุนให้โครงการต่างๆสามารถเดินหน้าได้เร็วขึ้น ชัดเจนมากขึ้น

อย่างไรก็ตามมองว่า สิ่งที่ภาครัฐต้องเร่งทำ หลังจากนี้ คือการให้ความชัดเจนเกี่ยวกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ภายใต้ความเห็นไม่ตรงกันระหว่างภาครัฐ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อให้โครงการต่างๆ สามารถชัดเจน และเดินหน้าต่อไปได้ ที่จะมีผลต่อความเชื่อมั่นให้มากขึ้น

ถัดมาคืออยากเห็น การสนับสนุนและเอื้อให้ต่างชาติและนักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาว แต่สิ่งที่จำเป็นคือ การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีมากขึ้น ให้ใกล้เคียงกับภูมิภาค เพื่อดึงดูดให้นักลงทุนตัดสินใจเข้ามาลงทุนไทยมากขึ้น 

“สิ่งที่อยากเห็นภาครัฐเข้ามาเร่ง คือการสนับสนุนการลงทุนในไทยมากขึ้น เพราะเราขาดมานาน แต่การเร่งพวกนี้ได้ ต้องให้สิทธิประโยชน์มากขึ้น เพื่อดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาได้มากขึ้น และหลายอย่างเราต้องต่ำกว่าภูมิภาค ดึงจูงใจเขาเข้ามาได้" 

อีกมุม คือ ควรแก้เรื่องกฎหมายซับซ้อน และอุปสรรคต่างๆ ในการเข้ามาทำธุรกิจในไทยที่ต้องเอื้อมากขึ้น ต้องทำสิ่งเหล่านี้ให้ง่าย ถึงจะเป็นการเปิดประเทศจริงๆ เป็นสิ่งที่มองว่าต้องเร่งทำให้เกิดขึ้น ดังนั้นต้องสนับสนุนทั้งในด้านราคาและคุณภาพ แม้เราจะเก็บภาษีได้น้อยลง แต่หากคนเข้ามาลงทุนมากจะได้มากกว่าเสียไปแน่นอน

หวังเร่งสร้างมูลค่าเพิ่ม บจ.ฟื้น ‘ตลาดหุ้นไทย’

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ และนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) กล่าวว่า การที่มีบุคคลเฉพาะเข้ามาทำหน้าที่หัวหน้าทีมเศรษฐกิจและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แทนนายกรัฐมนตรี เป็นเรื่องดีช่วยแบ่งเบาภาระนายกฯ และโฟกัสการทำนโยบายได้อย่างเต็มที่มากขึ้น 

ทั้งนี้ นายพิชัย มีประสบการณ์ทำงานในทีมเศรษฐกิจ ขับเคลื่อนประเทศไทยมาก่อนอยู่แล้ว และช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ได้ช่วยขับเคลื่อนตลาดทุนไทยอีกด้วยคงต้องรอดูผลงานต่อไป

สำหรับโจทย์ใหญ่เศรษฐกิจไทย มองว่า ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ต้องเร่งขับเคลื่อน 2 เรื่อง คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น และมาตรการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาวที่ต้องทำพร้อมกัน

โดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น อยากให้มุ่งเน้นการบริโภคช่วง 6 เดือนที่รอดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งตามแผนจะออกมาช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ อาทิ มาตรการกระตุ้นการบริโภคและมาตรการลดหย่อนภาษี สำหรับกลุ่มคนที่ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ดิจิทัลวอลเล็ต

รวมถึงการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐทั้งงบปี 2567 และปี 2568 อย่างคุ้มค่าที่สุด สอดคล้องกับแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลคงจะมีเตรียมไว้อยู่แล้ว เพื่อผลักดันให้จีดีพีกลับมาเติบโตที่ระดับ 4%

“หากดิจิทัลวอลเล็ตเป็นไปตามแผนไตรมาส 4 แต่หากเกิดความล่าช้าจะทำให้ช่วงไตรมาส 2 และไตรมาส 3 จะเป็นสุญญากาศหรือไม่หากยังไม่มีเม็ดเงินเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะปัจจุบันการบริโภคเริ่มชะลอตัว หากมีแผนสำรองเข้ามาช่วยฟื้นการบริโภคช่วงรอดิจิทัลวอลเล็ต”

หวังทีมเศรษฐกิจเร่งดึงการลงทุน

ขณะที่การสร้างความเชื่อมั่นให้เศรษฐกิจไทยระยะยาวเป็นเรื่องการแก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะปัญหาการลงทุนอยู่ระดับต่ำ และต่ำกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค ซึ่งคาดหวังว่าทีมเศรษฐกิจชุดใหม่จะสานต่อนโยบายการลงทุนของนายกฯ ที่เป็นเซลส์แมน ดึงเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI)

“ปัจจุบันการลงทุนไทยอยู่ที่ 22-23% ต่อจีดีพี ต่ำกว่าในอดีต ซึ่งช่วงต้มยำกุ้งอยู่ที่ 35-46% ต่อจีดีพี และต่ำกว่าการลงทุนของเวียดนาม เพิ่มมาอยู่ที่ 30% ต่อจีดีพี โดยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไม่ใช่แค่ระยะสั้น แต่ต้องมองระยะยาวที่สานต่อการลงทุนอย่างจริงจัง”

ตลาดทุนไทย โจทย์ใหญ่ ‘น่าห่วง’

นายไพบูลย์ กล่าวว่า ตลาดทุนไทยมีโจทย์ใหญ่น่าเป็นห่วง คือ ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) และการนำบริษัทใหม่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพราะตลาดทุนไทย “ย่ำอยู่ที่เดิม” เท่ากับ 10 ปีก่อน แม้บางธุรกิจมีกำไรขึ้น แต่บางธุรกิจกำไรลดลง โดยธุรกิจ Old Economy กำไรลดลง แต่ธุรกิจ New Economy ที่เป็นจุดแข็งของประเทศมีกำไรเพิ่มขึ้นมาชดเชยกำไร บจ.ภาพรวม 

ทั้งนี้ปัจจุบัน EPS ของ บจ.ยังเท่ากับรอบ 10 ปีก่อนทำให้ดัชนีของตลาดหุ้นไทย ปรับตัวขึ้นไม่ได้ดังนั้น อยากเห็นทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ เข้ามาทำให้ ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสกลับมา Perform ได้ดีกว่าตลาดอื่น ด้วยวิธีการที่สอดคล้องกับตลาดหุ้นไทยเช่นการเพิ่มมูลค่าบจ.ไทย

“อย่างเช่น ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ที่ประสบความสำเร็จ ลุกขึ้นมาทำเพิ่มเติมทางด้านกฎหมายการกำกับดูแลบจ. และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ บจ. จนปัจจุบัน สามารถทำให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นกลับมาปรับตัวขึ้นสูงสุดเท่ากับจุดสูงสุดในอดีตเมื่อ 40 ปีก่อนได้”

“ปานปรีย์” ลาออกกระทบทีมเศรษฐกิจช่วงสั้น

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า กรณีที่นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ทำหนังสือถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ขอลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศตั้งแต่วันที่ 28 เม.ย.2567 เห็นว่า กระทรวงการต่างประเทศเป็นส่วนหนึ่งของทีมเศรษฐกิจโดยเฉพาะต่างประเทศ ซึ่งนายปานปรีย์ ก็ได้อธิบายในจดหมายลาออกว่าได้ทำอะไรบ้าง ก็คงจะกระทบในช่วงสั้นบ้าง

“การลาออกดังกล่าว ถือว่าสร้างความตกใจและประหลาดใจมาก ดังนั้นรัฐบาลอาจจะมีการเจรจาโดยหาคนกลางเพื่อปรับความเข้าใจสอบถามถึงความไม่สบายใจหรืออาจจะต้องหาคนมาแทน ดังนั้น จะต้องดูว่าใครจะมาทำหน้าที่แทน เป็นคนที่มีความสามารถมากน้อยแค่ไหน และมีความเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร” นายเกรียงไกร กล่าว