6 แบงก์ ‘ลดดอกเบี้ย’ อุ้มลูกหนี้เปราะบาง 7.4 แสนบัญชี 4 แสนล้าน
“6 ธนาคารพาณิชย์” สนองนโยบายรัฐ เดินหน้า “ลดดอกเบี้ย 0.25%” อุ้ม “กลุ่มเปราะบาง-เอสเอ็มอี” หวังช่วยลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ “ไม่ฟื้น” เปิดยอดรวมลูกหนี้กลุ่มเปราะบางเข้าข่ายได้รับการช่วยเหลือ กว่า 7.4 แสนบัญชี คิดเป็นวงเงินรวมเกือบ “4 แสนล้าน”
หลังจาก “สมาคมธนาคารไทย” ประกาศผลประชุมร่วมกับธนาคารสมาชิก โดยประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้รายย่อย หรือ MRR ลง 0.25% เมื่อวันที่ 25 เม.ย. ที่ผ่านมา ล่าสุด “ธนาคารพาณิชย์” (แบงก์) ทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่อเนื่อง ปัจจุบันมีธนาคารพาณิชย์ 6 แห่ง ที่ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ลง 0.25%
อาทิ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารกรุงไทย (KTB) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) และธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) เพื่อสนองนโยบายภาครัฐ ที่มีจุดมุ่งหมายในการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง หลัง “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี เรียกผู้บริหารของธนาคารทั้ง 4 แห่ง เข้าพบเพื่อหวังเห็นแบงก์ลดดอกเบี้ยช่วยลูกหนี้ ท่ามกลางภาวะที่เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัว จึงนำมาสู่การเรียกประชุมฉุกเฉินของสมาคมธนาคารไทยอย่างเป็นทางการ
โดยหากดูเฉพาะ 6 ธนาคารพาณิชย์ที่มีการเปิดเผย “ลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง” ได้มีโอกาสรับความช่วยเหลือจากการลดดอกเบี้ยครั้งนี้ ทั้งลูกหนี้บุคคลรายย่อย และลูกหนี้เอสเอ็มอี มีบัญชีที่เข้าข่ายอยู่ราว 7.4 แสนบัญชี หรือคิดเป็นวงเงินสินเชื่อรวมเกือบ 4 แสนล้านบาท ที่จะได้รับการช่วยเหลือ และได้รับการลดภาระทางการเงินครั้งนี้
หลักๆ คือกลุ่มลูกหนี้รายย่อยที่มีเงินเดือน หรือรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อเดือน ส่วนเอ็มเอ็มอีจะต้องมีรายได้ไม่เกิน 2 ล้านบาทต่อปี หรือยอดขายต่อเดือนไม่เกิน 2 แสนบาท
ธนาคารแรก ที่ออกมา “นำร่อง” ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง คือ ธนาคารกรุงเทพ ที่ออกมาประกาศตอบรับมาตรการของภาครัฐ ลดภาระทางการเงินของลูกค้าโดยการประกาศปรับลด MRR ลง 0.25% มีผล 29 เม.ย. 67
โดยธนาคาร ระบุว่า การปรับลด MRR 0.25 % ในครั้งนี้ เป็นการเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของธนาคารที่จะช่วยเหลือลูกค้าผู้ประกอบการในระหว่างที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ อีกทั้ง ยังเป็นการช่วยกระตุ้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยภาพรวมในช่วงที่มีความเปราะบางทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ
ถัดมา ธนาคารกรุงไทย ที่ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง ทั้ง MRR , MLR และ MOR 0.25% ให้เฉพาะลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ทั้งลูกค้าบุคคล และ SME เพื่อลดภาระทางการเงิน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค.-15 พ.ย. นี้
โดยลูกค้ากลุ่มเปราะบางที่จะได้รับความช่วยเหลือ มี 3 กลุ่มด้วยกัน กลุ่มแรก ลูกค้าสินเชื่อบุคคลรายย่อยที่ยังอยู่ในมาตรการความช่วยเหลือของธนาคารฯ ทั้งสินเชื่อบ้าน และสินเชื่อส่วนบุคคล 2. ลูกค้าสินเชื่อบ้านที่มีวงเงินไม่เกิน 2 ล้านบาท และ 3. ลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการ SME รายย่อยที่มีรายได้กิจการต่อเดือนไม่เกิน 2 ล้านบาท และมีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 10 ล้านบาท
ทั้งนี้ ธนาคารคาดว่าการลดดอกเบี้ยครั้งนี้ช่วยลดภาระทางการเงินให้กับลูกค้าได้มากกว่า 3 แสนบัญชี คิดเป็นวงเงินสินเชื่อรวมมากกว่า 2 แสนล้านบาท
ถัดมาคือ กสิกรไทย ที่ประกาศลดดอกเบี้ยช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มเปราะบาง 0.25% เป็นระยะเวลา 6 เดือน ในช่วงที่เศรษฐกิจยังฟื้น โดยการลดดอกเบี้ยจะมีผลตั้งแต่ 16 พ.ค. 67 เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางให้สามารถฟื้นตัวได้ดีขึ้น
ธนาคารคาดว่า จะมีลูกค้าที่ได้รับความช่วยเหลือทั้งลูกค้าบุคคลและ SME มีจำนวนประมาณ 200,000 ราย วงเงินสินเชื่อรวมประมาณ 82,000 ล้านบาท
กลุ่มลูกค้าที่จะได้รับการช่วยเหลือ เช่น ลูกค้าบุคคลที่ใช้ผลิตภัณฑ์ “สินเชื่อบ้าน” หรือ “สินเชื่อบ้านช่วยได้” ที่มีวงเงินอนุมัติรวมกับธนาคารกสิกรไทย ไม่เกิน 2,000,000 บาท และมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อเดือน และลูกค้า SME ที่มียอดค้างชำระเงินกู้กับธนาคารกสิกรไทย และวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนกับธนาคารกสิกรไทย รวมกันแล้วไม่เกิน 2,000,000 บาท และมียอดขายไม่เกิน 200,000 บาทต่อเดือน
ตามมาด้วย ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี ที่ประกาศพร้อมช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มเปราะบาง จากปัญหาสภาพคล่องทางการเงินและภาระหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น โดยการลดดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี สำหรับผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่อ้างอิงอัตราดอกเบี้ย MRR, MLR และ MOR โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค. 2567 - 15 พ.ย. 2567 เป็นระยะเวลา 6 เดือน
โดยลูกค้ากลุ่มเปราะบางที่จะได้รับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้แก่ 1. ลูกค้าสินเชื่อบ้าน ที่มีรายได้รวมเฉลี่ยต่อเดือน ไม่เกิน 30,000 บาท และมีวงเงินอนุมัติไม่เกิน 2 ล้านบาท และ 2. ลูกค้าสินเชื่อเอสเอ็มอี ที่มีรายได้ในปี พ.ศ. 2565 ไม่เกิน 30 ล้านบาท และมีวงเงินอนุมัติไม่เกิน 5 ล้านบาท
ตามมาติดๆ คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 0.25% เพื่อช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ทั้งลูกค้าบุคคล และผู้ประกอบการ SME รายย่อย โดยมีผลตั้งแต่ 16 พ.ค. เป็นต้นไป
การลดดอกเบี้ยครั้งนี้ จะลดทั้งเงินกู้ (Loan) ที่อ้างอิงอัตราดอกเบี้ยลอยตัว MRR และ MLR สำหรับลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ได้แก่
1. ลูกค้าบุคคล สินเชื่อบ้าน และ My Home My Cash ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 2 ล้านบาท 2. ลูกค้าผู้ประกอบการ SME รายย่อย สินเชื่อธุรกิจ ประเภทเงินกู้ระยะยาว (Term Loan) ที่มีวงเงินสินเชื่อรวมไม่เกิน 2 ล้านบาท (โดยพิจารณาจากยอดค้างชำระเงินกู้ระยะยาว และวงเงินสินเชื่อหมุนเวียน)โดยลูกค้าต้องเป็นบัญชีสถานะปกติ ไม่มีการค้างชำระ
จากมาตรการดังกล่าว ธนาคารสามารถช่วยลดภาระทางการเงินให้กับลูกค้าได้มากกว่า 240,000 บัญชี คิดเป็นยอดสินเชื่อรวมประมาณ 110,000 ล้านบาท
เช่นเดียวกับ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ที่ตอบรับแนวทางการช่วยเหลือเพิ่มเติมสำหรับลูกค้ากลุ่มเปราะบาง โดยการลดดอกเบี้ยที่อ้างอิงอัตราดอกเบี้ยลอยตัว MRR, MLR และ MOR ลง 0.25% เป็นระยะเวลานาน 6 เดือน
โดยลูกค้าที่จะได้รับความช่วยเหลือครั้งนี้ อาทิ ลูกค้าสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นลูกค้าปัจจุบันที่มีวงเงินอนุมัติรวมไม่เกิน 2 ล้านบาท และมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อเดือน และลูกค้าเอสเอ็มอี ที่มีวงเงินสินเชื่อธุรกิจรวมไม่เกิน 2 ล้านบาท และมียอดขายไม่เกิน 200,000 บาทต่อเดือน